เรื่อง : บุษบา มินตรา
ภาพ : จรการำพัน, เวชยันต์ ช้างรักษา, ชุมชนบ้านเชียง
ออนซอนบ้านเชียง
ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง
แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม
หากกล่าวถึง "บ้านเชียง” ภาพจำแรกของเราคนไทยก็คือ หม้อดินเผาเขียนสีลายเชือกทาบ โดยฝีมือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อหลายพันปีก่อน และภาพจำต่อมาก็คือ บรรยากาศวิถีชีวิตชุมชนไทพวนผู้ร่ำรวยด้วยวิถีวัฒนธรรมดีงาม เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานราชการหลายแห่ง ทำให้นักท่องเที่ยวและใครต่อใคร หวังใจว่า สักวันหนึ่งจะได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์อันน่าประทับใจที่ชุมชนแห่งนี้ ได้มอบให้ใครต่อใคร ที่เคยเดินทางมาแล้วอย่างมากมาย
ใช่แล้ว ภาชนะหม้อไหลายเขียนสีดินเผาลายเชือกทาบ โครงกระดูกมนุษย์โบราณ ขวานหิน เครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งของต่างๆ ที่ขุดค้นพบจากใต้ผืนแผ่นดินบ้านเชียง ที่ถูกนำมาจัดวางเรียงราย แบ่งเป็นหมวดหมู่ ดูแล้วเข้าใจง่าย อยู่ภายในห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี สิ่งเหล่านี้ คือแม่เหล็กชิ้นเอกที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมากหน้าหลายตา พากันเดินทางมาที่นี่ แหล่งมรดกโลก บ้านเชียง อุดรธานี
การค้นพบโบราณวัตถุที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณบ้านเชียงนั้น เริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อราษฎรชาวบ้านเชียง สังเกตเห็นเศษภาชนะดินเผาที่มีลวดลายเขียนสีแดงที่จะพบได้เสมอเมื่อมีการขุดพื้นดินในบริเวณหมู่บ้าน จึงนำไปเก็บรักษารวมๆ กันไว้ที่โรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้าน
พ.ศ. ๒๕๐๙ นายสตีเฟน ยัง นักศึกษาวิชาสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาศึกษาเรื่องราวนี้ที่บ้านเชียง ได้พบเห็นเศษภาชนะดินเผาเขียนสีดังกล่าว ตกกระจายเกลื่อนอยู่ทั่วไปตามผิวดิน จึงเก็บไปให้ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประจำกองโบราณคดี กรมศิลปากร ศึกษาวิเคราะห์และได้ลงความเห็นว่าเป็นเศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ (Neotelhic Period)
ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ กองโบราณคดี กรมศิลปากร จึงได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงอย่างละเอียด แล้วจึงส่งโบราณวัตถุเหล่านี้ไปหาอายุโดยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนส์ (C-๑๔) ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า โบราณวัตถุเหล่านั้นมีอายุประมาณ ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๓ หน่วยศิลปากรที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น ได้เข้าไปสำรวจโบราณวัตถุที่บ้านเชียง แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้นเรื่องราวทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่เข้าใจกันมากนัก จึงไม่มีการค้นคว้าทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง
พ.ศ. ๒๕๑๕ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงอีกครั้งหนึ่งบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน และบริเวณบ้านนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ โดยได้ปรับปรุงหลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์สถานกลางแจ้งแห่งแรกในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมและการขุดค้นที่บ้านเชียง เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
