กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
การแสดงมหากาพย์ รามายณะอาเซียน

วันที่ 14 มิ.ย. 2562
 
เรื่อง : ดร.อนุชา ธีรคานนท์
ภาพ : ดร.อนุชา ธีรคานนท์  อภินันท์ บัวหภักดี
 
 
 
การแสดงมหากาพย์
รามายณะอาเซียน
 
 
    
 
      การแสดงรามายณะในประเทศต่างๆ ล้วนเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธา เนื่องในศาสนาพราหมณ์ ใช้เป็นสื่อ (Medium) ในการสาธยายเรื่องราว ของพระเป็นเจ้า
 
     ในระยะแรกคงเป็นเพียงการเล่าเรื่องหรือสาธยายพระคัมภีร์ ด้วยทำนองที่มีการเเสดงอารมณ์ ความรู้สึกชวนให้คล้อยตามหรือเกิดความสะเทือนใจ ระยะต่อมาจึงมีการเล่าเรื่องประกอบของอากัปกิริยา เกิดเป็นการแสดงรูปแบบต่าง ๆ ในอุษาคเนย์ การแสดงรามายณะล้วนเป็นการแสดงอันเกี่ยวเนื่องกับรามายณะฉบับสันสกฤตของวาลมีกิ ซึ่งถือเป็นสมฤติ (smriti) หรือคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ที่มีความสำคัญรองลงมาจากคัมภีร์พระเวทย์ การแสดงรามายณะจึงจัดเป็นการแสดงกึ่งพิธีกรรม อยู่ในกรอบจารีตที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์ในเชิงความเชื่อทางศาสนารูปแบบของการแสดงรามายณะที่ปรากฏในปัจจุบันของประเทศต่างๆ
 
     ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการสืบทอดต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี ยังคงมีความสอดคล้องในด้านเนื้อหาเเละการแสดงออกทางอารมณ์ของนักแสดง รวมทั้งมีการสวมหัวหรือหน้ากากแสดงความเป็นตัวละครรามายณะในรูปแบบศิลปกรรมของประเทศนั้นๆ อีกด้วย
 
     ในประเทศไทย การแสดงรามายาณะหรือการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ เป็นการแสดงที่มีหลักฐานถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิด กับเเนวคิดด้านการปกครองตามลัทธิเทวะราชา ดังมีปรากฏเป็นหลักฐานทางวรรณกรรมยืนยันจากสำนวนว่าเป็นการแสดงที่เก่าเเก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งในลักษณะของคำพากย์และบทละครในสมัยรัตนโกสินทร์ บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีสำนวนที่มาจาก คำพากย์เรื่องรามเกียรติ์ในสมัยอยุธยาประกอบกับวรรณกรรมมุขปาฐะที่มีมาแต่เดิมซึ่งอาจรับมาจากชวาอีกต่อหนึ่ง และชวาอาจรับมาจากมุขปาฐะของอินเดียใต้ซึ่งสืบเนื่องมาจากเรื่องเล่าในมัธยมประเทศแต่โบราณกาล ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนหรือในสมัยพุทธกาล
 
 
     จากเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น ในรัชกาลต่อๆ มา ก็ได้มีการนำมาปรับปรุงเเต่งเติมเป็นบทละครรามเกียรติ์ตอนต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมแก่การนำไปใช้ในการแสดงจริง ทั้งในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๔ นอกจากนี้ยังมีบทคอนเสิร์ต พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่นำมาใช้สำหรับการแสดงโขนอย่างแพร่หลาย และกลายมา เป็นต้นแบบในการปรับบทสำหรับการแสดงรามเกียรติ์ตอนต่างๆ ในปัจจุบัน ส่วนบทละครดึกดำบรรพ์เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จะมีความแตกต่างจากฉบับอื่นๆ เพราะทรงพระราชนิพนธ์และนิพนธ์ขึ้นจากฉบับของวาลมีกิโดยตรง จึงมีรายละเอียดของชื่อตัวละครและเนื้อเรื่องบางส่วนต่างออกไปจากรามเกียรติ์ฉบับที่แพร่หลายมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา
 
