เรื่อง : กุลธิดา สืบหล้า
ตำนานสงกรานต์
ก่อนการเคลื่อนผ่านของวันเวลา
คำว่า "สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า การย่างขึ้นหมายถึงดวงอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใดราศีหนึ่ง ก็เรียกว่า สงกรานต์แต่ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนขึ้นสู่ราศีเมษ เป็นการขึ้นปีใหม่ จะเรียกเป็นพิเศษว่า มหาสงกรานต์
ไม่เฉพาะกับคนไทย ทั้งมอญ เมียนมา สิบสองปันนา และไทลื้อต่างก็มีเทศกาลสงกรานต์ในแบบของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอินเดียฝ่ายเหนือนั้น การถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายนเป็นวันมหาสงกรานต์เป็นคติเดิมของพวกเขาเลยทีเดียว ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ฤดูกาลผ่านพ้นความเหน็บหนาว ต้นไม้ผลิดอกออกช่อฝูงสัตว์ที่เคยจำศีลเริ่มออกหากิน ธรรมชาติกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งชาวอินเดียจึงถือเอาช่วงเวลาอันแสนสดใสนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการ เฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก
ส่วนตำนานมหาสงกรานต์ที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทย เป็นตำนานที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้ในแผ่นศิลา ๗ แผ่น ติดไว้ที่คอสอง ในศาลา ล้อมพระมณฑปทิศเหนือ (ปัจจุบันบางแผ่นหายไป) วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม ก็เพราะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารู้สำหรับคนไทย อีกทั้งยังมีรายละเอียดของเนื้อเรื่องที่ชวนให้รู้สึกสนุกสนาน ทำให้ การเที่ยววัดมีสีสันยิ่งขึ้น
"แผ่น ๑ เรื่องมหาสงกรานต์นี้ มีพระบาลีฝ่ายรามัญว่า เมื่อต้นภัทรกัปอันนี้ มีเศรษฐีคนหนึ่งหาบุตรมิได้ อยู่บ้านใกล้กับ นักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร ๒ คน มีผิวเนื้อดุจทอง วันหนึ่ง นักเลงสุรานั้นเข้าไปสู่บ้านเศรษฐี กล่าวคำหยาบช้าแก่เศรษฐีต่าง ๆ เศรษฐีได้ฟังจึงกล่าวว่า เรามีสมบัติเป็นอันมาก ไฉนท่านจึงหมิ่นเรา นักเลงสุราจึงตอบว่า ท่านมีสมบัติมากก็จริง แต่หามีบุตรไม่ ถ้าท่าน ถึงแก่ความตายแล้ว สมบัติก็จะเสื่อมสูญเปล่า เรามีบุตรชาย ๒ คน มีฉวีวรรณดุจทอง เห็นว่าประเสริฐกว่าท่าน เศรษฐีได้ฟังก็มีความ ละอาย จึงบวงสรวงแก่พระจันทร์ พระอาทิตย์ ตั้งอธิษฐานขอบุตร ถึง ๓ ปีก็มิได้บุตร
"แผ่น ๒ ว่า เมื่อเศรษฐีขอบุตรแก่พระจันทร์ พระอาทิตย์ มิได้แล้ว วันหนึ่งเป็นคิมหันตฤดูเจตมาส คนทั้งหลายเล่นนักขัตฤกษ์ ต้นปีใหม่ทั่วชมพูทวีป คือ พระอาทิ ตย์ก็ จากราศี มี นประเวศสู่เมษราศี โลกสมมติว่า วันมหาสงกรานต์ ขณะนั้นเศรษฐีจึงพาบริวารไปยัง ต้นไทรริมฝั่งน้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติทั้งหลาย จึงเอาข้าวสาร ล้างน้ำ๗ ครั้ง แล้วหุงขึ้นบูชารุกขพระไทร พร้อมด้วยสูปพยัญ- ชนาหาร ประโคมดุริยางคดนตรี ตั้งอธิษฐานขอบุตรแก่รุกขพระไทรรุกขพระไทรก็มีความกรุณา เหาะไปขอบุตรแก่พระอินทร์เพื่อจะให้ แก่เศรษฐี
"แผ่น ๓ ว่า รุกขพระไทรขอบุตรแก่พระอินทร์ พระอินทร์ จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ครั้งถ้วน ทศมาสก็คลอดจากครรภ์ บิดามารดาให้ชื่อธรรมบาลกุมาร แล้วจึง ปลูกปราสาท ๗ ชั้นให้กุมารอยู่ที่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น ครั้นกุมาร เจริญขึ้นก็รู้ภาษานก แล้วเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุ ๗ ขวบ ก็ได้เป็น อาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งปวงชาวชมพูทวีป ขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่ง ได้สำแดง มงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง
"แผ่น ๔ ว่า เมื่อกบิลพรหมแจ้งเหตุนั้น จึงลงมาถามปัญหา ๓ ข้อแก่ธรรมบาลกุ มารว่า เวลาเช้าศรี อยู่ที่ ไหน เวลาเที่ ยงศรี อยู่ที่ ไหน และเวลาค่ำศรีอยู่ที่ไหน ถ้าท่านแก้ได้เราจะตัดศีรษะเราบูชาท่านถ้าท่านแก้มิได้เราจะตัดศีรษะท่านเสีย ธรรมบาลกุมารขอผัด ๗ วัน กบิลพรหมก็ไปยังพรหมโลก ฝ่ายธรรมกุมารพิจารณาปัญหานั้นล่วง ไปได้ ๖ วันแล้วยังไม่เห็นอุบาย จึงคิดว่าวันพรุ่งนี้เราจะตายด้วย อาชญาท้าวกบิลพรหมนั้นหาต้องการไม่ จะจำหนีไปซุกซ่อนตาย เสียดีกว่า คิดแล้วก็ลงจากปราสาทเที่ยวไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล ๒ ต้น มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น

"แผ่น ๕ ว่า นางนกอินทรีเมียจึงถามว่า พรุ่งนี้เราจะไปหา อาหารที่ไหน นกอินทรีผัวตอบว่า พรุ่งนี้ครบ ๗ วันที่ท้าวกบิลพรหม ถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหม ก็จะตัดศีรษะเสีย เราจะได้กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร นางนกอินทรีเมีย ถามว่า เจ้ารู้จักปัญหานั้นหรือไม่ นกอินทรีผัวตอบว่า รู้ แล้วก็เล่า ให้นกอินทรีเมียฟังแต่ต้นจนปลายว่า ข้อหนึ่ง เวลาเช้าศรีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า ข้อหนึ่งเวลาเที่ยงศรีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ข้อหนึ่งเวลาอัสดง ศรีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลกุมารนอน อยู่ใต้ต้นไม้ ได้ยินก็จำได้ มีความโสมนัสเป็นอันมาก จึงกลับมาสู่ เรือนของตน
"แผ่น ๖ ว่า ครั้งวารเป็นคำรบ ๗ ท้าวกบิลพรหมจึงลงมา ถามปัญหา ๓ ข้อแก่ธรรมบาลกุมาร ธรรมบาลกุมารก็วิสัชนาปัญหา ตามนกอินทรีกล่าวนั้น ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทวธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบริจาริกาพระอินทร์ คือ นางทุงษ ๑ นางรากษส ๑ นางโคระ ๑ นางมณฑากิณี ๑ นางมณฑา ๑ นางมิศระ ๑ นางมโหธร ๑ อันโลกสมมติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์กับเทพบรรษัทมาพร้อม กันแล้ว ท้าวกบิลพรหมก็บอกว่า พระเศียรเรานี้จะตัดออกบูชา ธรรมบาลกุมารบัดนี้ ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดินก็เป็นไฟไหม้ทั่วโลกธาตุ ถ้าจะทิ้งขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็ จะแห้ง เจ้าทั้งเจ็ดจงเอาพานมารับเศียรบิดา แล้วท้าวกบิลพรหม ก็ตัดพระเศียรส่งให้นางทุงษ บุตรผู้ใหญ่ ในขณะนั้นโลกธาตุก็เกิด โกลาหลยิ่งนัก
"แผ่น ๗ ว่า เมื่อนางทุงษมหาสงกรานต์เอาพานรับพระเศียร ท้าวกบิลพรหมบิดา แล้วให้เทพบรรษัทแห่ประทักษิณเวียนรอบ เขาพระสุเมรุราช ๖๐ นาที แล้วก็เชิญเข้าประดิษฐานในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาส กระทำบูชาด้วยเครื่องทิพต่าง ๆ แล้ว พระเวศกรรมก็นฤมิตโรงแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ ชื่อภัควดี ให้เทพยดาและนางฟ้านั่ง แล้วเทพยดาก็นำมาซึ่งเถาฉนุมุนาศลงล้างน้ำในอโนดาตสระ ๗ ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์ ครั้งถึงวารกำหนดครบ ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่าปีหนึ่งเป็นวัน สงกรานต์ นางเทพธิดาทั้ง ๗ องค์ก็ทรงเทพพาหนะต่าง ๆ ผลัดเวรกัน มาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่พร้อมด้วยเทพบรรษัท- แสนโกฏิประทักษิณเขาพระสุเมรุราชบรรพตทุกปีแล้วก็กลับไป เทวโลก”
เศียรของท้าวกบิลพรหมจะว่าไปแล้วก็คือดวงอาทิตย์นั่นเอง คำว่า "กบิล” ในชื่อของท้าวกบิลพรหม แปลว่า สีแดง ซึ่งหมายถึง ดวงอาทิตย์ ส่วนพระธิดาทั้งเจ็ดก็คือวันทั้งเจ็ดในสัปดาห์ วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันใด ก็เป็นหน้าที่ของธิดาองค์นั้นที่จะเป็นผู้อัญเชิญพระเศียรของพระบิดาแห่รอบเขาพระสุเมรุ
วันอาทิตย์
