เรื่อง : อธิราชย์ นันขันตี
ภาพ : เจษฎาภรณ์ บัวสาย
พิธีถวายข้าวพีชภาค
และบุญเสียค่าหัวข้าโอกาส
พระธาตุพนม
องค์พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม นับเป็นสักการะสถานที่โดดเด่นเป็นศรีสง่า แห่งภาคอีสาน ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศต่างมุ่งหมายเดินทางมานมัสการองค์พระธาตุ ชมความงดงามให้เห็นด้วยตาตนเอง ได้ยกมือพนมไหว้หรือก้มกราบลงตรงพระมหาสถูปด้วยจิต ที่ถึงพร้อมด้วยสมาธิและปัญญา และด้วยศรัทธาเลื่อมใสจากจิตใจจริงแท้ นั้นก็เป็นความสุขยิ่งแล้ว และการเดินทางมานมัสการองค์พระธาตุพนมจนถึงที่ตั้งนี้ หากจะเดินทางมาในช่วงงานนมัสการองค์พระธาตุพนมตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นระยะเวลายาวนานหลายวัน ก็จะยิ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้ชื่นชมองค์พระธาตุได้อย่างลึกซึ้งกว่าทุกคราว เพราะในช่วงวันอันสำคัญนี้ จะมีสิ่งดีๆ ทยอยเกิดขึ้น ณ องค์พระธาตุนี้หลากหลายรายการ อาทิ การเปิดให้เข้าชมภายในองค์พระธาตุ ซึ่งมากมายด้วยสิ่งที่มีคุณค่าเลิศล้ำ การรำบูชาบวงสรวงองค์พระธาตุพนม ขบวนอัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำโขง และขบวนแห่เครื่องสักการะบูชาองค์พระธาตุพนม ที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดนครพนมพร้อมใจกันจัดขึ้นอย่างงดงามตระการตา เป็นต้น
และในโอกาสเดียวกันนี้ ก็จะมีพิธีถวายข้าวพีชภาค ของบรรดาข้าโอกาสขององค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานนับร้อยๆ ปี ที่หาชมได้ยากยิ่ง เพราะมีที่นี่เพียงแห่งเดียว เป็นที่น่ายินดีของชาวนครพนมที่พิธีกรรมนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทยไปแล้วเรียบร้อย
จารึกโบราณ ที่ถูกค้นพบ ณ ศาสนสถานหลากหลายในประเทศไทย ทั้งจารึกในศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา เรื่องหนึ่งที่จะได้รับการจารึกไว้เป็นหลักก็คือ เรื่องการอุทิศถวายผู้คน โดยผู้มีอำนาจปกครองเป็นท้าวพญามหากษัตริย์ มอบหมายหน้าที่ให้ผู้คนปฏิบัติบูชาดูแลรักษาศาสนสถานไปชั่วลูกหลาน และอุทิศสิ่งของจำเป็นและข้าวปลาอาหารแก่ศาสนสถานนั้นๆ เพื่อให้ผู้คนดังกล่าว มารวมทั้งพระหรือพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรมสามารถดำรงชีพดำเนินกิจกรรมทางศาสนาอยู่ ณ ที่นั้นให้ยั่งยืนต่อไป
และพิธีถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัว ก็เป็นธรรมเนียมโบราณของชุมชน ซึ่งเป็นข้าโอกาสวัดพระธาตุพนม ที่ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีต่อเนื่องมายาวนาน นักวิชาการไทยจำนวนหนึ่งได้ทำการศึกษาเรื่องราวของ ข้าโอกาส นี้ และได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกันดังนี้ คือ มาลินี กลางประพันธ์ สรุปว่า พิธีข้าโอกาสพระธาตุพนมถวายข้าวพีชภาคฯ เป็นพิธีกรรมเฉพาะกลุ่ม คำว่า ข้าโอกาสพระธาตุพนม หมายถึง กลุ่มคนที่สืบทอดจากบรรพบุรุษผู้ซึ่งได้รับการอุทิศจากกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง โดยมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้รับใช้พระสงฆ์และดูแลพระธาตุพนม ตามคติความเชื่อเรื่องพระธาตุ และ ธวัช ปุณโณทก ได้ทำการศึกษาไว้ว่า คนกลุ่มนี้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดไปโดยตลอด แม้ว่าสมรสกันมีลูกหลานออกมา บุตรธิดาก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดเช่นเดิม และในขณะเดียวกันคนกลุ่มที่เป็นข้าโอกาสนี้ก็ขาดจากอำนาจของรัฐ นั้นคือ รัฐ จะเกณฑ์แรงงานมารับใช้รัฐหรือเจ้านายไม่ได้ และสุทธิดา ตันเลิศ สรุป เพิ่มเติมว่า ชาวลาวเรียกผู้นำข้าโอกาสว่า บั้งจุ้ม ทำหน้าที่เป็น ผู้ถือกุญแจพระธาตุพนม อาศัยที่บ้านท่าล้งและบ้านท่าเทิง ใกล้ชายแดนเวียดนาม ส่วนพระธรรมราชานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม เพิ่มเติมในส่วนของเมืองมรุกขนคร ว่า ตามตำนานอุรังคธาตุ ได้กล่าวถึงการถวายข้าโอกาสของสมัยพญาสุมิตร ธรรมวงศา ผู้ครองเมืองมรุกขนคร ได้ทรงเลื่อมใสในองค์พระธาตุพนม ได้แต่งตั้งข้าราชการ จำนวน ๓,๐๐๐ คน เป็นข้าโอกาสให้ทำงานรับใช้องค์พระธาตุนี้สืบไป เป็นต้น
พ.ศ. ๒๐๘๒ ในรัชสมัยพระเจ้าโพธิสารราช กษัตริย์อาณาจักรล้านช้าง หลวงพระบาง ได้เสด็จลงมาบูรณะวัดพระธาตุพนมที่เศร้าหมองให้สวยงาม สร้างวิหารหลวงมุงหลังคาด้วยตะกั่วทั้งหลัง สร้างหอพระแก้วเพิ่มเติม ก่อนเสด็จกลับ ได้ทรงจัดระเบียบข้าโอกาส เนื่องจากข้าโอกาสในรุ่นก่อนเสียชีวิตหรือมีการอพยพไปอยู่ถิ่นอื่น ทำให้ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติต่อองค์พระธาตุพนม จึงได้รวบรวมเพิ่มเติมให้ครบ ๓,๐๐๐ คน ให้มีหน้าที่อุปัฏฐากองค์พระธาตุพนม เช่นดังเดิม เขตที่อยู่อาศัยของชุมชนข้าโอกาส มีอาณาเขต ทิศตะวันออก ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตามลำเซบั้งไฟ ประเทศลาว บ้านสะดือ บ้านนาวาง บ้านตาลเทิง บ้านผักเผื้อ บ้านดงใน บ้านดงนอก ทิศตะวันตก ถึงเขตอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ทิศเหนือ เขตห้วยบังฮวก ตำบลดอนนาหงส์ อำเภอธาตุพนม ทิศใต้ ถึงเขตอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร เพิ่มเติมโดย พระธรรมราชานุวัตร นอกจากนั้นยังพบหลักฐานจารึกในบริเวณวัดพระธาตุพนม กล่าวถึงการถวายข้าโอกาสของพระเจ้านครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตรบูร เจ้าเมืองศรีโคตรบูร ได้มาปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ปรากฏข้อความใน จารึกพระธาตุพนม ๒ ดังนี้
"…สักราช ๙๗๖ ปีกาบยี่ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ วันที่ ๕ ... พระเป็นเจ้าพระยานครหลวงพิชิตราชธานี....เป็นประธานแก่เจ้าพระยา เสนามนตรีทั้งหลาย มีประสาทศรัทธา... จึงมาเลิกยกแปงตีนพระมหาธาตุเจ้า และถือชะทายคาดธาตุทั้ง ๔ ด้าน กับทั้งหอข้าวพระและแท่นบูชา...ประการหนึ่ง ข้าโอกาสหยาดทานเขตแดนดินดินไฮ่นา น้ำ หนอง กองปลา ที่ใด อันแต่พระยาสามินทรราชให้ไว้เป็นอุปการะแก่พระมหาธาตุพนมเจ้าดังเก่า ไผอย่าถกอย่าถอน ผิผู้ใดโลภะตัญหามาก หากยังมาถกมาถอนดินดอนไฮ่นาบ้านเมือง น้ำหนองกองปลา ฝูงนั้นออก อปายะคมะนียะให้เถิ่นแก่งมัน...”
