กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
กิงกะหร่า–โต การฟ้อนที่แสดงตัวตนของชาวไทใหญ่

วันที่ 24 ก.ย. 2562
 
เรื่อง : สมฤทธิ์ ลือชัย
ภาพ : อดุย ตัณฑโกศัย
 
 
กิงกะหร่า–โต
การฟ้อนที่แสดงตัวตนของชาวไทใหญ่
 
 
 
     เมื่อไรก็ตามที่ชาวไทใหญ่มีงานประเพณีทางพุทธศาสนาหรืองานมงคลต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการฟ้อนกิงกะหร่าและโต เมื่อเสียงฆ้องเสียงกลองดังขึ้น นักแสดงที่ใส่ชุดกิงกะหร่าซึ่งดูคล้ายนกและนักแสดงที่ใส่ชุดโตซึ่งดูคล้ายกวาง จะออกมาวาดลวดลายการฟ้อนตามแบบฉบับของชาวไทใหญ่ ด้วยท่วงท่าและลีลาที่เร้าใจ เสียงดนตรีจะสอดรับกับการสะบัดปีกสะบัดมือของนักแสดงกิงกะหร่า และการเคลื่อนไหวของนักแสดงโตซึ่งดูราวกับสัตว์ที่มีชีวิตจริง ทำให้การแสดงชุดนี้น่าดูน่าชมยิ่งนัก
 
     คำว่า "กิงกะหร่า” มาจากภาษาบาลีว่า "กินนรหรือกินนรา” ซึ่งเป็นสัตว์ในนิยายประเภทอมนุษย์ที่มีหัวเป็นคนมีตัวเป็นนก อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์
 
     ส่วนคำว่า "โต” นั้นเป็นสัตว์ในนิยายเหมือนกัน คำว่า "โต” ในพจนานุกรมไทยบอกว่าเป็นคำโบราณหมายถึง "สิงโต” แต่โตที่เป็นการแสดงของชาวไทใหญ่นั้น ดูยังไงก็ไม่เหมือนสิงโต ออกไปทางกวางมากกว่า ถามผู้รู้ชาวไทใหญ่ท่านบอกว่าเป็นสัตว์ที่เกิดจากการผสมของสัตว์ ๙ ชนิด ซึ่งก็คงเป็นประเภทสัตว์ป่าหิมพานต์ที่ผสมสัตว์ตัวโน้นตัวนี้ จนดูแปลกๆ หรือพิเศษไป จะเห็นได้ว่าทั้งพม่าหรือแม้แต่อาระกัน (ซึ่งเป็นกลุ่มทิเบโต–เบอร์มันเหมือนกัน) ต่างก็มีสัตว์รูปร่างพิเศษแบบนี้เป็นสัญลักษณ์ และไทใหญ่กับพม่าก็มีสัมพันธ์ต่อกันมานาน โดยเฉพาะเรื่องพุทธศาสนา อาจเป็นไปได้ว่า "โต” ที่ว่านี้ไทใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่า (และอาจเป็นภาษาพม่า) นั่นเป็นแค่การสันนิษฐานนะครับ แต่เอาเป็นว่าที่แน่ๆ คือ "โต” คือสัตว์ในนิยายและเป็นตัวแสดงหนึ่งของชาวไทใหญ่
     สำหรับมูลเหตุของการแสดงกิงกะหร่าและโตนั้นมีเล่าว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดุสิตและอยู่จำพรรษาที่นั่น ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จลงจากสวรรค์ เหล่าทวยเทพและสัตว์ป่าหิมพานต์ต่างออกมารับเสด็จกันพร้อมหน้า และวันนั้นจึงเป็นวันที่เกิดปาฏิหาริย์ ที่โลกทั้งสาม คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก ต่างมองเห็นกันได้หมด หรือที่เราเรียกว่า "วันพระเจ้าเปิดโลก” และสัตว์ในนิยายทั้งสองนี้คือกิงกะหร่าและโตก็มีมนุษย์มองเห็นว่า ออกมาสำแดงกิริยาอาการต่างๆ เป็นการฟ้อนรับเสด็จด้วย
 