     จากหลักฐานวรรณกรรมต่างๆ บ่งชี้ให้เห็นถึงการแสดงรามเกียรติ์ ที่มีเพียงบทพากย์ในระยะเริ่มเเรก ซึ่งคำพากย์นั้นก็อาจใช้ในการแสดงหนังใหญ่หรือหุ่นในช่วงต้นๆ จนเกิดความนิยมในการใช้ผู้เเสดงเข้าไปทำท่าทางประกอบ จนพัฒนาให้ผู้แสดงสวมใส่เครื่องแต่งกายตามจิตนาการให้สอดคล้องกับรูปลักษณะของตัวละครนั้นๆ แต่ยังคงดำเนินเรื่องโดยใช้คำพากย์เช่นเดียวกับการแสดงหนังใหญ่ จนในที่สุดรามเกียรติ์ที่ใช้ผู้เเสดงก็เติบโตเจริญงอกงามขึ้นเป็นการแสดงโขนที่มีการสวมศีรษะหรือหัวโขนบ่งบอกถึงความเป็นตัวละครนั้นๆ อย่างเฉพาะเจาะจง
 
     การแสดงโขนของไทยอาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา แม้ว่าจะดูเหมือนมีความซบเซาบ้างในบางยุคบางสมัย แต่รูปแบบของการแสดงโขนของไทยที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งยึดเอาการดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑ เป็นหลักนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการผสมผสานความงามในอุดมคติด้านทัศนศิลป์กับนาฏศิลป์ และได้รับการขัดเกลามาแล้วให้ลงตัวแนบเนียนด้วยแนวทางศิลปะของไทย และยังคงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นร่องรอยของความเชื่อตามลัทธิเทวะราชา ขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก ตลอดจน โลกทัศน์ในการดำเนินชีวิตภายใต้กรอบวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ส่วนรูปแบบการแสดง ก็ได้มีการผสมผสานการแสดงที่ดำเนินเรื่องด้วยคำพากย์และเจรจาแบบโบราณ กับการแสดงที่มีการแสดงออกทางอารมณ์และท่าทางของตัวละครอย่างละครในราชสำนัก และคงไว้ซึ่งจารีตในการสวมหัวโขนสำหรับตัวละครส่วนใหญ่ อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการแสดงโขน ส่วนผู้แสดงที่แต่เดิมเป็นชายล้วน ก็มีการใช้ชายจริงหญิงแท้ตามตัวละครในเรื่อง ยกเว้นบางฉากบางตอนที่ยังมีการใช้นักแสดงชายสำหรับบทนางยักษ์ หรือตัวนางในการขึ้นรอกอยู่บ้าง สำหรับวิธีการแสดงก็มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพื้นที่และโอกาส แต่ยังคงความยืดหยุ่นและสามารถปรับประยุกต์ได้ไม่ว่าจะเป็นการแสดงบนลานโล่งหรือบนเวทีมีฉากหลัง
 
 
     การแสดงโขนของไทย แต่เดิมจัดเป็นมหรสพของหลวงที่อยู่ในความดูแลของราชสำนักและเจ้านายตามวังต่างๆ โดยในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีการจัดตั้งกรมมหรสพรับผิดชอบเรื่องการแสดงของหลวงโดยตรง และโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากรในเวลาต่อมา ซึ่งยังจัดการแสดงตามแนวทางของโขนราชสำนักอยู่ นอกจากการแสดงโขนแบบราชสำนักแล้ว การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ยังแพร่หลายไปสู่สังคมในวงกว้าง เกิดเป็นการแสดงโขนคณะต่างๆ รับแสดงในงานทั่วไป ทั้งยังมีการปรับประยุกต์การแสดงโดยลดทอนรายละเอียดบางส่วนให้ง่ายต่อการแสดงและลดแบบแผนทั้งท่ารำ การแต่งกาย การขับร้อง คำพากย์ และเจรจาลง เกิดเป็นรูปแบบการแสดงโขนอีกแขนงหนึ่ง ที่เรียกกันทั่วไปว่า โขนสด โดยมีผู้แสดงแต่งกายตามบทเป็นผู้ร้องเพลงและพูดเจรจาเอง จึงสวมหัวโขนครอบไว้เพียงหน้าผาก เพื่อให้สามารถร้องเจรจาได้
 