พ.ศ. ๒๕๓๕ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๑๖ ที่เมืองแซนตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ทุกประการ หากในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๓๕ ดังกล่าว ได้มีการลักลอบขุดค้นได้หม้อไหบ้านเชียงจำนวนมากออกไปค้าขายเป็นสมบัติส่วนตัวของใครต่อใคร ทั้งในและต่างประเทศไปแล้วมากมาย
วัฒนธรรมบ้านเชียง ไม่เพียงจะจำกัดอยู่เพียงที่บ้านเชียงนี้เท่านั้น หากยังครอบคลุมแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยอีกกว่าร้อยแห่ง เป็นบริเวณพื้นที่ที่เคยมีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาหลายพันปีล่วงมาแล้ว และได้ทิ้งร้างไป แต่จากร่องรอยทางโบราณคดีเหล่านี้ ทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการมาแล้วในหลายด้าน โดยเฉพาะความรู้ความสามารถ ภูมิปัญญา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ช่วยให้ผู้คนในยุคนั้นดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และสร้างสังคมสืบต่อกันมาได้ยาวนาน ด้วยเหตุนี้ องค์การยูเนสโก จึงได้ยอมรับและขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้ให้เป็นหนึ่งในแหล่งมรดกโลกอันล้ำค่า

สิ่งดึงดูดใจเมื่อใครๆ พากันเดินทางมาถึงบ้านเชียง นอกจากบรรดาวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือ ชุมชนของชาวบ้านเชียง ชุมชนแห่งนี้มิใช่ชาวบ้านสืบสายมาจากชาวบ้านเชียงในอดีตกาลไกลโพ้น แต่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาวพวน แขวงเมืองเชียงขวาง สปป.ลาว ที่อพยพหลบภัยสงครามข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งเมืองหนองคาย ลัดเลาะรอนแรมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงบริเวณบ้านดงแพง (บ้านเชียงในปัจจุบัน) พบเป็นพื้นที่ร้างว่างเปล่า ภูมิประเทศเป็นเนินรูปไข่ และมีลำห้วยล้อมรอบเหมาะแก่การทำไร่ทำนา จึงตั้งหลักปักฐานหักร้างถางพงสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่นี่ เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๓๖๐ โดยไม่ล่วงรู้ว่าแผ่นดินผืนนี้เคยมีชุมชนใหญ่ๆ เป็นชุมชนมนุษย์โบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อาศัยอยู่มาก่อน หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๐ ได้มีชาวพวนกลุ่มใหญ่อพยพเข้ามาเพิ่มเติม จนกระทั่งกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ในช่วงเวลาต่อมา
ชาวพวน มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นของตนเอง ครั้นอยู่มาเมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดี พบความสำคัญในระดับโลกของหม้อไหบ้านเชียง ซึ่งมีรูปแบบที่แน่ชัดและเรียบง่าย ในช่วงต่อมาชาวไทพวนที่นี่จึงมีการประสมประสานวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของตนเข้ากับวัฒนธรรมที่ได้ขุดค้นพบคือ ลวดลายเขียนสีโบราณบนหม้อไหบ้านเชียง วิวัฒน์เป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชาวบ้านที่นี่ คือการนำภูมิปัญญาโบราณมาสืบสานจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ โดยเฉพาะลวดลายบนหม้อดินเผาเขียนสี มรดกชิ้นสำคัญของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างในผ้าทอมือ ก็มีการนำลวดลายเชือกทาบของหม้อไหบ้านเชียงไปเป็นต้นแบบ การประกอบกิจกรรมดังกล่าว ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ เพราะอย่างไรเสียด้วยความมีชื่อเสียงในด้านความเป็นแหล่งมรดกโลก จึงมีผู้คนแวะเวียนผ่านทางเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่อยู่แล้วเป็นประจำ บ้านเชียง จึงเป็นหมู่บ้านจัดทำและจำหน่ายสินค้าที่ระลึกลวดลายบ้านเชียงสืบต่อไปได้อีกเนิ่นนาน