     จากความเป็นมาของการแสดงกิงกะหร่าและโตดังว่ามานี้ จึงบอกให้เรารู้ว่าแต่เดิมนั้นการแสดงประเภทนี้คงเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองประเพณีออกพรรษาหรือ "ออกหว่า” ของชาวไทใหญ่ ซึ่งในบรรดาประเพณี ๑๒ เดือนของชาวไทใหญ่นั้น ประเพณีออกหว่าถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่ง ดังนั้นกิงกะหร่าและโตก็เลยสำคัญและได้รับความสนใจตามไปด้วย
 
 
   เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ผมไปร่วมงานบุญที่วัดป่าก่อ ในเขตอำเภอเมืองเชียงราย ที่นี่เป็นชุมชนของชาวไทใหญ่ วันนั้นผมได้ชมการฟ้อนกิงกะหร่าเป็นครั้งแรก คนแสดงนั้นเป็นเด็กหนุ่มมาจากเมืองสีป๊อ รัฐฉาน ผมรู้สึกประทับใจในการแสดงนี้มาก ในตอนนั้นแม้จะมีชุมชนชาวไทใหญ่ในภาคเหนืออยู่มาก แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสืบสานการฟ้อนกิงกะหร่าหรือโตไว้ เมื่อมีงานก็ต้องไปหานักแสดงจากฝั่งพม่ามาแสดง ที่ใกล้ที่สุดก็จากเมืองท่าขี้เหล็ก ที่อยู่ตรงข้ามเมืองแม่สาย
     การฟ้อนกิงกะหร่าหรือที่คนไทใหญ่เรียกว่า "ก้านก” หรือ "ฟ้อนนก” นั้น นักแสดงมีทั้งชายและหญิง บางคนใช้หน้ากากแบบหัวโขนของไทยปิดหน้า แต่ปัจจุบันไม่นิยมแล้ว
 
     ชุดสำหรับการแสดงกิงกะหร่านั้นมี ๓ ส่วน คือ ตัวคนแสดง ปีกและหาง ตัวปีกและหางนั้น โครงทำด้วยไม้ไผ่ ปิดด้วยผ้าและประดับด้วยพู่หรือกระจก บางรายตัดกระดาษเป็นลวดลายประดับก็มี นำมาประกอบกันด้วยเชือก และมีเชือกโยงอีกชุดเพื่อบังคับปีกให้กระพือและบังคับหางให้แผ่ได้เหมือนนกจริงๆ ส่วนตัวนักแสดงนั้นจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเดียวกันกับปีกและหาง ปัจจุบันนักแสดงชาย–หญิงมักแต่งตัวเป็นชาวไทใหญ่ แต่ในอดีตนั้นนักแสดงมักแต่งตัวแบบนักแสดงพม่า ที่มีห้อยหน้า ใส่มงกุฎและสวมรองเท้า และด้วยเหตุที่ลีลาท่าทางในการฟ้อนที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของนก คนทั่วไปจึงเรียกการแสดงนี้ว่า "ฟ้อนนก”
 
     ที่เมืองไพลินในประเทศกัมพูชา มีชุมชนชาวไทใหญ่ที่อพยพไปเมื่อร้อยปีก่อนเพื่อไปขุดแร่ที่นั่น ได้นำเอาการแสดงกิงกะหร่านี้ไปด้วย ปัจจุบันได้กลายเป็น "ฟ้อนนกยูง” อันเป็นการแสดงพื้นเมืองของเมืองไพลิน แม้ว่าจะดูกลายๆ ไปบ้าง แต่ก็พอเห็นเค้าลางว่าการแสดงชุดนี้มีที่มาจากการฟ้อนกิงกะหร่านั่นเอง
 
     ส่วนการแสดงโตนั้น ใช้ผู้ชาย ๒ คนเล่น คนหนึ่งเชิดทางหัว อีกคนเชิดทางหาง คล้ายๆ การเชิดสิงโตของจีน แต่ยังไม่เคยเห็นผู้หญิงเล่นโตเลย คนเฒ่าคนแก่บอกว่า โต เป็นของต้องห้ามสำหรับผู้หญิง
 