     ปัจจุบันนอกจากกรมศิลปากรแล้ว การฝึกซ้อมและการจัดแสดงโขนแบบประเพณี (Traditional Performance) ยังมีอยู่ตามสำนักและสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น โขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มุ่งฟื้นฟูงานช่างประณีตศิลป์แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงโขน และจัดแสดงโขนแบบพระราชนิยมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานับสิบปี หรือโขนของมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง ที่มุ่งเน้นการจัดแสดงแบบกระชับและรวดเร็วสำหรับนักท่องเที่ยว โขนของสถาบันคึกฤทธิ์ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วไปที่มีใจรัก ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกซ้อมและร่วมแสดง นอกจากนี้ยังมีคณะโขนของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ ในทุกระดับชั้นและช่วงวัย
 
 
     อาจกล่าวได้ว่า สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการแสดงโขนของไทยมากนัก จะพบว่าการแสดงโขนของไทยกับ "ละครโขล” ของเขมรมีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งนี้เพราะในอดีต ทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันในทางประวัติศาสตร์ทั้งในด้านการเมืองการปกครองและทางสังคมอยู่มาก สำหรับรูปแบบการแสดงละครโขลของกัมพูชาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกิดจากการสืบทอดและฟื้นฟูขึ้นในระยะหลังสงคราม โดยเฉพาะการแสดง "เรียมเกร์” (Reamker) แบบราชสำนัก ซึ่งมีการใช้ผู้แสดงเป็นหญิงล้วนตามแบบจารีตโบราณ มักแสดงตอนที่มุ่งเน้นการแสดงอารมณ์ของตัวละครมากกว่าการแสดงฉากรบพุ่งหรือสงครามใหญ่ นักแสดงแต่งกายตามลักษณะของตัวละคร แบบเครื่องทรงอย่างราชสำนักกัมพูชา สวมหัวโขนสำหรับบทยักษ์ ลิง และเปิดหน้าสำหรับตัวพระและนางกษัตริย์ สีของเครื่องแต่งกายและหัวโขนประดิษฐ์ขึ้นตามสีพงศ์ของตัวละครเช่นเดียวกับสีของตัวโขนของไทย ในปัจจุบันยังได้มีการฟื้นฟูการแสดงเรียมเกร์ ที่ผู้แสดงสวมหัวโขนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพระราม พระลักษณ์หรือแม้กระทั่งนางสีดาขึ้นมาด้วย
 
     เช่นเดียวกับไทย นอกจากการแสดง "ละครโขล” แบบหลวงหรือแบบราชสำนักแล้ว ประเทศกัมพูชายังมีการแสดงละคร โขล เรียมเกร์ แบบชาวบ้าน กล่าวกันว่าเคยมีคณะละครโขลของชาวบ้านตามหมู่บ้านอยู่ถึงแปดคณะในช่วงก่อนสงคราม ปัจจุบันเหลือการแสดงละครโขลของหมู่บ้านอยู่เพียงแห่งเดียว นั่นคือคณะละครโขลวัดสวายอันแดต (Lkhon Khol Wat Svay Andet)ที่ตำบลสวายอันแดต ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงจากกรุงพนมเปญไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ซึ่งการแสดงละครโขลที่หมู่บ้านแห่งนี้ มีรูปแบบที่เป็นการแสดงพื้นบ้าน จัดแสดงในช่วงสงกรานต์เพื่อถวายแด่ "นักตา” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน โดยใช้ผู้แสดงเป็นชายซึ่งโดยมากเป็นเด็กๆ ในหมู่บ้าน แต่งกายตามบทบาทยักษ์ ลิง ที่ตัดเย็บกันเองอย่างง่ายๆ ผู้แสดงตัวเอกแต่งแบบโขนราชสำนัก ส่วนตัวแสดงโขนยักษ์และลิงนุ่งแต่โจงกระเบน ไม่สวมเสื้อ แต่สวมหัวโขน ยักษ์และลิง
 