จนในที่สุด เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ มีผู้คนเดินทางมามากๆ เข้า ชาวหมู่บ้านจึงมีการปรับเปลี่ยน ในแนวทางหนึ่งก็มีการจัดทำสินค้าที่ระลึกเหล่านี้มากยิ่งขึ้น จนต่อมาเมื่อมีความสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐต่างๆ เข้ามาเพิ่มเติม แนวคิดใหม่นี้อิงอาศัยกับการที่ บ้านเชียง เป็นที่รู้จักมากอยู่แล้วจึงช่วยต่อยอดให้จัดสร้างเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และหมู่บ้านชุมชน OTOP นวัตวิถีต่อไปอีก และชาวไทพวน บ้านเชียง ซึ่งมีอัตลักษณ์ต่างๆ ของความเป็นชาวไทพวน เพียบพร้อมและมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอยู่แล้วคือ หลุมขุดค้นทางโบราณคดี จึงสามารถเดินหน้าต่อไปเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนดังที่ว่าต่อไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
การท่องเที่ยว หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บ้านเชียง นับว่ามีจุดเด่นอยู่ที่แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ระดับโลก แต่ทว่าในทางกลับกันก็กลายเป็นจุดด้อย เพราะความตั้งใจของผู้เดินทางมาจะเน้นให้ความสำคัญไปที่การชมหม้อไหบ้านเชียง และหลุมขุดค้น จากนั้นจึงจะไปเลือกซื้อหาสินค้าที่ระลึกสักพักหนึ่ง
แล้วเดินทางกลับ ความตั้งใจที่จะพักค้าง เพื่อชมวิถีชีวิตของชาวไทยพวน ยังมีอยู่ไม่มากนัก ยกเว้นแต่จะเป็นโอกาสพิเศษ เช่น งานเฉลิมฉลองมรดกโลก ปีละครั้ง ครั้งละสองสามวัน ก็จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่ม และมีผู้สนใจจะพักค้างและชื่นชมวิถีวัฒนธรรมไทพวนมากขึ้นในช่วงสั้นๆ ช่วงเดียวในปีหนึ่ง
นายเศวตฉัตร บรรเทาทุกข์ ประธานชุมชนท่องเที่ยวบ้านเชียง เล่าว่า บ้านเชียง มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่น่าประทับใจอีกมากมาย อาทิ บ้านไทยพวนรับเสด็จ บ้านเรือนไม้ การแต่งกาย อาหาร การทอผ้ามัดหมี่ ผ้าย้อมคราม ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ ล้อมวงทานอาหารพื้นเมืองแบบพาแลง ชมการแสดงดนตรีที่สนุกสนาน การฟ้อนรำที่อ่อนช้อยสวยงามของหนุ่ม-สาวชาวไทพวน ล้วนแล้วแต่เป็นสีสันสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะรำวงที่นักท่องเที่ยวต้องอดใจไม่ไหวเข้าร่วมวงฟ้อนแน่นอน
บ้านเชียงจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นทางด้านโบราณคดี ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก และยังพร้อมสรรพไปด้วยวัฒนธรรมภูมิปัญญาอีสานที่นักท่องเที่ยวเมื่อได้สัมผัสแล้ว เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง
สำหรับรายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นแพ็คเกจ ๒ วัน ๑ คืน
วันแรก เริ่มที่ลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง เข้าสู่ ตุ้มโฮมพาแลงไทพวนบ้านเชียง พิธีบายศรีสู่ขวัญ ชมการรำบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขน และชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
วันที่สอง เส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้และชมผลิตภัณฑ์ชุมชน นำชมสะพานไม้โบราณข้ามห้วยนาน้อย เกษตรพอเพียงเพาะเห็ดพืชผักสวนครัว บ้านไม้ไทยพวน ปั้นหม้อเขียนสี แปรรูปอาหาร บ้านโฮมสเตย์ ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง และหลุมขุดค้นวัตถุโบราณที่ วัดโพธิ์ศรีใน เลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชนของบ้านเชียง อาทิ หม้อลายเขียนสี ตุ๊กตาผ้า สร้อยดอกข้าว รวมทั้งสินค้าอื่นๆ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการท่องเที่ยวชุมชนที่นี่