ครั้นเมื่ออีสานตกอยู่ใต้การปกครองของไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒ เป็นต้นมาประชาชนที่เป็นข้าโอกาสก็ยังทำหน้าที่รักษาดูแลพระธาตุพนมเหมือนเดิม พระมหากษัตริย์ไทยและเจ้าเมืองใกล้เคียงได้แก่ เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม ก็มิได้เกณฑ์ประชาชนเหล่านั้นมาเป็นพลเมืองของตนเพราะเชื่อว่าเป็นสมบัติของพระธาตุพนมแล้ว หากเจ้าเมืองใดกล้าเกณฑ์ไพร่พลข้าโอกาสเหล่านั้น เทพประจำพระธาตุพนมอาจจะทำให้เจ้าเมืองตายได้โดยฉับพลัน ฉะนั้นพื้นที่อำเภอธาตุพนมและบริเวณใกล้เคียงจึงไม่มีเจ้าเมืองปกครอง
ในปัจจุบัน กลุ่มข้าโอกาสจะประกอบพิธีกรรมถวายพีชภาคและเสียค่าหัวทุกปี ในบุญเดือน ๓ ถ้าหากใครไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้จะฝากให้กับญาติพี่น้อง ต้องมาเสียค่าหัวทุกปีไม่ให้ขาด ซึ่งจะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง สงบสุข ร่มเย็นแก่บรรดาข้าโอกาสและครอบครัวทั้งหลายนั้นเอง
พิธีถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัว
พิธีถวายข้าวพีชภาค ถือเป็นพิธีสำคัญที่ข้าโอกาสทุกคนจะต้องถือปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และเพื่อความเป็นศิริมงคล เป็นประเพณีเฉพาะกลุ่ม ต่อเนื่องมาจากสมัยโบราณ และ ข้าวพีชภาค หมายถึง ผลผลิตทางทางการเกษตรต่างๆ อาทิ ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว มันแกว กล้วย อ้อย พริก มะเขือ และผลผลิตอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยข้าวเป็นผลผลิตที่สำคัญ และถือเป็นอาหารหลักของพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดพระธาตุพนม ส่วนผลผลิตอื่นๆ เป็นองค์ประกอบ
เครื่องประกอบพิธีกรรม ได้แก่ ขันหมากเบ็ง มีลักษณะเป็นพุ่มใส่เครื่องบูชาทำจากใบตอง มีลักษณะคล้ายกรวยสูง ภายในกรวยจะใส่เครื่องบูชา ขัน ๕ ได้แก่ ธูป เทียน หมากพลู ข้าวตอก ดอกไม้ มีการตกแต่งด้วยดอกไม้ต่างๆ อาทิ ดอกดาวเรือง ดอกสามปี ดอกบานไม่รู้โรยฯ จัดทำ ๒ ต้น ถือเป็นตัวแทนของชุมชน มีความหมายว่า เป็นการรวมใจกันของกลุ่มข้าโอกาส เพื่อมาขอขมาและบูชาองค์พระธาตุพนม และวิญญาณของกษัตริย์ที่ร่วมกันสร้างพระธาตุพนม เป็นการแสดงถึงความจงรักภักดี อ่อนน้อม เพื่อให้ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุพนมช่วยคุ้มครอง ปกปักรักษาสมาชิกในครอบครัว สัตว์เลี้ยง และพืชพันธุ์ธัญญาหารให้ปลอดภัยและสุขสมบูรณ์
ข้าวเปลือก ข้าวเป็นอาหารหลักของพระภิกษุสงฆ์ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาจเป็นข้าวเหนียว หรือข้าวจ้าว เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนภายในวัดให้ดำรงคงอยู่และดำเนินชีวิตต่อไปเป็นปกติสุข