     การแสดงโขลของวัดสวายอันแดตนี้จะเน้นการรบระหว่างกองทัพยักษ์และทัพลิงเป็นหลัก โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการแสดงประกอบกับพิธีกรรมตามความเชื่อ ซึ่งถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้คนในหมู่บ้านที่ต่างพากันมามีส่วนร่วมในการแสดงอันเป็นกิจกรรมสำคัญประจำปี ทั้งยัง เชื่อกันว่าหากปีใดเว้นการแสดงละครโขลดังกล่าว ก็จะเกิดทุพภิกขภัยแก่พื้นที่การเกษตรและผู้คนในหมู่บ้านนั้น ส่วนผู้แสดงซึ่งเป็นคนของหมู่บ้านเองก็เชื่อว่า หากปีใดไม่แสดงก็จะเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานหรือไปทำงานอยู่ที่ใด เมื่อถึงช่วงสงกรานต์ ก็จะต้องกลับไปแสดงเป็นประจำทุกปี
 
     ปัจจุบันด้วยการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเมืองหลวงพนมเปญ และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประเทศกัมพูชาจึงได้ระบุให้การแสดงโขลของวัดสวายอันแดต เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ต้องได้รับการส่งเสริมรักษาอย่างเร่งด่วน
 
 
     สำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการแสดง "ฟ้อนโขนพะลักพะลาม” ดำเนินเรื่องตามวรรณกรรมเรื่องพะลักพะลามที่ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมสำคัญของชาวลาว ที่มีการดัดแปลงมาจากรามายณะ โดยการดัดแปลง ต่อเติมให้มีลักษณะเฉพาะถิ่นตามคติความเชื่อ ค่านิยมและวัฒนธรรมประเพณีของลาว มีการนำเอาเนื้อหาและตัวละครที่เป็นที่นิยมของท้องถิ่นมาประยุกต์ มีการสอดแทรกวิถีชีวิต คติความเชื่อ ค่านิยม และ ใช้ฉากสถานที่มีอยู่จริงในท้องถิ่นมาผสมผสาน "ฟ้อนโขนพะลักพะลาม” หรือ "ละคร พะลักพะลาม” ถือได้ว่า เป็นศิลปะ การแสดงที่โดดเด่น ชนิดหนึ่งของลาวที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งถือเป็นการแสดงในราชสำนักมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช โดยจัดแสดงปีละครั้งคือในช่วงงานบุญปีใหม่ใน "วันสังขานขึ้น” เป็นมหรสพที่เจ้ามหาชีวิตจัดให้มีขึ้นในงานพระราชทานเลี้ยงแก่ราชอาคันตุกะและเจ้านายชั้นสูงที่มาร่วมพิธีบายศรีในพระราชวัง และจัดแสดงในคืนวันสรงนํ้าพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลาว
 
     การแสดงฟ้อนโขนของลาวนั้น ผู้แสดงแต่งกายตามบทบาทพระ นาง ยักษ์ ลิง สวมหัวโขน เครื่องแต่งกายมีองค์ประกอบ ใกล้เคียงกับไทย กล่าวคือ ตัวพระและยักษ์ นุ่งผ้ายก สวมเสื้อแขนยาว มีกรองคอ ห้อยหน้าห้อยข้าง รัดสะเอว ใส่สังวาลไขว้ ประดับทับทรวง ส่วนตัวนางกษัตริย์ นุ่งผ้ายกมีทั้งแบบนุ่งจีบ และนุ่งเป็นซิ่นป้าย สวมเสื้อในนางแขนกุด ห่มสไบ กรองคอ สอดสังวาล สวมมงกุฎกษัตรี ฟ้อนประกอบการบรรเลงดนตรีด้วยวงมโหรีประกอบเครื่องเป่าคือ "แคน”
 
     ในปัจจุบัน การฟ้อนโขนพะลักพะลาม ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ มีการจัดแสดงเป็นประจำที่เมืองหลวงพระบาง นอกจากนี้การฟ้อนโขนพะลักพะลามยังเป็นส่วนหนึ่งของขบวนนางแก้วที่เข้าร่วมขบวนแห่วอในงานบุญปีใหม่หรือบุญสงกรานต์ของเมืองหลวงพระบางทุกปีด้วย ยังมีการแสดงรามายณะในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งที่เป็นการแสดงแนวประเพณีที่มีการสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน เช่น การแสดงของประเทศเมียนม่า อินโดนีเซีย ทั้งแบบราชสำนักและแบบชาวบ้าน ตลอดจนที่เป็นการแสดงร่วมสมัยที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น การแสดงของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งหมดนั้น จะขอกล่าวถึงในตอนต่อไป
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/2/index.html 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)