     ส่วนชุดของโต ที่ใช้ในการแสดงนั้นมี ๒ ส่วนคือ ตัวโตซึ่งมีหัว ลำตัวและหาง ในส่วนนี้ที่สำคัญคือ ปาก ตา และหาง ต้องบังคับให้เคลื่อนไหวได้ เหมือนมีชีวิตจริง อีกส่วนหนึ่งคือขา ซึ่งเป็นขาของนักแสดงที่สวมชุดโตเข้าไป ส่วนตัวนักแสดงนั้นมุดเข้าไปอยู่ในตัวโต ซึ่งคนข้างนอกจะไม่เห็น เมื่อเริ่มแสดงคนก็จะเห็นสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งเยื้องย่างออกมาอย่างเป็นจังหวะและเป็นธรรมชาติ การแสดงชนิดนี้จะน่าสนใจหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ความพร้อมเพรียงกันของนักแสดงทั้ง ๒ คนข้างในตัวโตเป็นสำคัญ
 
 
     เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนทั้งสองนี้ก็มี กลองก้นยาว ฆ้องราว (อันเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่) ที่เรียงตัวกันจากขนาดใหญ่ไปหาเล็ก และบางทีก็มีฉาบร่วมอยู่ด้วย ปัจจุบันคนไทใหญ่ได้มาอาศัยหรือมาทำงานอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ภาคเหนือมากกว่ายุคที่ผ่านๆ มา นอกจากจะนำประเพณีวัฒนธรรมไทใหญ่มาด้วยแล้ว ที่สำคัญคือนำการแสดงกิงกะหร่าและโตนี้เข้ามาด้วย ทำให้การแสดงประเภทนี้แพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
 
     ครูส่างคำ จางยอด ครูสอนกิงกะหร่าและโต ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันได้เล่าให้ฟังว่า ตัวท่านเองเป็นชาวไทใหญ่ เมืองจ๊อกแม เรียนฟ้อนมาตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ จากนั้นก็เรียนศิลปะการแสดงอื่นมาเรื่อยๆ จากหลายครู เรียนฟ้อนกิงกะหร่าจากครูหน่อเงิน แสนหวี เรียนฟ้อนกิงกะหร่าและโตจากครูคำเมียด น้ำลั่น เมื่อโตขึ้นได้เข้าร่วมกองทัพเมืองไตของขุนส่าในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๙ และได้นำศิลปะการแสดงนี้มาสอนให้เด็กๆ ไทใหญ่ที่อยู่ตามชายแดน ต่อมาเข้ามาอยู่เมืองไทยก็เริ่มสอนกิงกะหร่าและโตที่เมืองปายก่อน จากนั้นก็ทำหน้าที่สอนตามชุมชนไทใหญ่ในหลายพื้นที่ จนในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้เข้ามาสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ตั้งแต่นั้นมาชื่อ "ป้อครูส่างคำ” ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไป
 
     ขณะนี้ครูส่างคำ ได้ไปสอนฟ้อนกิงกะหร่าและโต อยู่ที่ศูนย์ไทใหญ่ วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน แต่ละครั้งมีเด็กมาเข้าเรียนราว ๕๐–๗๐ คน นอกจากสอนฟ้อนแล้ว ครูส่างคำยังสอนทำตัวนกหรือตัวกิงกะหร่าและสอนทำตัวโตอีกด้วย จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันมีนักแสดงกิงกะหร่าและโตอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งและอาจเป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นศิษย์ของครูส่างคำท่านนี้
 
     นอกจากงานประเพณีออกพรรษาหรือออกหว่าแล้ว ในงานสำคัญอื่นๆ ของชาวไทใหญ่ เช่น งานวันขึ้นปีใหม่ งานวันชาติ ปอยส่างลอง ฯลฯ ล้วนต้องมีการฟ้อนกิงกะหร่าและโตเป็นส่วนประกอบด้วยทั้งสิ้น
 
     กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่มีการแสดงใดที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของคนไทใหญ่ได้ดีเท่ากิงกะหร่าและโตอีกแล้ว เมื่อมีไทใหญ่ก็มีกิงกะหร่าและโต เมื่อมีกิงกะหร่าและโตก็มีชาวไทใหญ่ ในที่นี้ก็ย่อมหมายรวมถึง ชาวเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดที่มีคนไทยเชื้อสายไทใหญ่อยู่ร่วมกันมากมายถึงมากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ด้วยอย่างแน่นอน
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๖๒ 
http://magazine.culture.go.th/2019/1/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)