ผลไม้ พืชผัก ต่างๆ เป็นสิ่งบริวารของเครื่องถวายพีชภาค ได้แก่ ข้าวโพด มันแกว พริก ต้นหอม มะพร้าว กล้วย อ้อย เป็นผลผลิตจากสวน ไร่ ของกลุ่มข้าโอกาส
ขันธ์ ๕ ประกอบด้วย ดอกไม้ขาว ๕ คู่ และเทียน ๕ คู่ หมายถึง ธาตุขันธ์ของตนเอง
เงินตามศรัทธา เป็นเงินที่บริจาคให้กับทางวัด โดยมีพระภิกษุคอยรับ เรียกว่า "เงินเสียค่าหัว” ต้องชำระ ไม่กำหนดจำนวน แล้วแต่ศรัทธา
ขั้นตอนของพิธีกรรม
การถวายข้าวพีชภาคและเงินเสียค่าหัวของชาวข้าโอกาส ครั้งโบราณกำหนดให้ถวายในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ หลังจากเสร็จงานนมัสการพระธาตุพนมประจำปีแล้ว ต่อมาทางวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร (สมัยพระธรรมปริยัติมุนี เป็นเจ้าอาวาสได้กำหนดให้ชาวข้าโอกาสถวายเงินค่าหัวพร้อมกับถวายข้าวพีชภาคในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓) เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชาวบ้านในปัจจุบันส่วนข้าโอกาสในประเทศลาวทุกวันนี้ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการลาวให้ถวายเงินค่าหัวและข้าวพีชภาคเหมือนสมัยอดีต
การประกอบพิธีถวายข้าวพีชภาค มี ๒ ลักษณะ คือ ประการแรก เป็นการถวายข้าวพีชภาคปกติทั่วไป หลังจากทำไร่ ทำนาเสร็จแล้ว บางหมู่บ้านจะเอาข้าวใหม่มาถวายพระสงฆ์ โดยมีพระสงฆ์ในหมู่บ้านนำพามา ซึ่งไม่ระบุเจาะจงเป็นบุญเดือนสามเท่านั้น เพราะข้าวที่นำมาถวายนั้นจะนำไปประกอบอาหารเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลพระธาตุพนมส่วนประการที่สองจะนำมาถวายในวันแห่พระอุปคุต ในงานบุญเดือนสามทั่วไป
จากการศึกษาของ ทศพล อาจหาญ (๒๕๔๒) และมาลินี กลางประพันธ์ (๒๕๕๕) มีข้อมูลไปในลักษณะเดียวกันว่า ในงานประเพณีนมัสการพระธาตุพนม ข้าโอกาสที่อพยพไปทำกินที่อื่นจะกลับมาทำพิธี เสียข้าหัวและถวายข้าวพีชภาคตามประเพณีของข้าโอกาสตลอดทั้งเดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ จนถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ รวม ๗ วัน ๗ คืน โดยพิธีถวายข้าวพีชภาคจะดำเนินไปหลังพิธีการแห่พระอุปคุต เมื่อพระสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้ว เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ เป็นประธานนำชาวบ้านและชาวข้าโอกาสไปทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากท่าน้ำโขง หน้าด่านศุลกากร อำเภอธาตุพนม แห่มาสถิตอยู่ที่หน้าพระประธาน (ด้านหน้าพระธาตุพนม) ครั้นถึง ๑๐.๓๐ น. เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ เป็นประธานนำชาวบ้านข้าโอกาสทำพิธีถวายเงินค่าหัวและข้าวพีชภาค ที่บริเวณลานพระธาตุพนมชั้นในทั้ง ๔ ด้าน ตามลำดับพิธีกรรม ดังนี้คือ นมัสการพระรัตนตรัย และอัญเชิญเทวดามาร่วมพิธีถวายเงินค่าหัวและข้าวพีชภาค โดยกล่าวคำถวายร่วมกันคือ
"สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ ข้าพเจ้าชาวข้าโอกาสพระธาตุพนมทั้งหลาย ขอน้อมถวายเงินค่าหัว พร้อมด้วยพีชภาค แด่องค์พระธาตุพนมตามเยี่ยงบรรพบุรุษที่พาทำมาทุกๆ ปี ขอองค์พระธาตุพนมจงรับเงินค่าหัวและพีชภาคของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่ออุทิศให้แก่เทพยดาอารักษ์ผู้รักษาองค์พระธาตุพนม ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ บรรพบุรุษทั้งหลาย ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย และเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาละนานเทอญ”
สำหรับชุมชนข้าโอกาสขององค์พระธาตุพนม ได้แก่ ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ดังต่อไปนี้ ชุมชนข้าโอกาส ตำบลพระกลางทุ่ง ตำบลธาตุพนม ตำบลธาตุพนมเหนือ ชุมชนข้าโอกาส ตำบลน้ำก่ำ ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอหว้านใหญ่ ชุมชนข้าโอกาส ตำบลนาแก ชุมชนข้าโอกาสตำบลผึ่งแดด ตำบลนาหนาด ตำบลนาถ่อน ตำบลบ้านกลาง ชุมชนข้าโอกาสตำบลแสนพัน ตำบลโพนแพง ตำบลดอนนางหงส์ ตำบลกุดฉิม และอำเภอเรณูนคร
ในอดีต ชาวบ้านที่เป็นข้าโอกาสขององค์พระธาตุพนม จะมีภาระหน้าที่ในการผลัดเปลี่ยนกันมาเข้าเวรยามเฝ้าองค์พระธาตุตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง กับเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ก็จะนำข้าวพีชภาค หรือผลผลิตทางการเกษตร และเครื่องสักการบูชาต่างๆ เข้ามาถวายองค์พระธาตุพนมทุกๆ ปีไปมิได้ขาด หากนับตั้งแต่รัชสมัย รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกาศให้มีการเลิกทาสไปทั่วทั้งแผ่นดินไทย ก็ได้ทำให้ระบบข้าโอกาสองค์พระธาตุพนมสิ้นสุดลงไปด้วย แต่กระนั้นก็ตาม ผู้เป็นลูกหลานของบรรดาข้าโอกาสเดิมทั้งหลาย ก็ยังคงยึดถือในเรื่องการน้อมเคารพปฏิบัติบูชาต่อองค์พระธาตุพนมอยู่เสมอมิได้ขาด
ด้วยเหตุนี้ทุกปี เมื่อถึงช่วงเทศกาลวันนมัสการองค์พระธาตุพนม จึงมีผู้เดินทางเข้ามาร่วมงานที่พร้อมจะอุทิศถวายทั้งแรงใจแรงกาย และแรงทรัพย์ เพื่องานพระธาตุพนมอย่างมากมายล้นหลามในทุกขั้นตอน แม้ปัจจุบันระบบการจัดงานคณะกรรมการวัดจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ภาคราชการที่เข้ามาใหม่ก็จะต้องเชื้อเชิญกรรมการวัดรุ่นเก่า ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรดาข้าโอกาสขององค์พระธาตุพนมให้เข้ามามีส่วนสำคัญในการดำเนินงานด้วยเป็นวิถีปฏิบัติที่เคร่งครัด
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/2/index.html