นางสงกรานต์ชื่อนางทุงษะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับ ปัทมราค (พลอยสีแดง/ทับทิม) ภักษาหารมะเดื่อ อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ ทรงพาหนะบนหลังครุฑ
วันจันทร์
นางสงกรานต์ชื่อนางโคราคะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า ทรงพาหนะบนหลังเสือ
วันอังคาร
นางสงกรานต์ชื่อนางรากษส ทัดดอกบัว เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธขวาตรีศูล ซ้ายธนู ทรงพาหนะบนหลังสุกร
วันพุธ
นางสงกรานต์ชื่อนางมณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับ ไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า ทรงพาหนะ บนหลังลา
วันพฤหัสบดี
นางสงกรานต์ชื่อนางกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับ มรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน ทรงพาหนะบนหลังช้าง
วันศุกร์
นางสงกรานต์ชื่อนางกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับ บุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำอาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ ทรง พาหนะบนหลังมหิงสา
วันเสาร์
นางสงกรานต์ชื่อนางมโหธร ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับ นิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรีศูล ทรงพาหนะ บนหลังนกยูง
ทั้งนี้นางสงกรานต์จะมีอิริยาบถต่าง ๆ บนพาหนะที่ทรงมา ได้แก่ ยืน นั่ง นอนลืมตา และนอนหลับตา อิริยาบถของนางสงกรานต์ เหล่านี้สัมพันธ์กับการคำนวณเวลาในการเข้าสู่วั นมหาสงกรานต์ตาม โหราศาสตร์ อีกทั้งยังมีความเชื่อมาแต่โบราณอีกด้วย ถ้าหากนาง สงกรานต์ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ ถ้านางสงกรานต์นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตาย และเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ ถ้านาง สงกรานต์นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข ถ้านางสงกรานต์ นอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
ด้านคำทำนายเกี่ยวกับวันมหาสงกรานต์ว่าหากตรงกับวันไหน จะให้ผลอย่างไร ก็ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านชาวเมืองอยากรู้หากปีนั้นวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์ พืชพรรณธัญญาหารไม่สู้งอกงามนัก วันจันทร์-ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะเรืองอำนาจวันอังคารและวันเสาร์-โจรผู้ร้ายจะชุกชุมเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง วันพุธ-ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ วันพฤหัสบดี -ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย วันศุกร์-พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุ พัดแรง ผู้คนเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก

ตำนานสงกรานต์นี้ใช้อธิบายความเป็นมาของประเพณี สงกรานต์ในประเทศไทย มีหลากหลายสำนวนว่ากันไปตามบริบท ของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ตามกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้น ทะเบียนตำนานสงกรานต์ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ของชาติในสาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน สิ่งนี้เองที่จะช่วยรักษาหลักใหญ่ใจความสำคัญของตำนานเก่าแก่เรื่องนี้ไว้ เพราะทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางแง่มุมของตำนานสงกรานต์ถูกนำไปผูกโยง เข้ากับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ บางจังหวัด นำไปเป็นแนวคิดในการออกแบบขบวนแห่แหนรอบเมืองเพื่อความรื่นเริง ตลอดจนการจัดการประกวดนางสงกรานต์ ซึ่งทำให้ เห็นได้ว่า ตำนานเกี่ยวกับสงกรานต์แม้ถูกปรับเปลี่ยนช่องทาง การบอกเล่าไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงมีความรับรู้ของคนในสังคม อย่างต่อเนื่อง