สงกรานต์ การละเล่นเย็นฉ่ำ
วิถี วัฒนธรรมอันโยงใย
เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณี วันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี
ปัจจุบันแม้ไทยเราจะนับวันที่ ๑ มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยม แต่ด้วยลักษณะพิเศษและกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน การอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทย ๆ ที่เป็นเทศกาลแห่งความเอื้ออาทร เกื้อกูลผูกพันซึ่งกันและกัน
ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะตรงกับวันที่ ๑๓ ๑๔ และ ๑๕ เมษายนของทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่องกันเพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังถิ่นฐานของตน เพื่อไปร่วมทำบุญ เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่บุพการี และเล่นสนุกสนานกับครอบครัว เพื่อนฝูง
นอกจากไทยแล้ว หลาย ๆ ประเทศอย่างพม่า กัมพูชา ลาว รวมถึงชนชาติไทยเชื้อสายต่าง ๆ ในจีน อินเดีย ต่างก็ถือตรุษสงกรานต์เป็นประเพณีฉลองปีใหม่เช่นเดียวกับเรา เพียงแต่ในประเทศไทยได้มีการสืบสานและวิวัฒนาการประเพณีสงกรานต์จนมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่มีความพิเศษ จนแม้แต่ชาวต่างชาติก็ยังให้ความสนใจและรู้จักประเพณีนี้เป็นอย่างดี
ความหมายของคำว่า "สงกรานต์”
คำว่า "สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตแปลว่า "ก้าวขึ้น” หรือ "ผ่าน” หรือ "เคลื่อนย้าย” หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง เช่น การเคลื่อนจากราศีสิงห์ไปสู่ราศีกันย์ ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกเดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นว่าเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเมื่อใดก็ตามก็จะเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า "มหาสงกรานต์” อันหมายถึง การก้าวขึ้นครั้งใหญ่ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญ เพราะถือว่าวันนี้เป็นวันปีใหม่ตามคติพราหมณ์ โดยเป็นการนับทางสุริยคติซึ่งจะตกในราววันที่ ๑๓ ๑๔ หรือ ๑๕ เมษายน ซึ่งแต่ละวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้
วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์” หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่น ๆ จนครบ ๑๒ เดือน
วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า "วันเนา” แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปี เข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว
วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มปีศักราชใหม่ การกำหนดให้อยู่วันนี้ ก็เพื่อให้แน่ใจว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษแล้วอย่างน้อย ๑ องศา
ทั้งสามวันนี้ ถ้าหากดูตามประกาศสงกรานต์ อันเป็นการคำนวณตามหลักโหราศาสตร์จริง ๆ แล้ว ก็จะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายนแต่เพื่อให้จดจำได้ง่าย และไม่สับสน จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้น
"สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป. ลาว)” ดินแดนแห่งนี้ยังคงมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเป็นจำนวนมากมาสัมผัส ด้วยการยึดถือและปฏิบัติในขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดเรื่อยมา จึงทำให้คลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาสัมผัสวัฒนธรรม จึงมักจะเลือกสปป. ลาวเป็นอันดับต้น ๆ ใน "กุดสงกรานต์” หรือ "สงกรานต์ลาว” โดยจัดขึ้น ๔ วัน ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๗ เมษายน
ในวันแรกนั้นจะเรียกว่า "วันสังขารล่วง” ชาวหลวงพระบางจะทำความสะอาดบ้านเรือนเช่นเดียวกับชาวไทย แต่จะแตกต่างกันในช่วงเย็นนั้นจะมีการลอยกระทงริมน้ำโขง ซึ่งภายในจะบรรจุผลไม้ ดอกไม้ ธูปเทียน ผมและเล็บของผู้ลอย เพื่อเป็นการอธิษฐานให้ทุกข์โศกโรคภัยลอยไปกับกระทง คล้าย ๆ กับช่วงลอยกระทงในบ้านเรา
วันที่สอง เรียก "วันเนา” ซึ่งช่วงเช้ามีการแห่รูปหุ่นเชิดปู่เยอ ย่าเยอ และสิงห์แก้ว สิงห์คำ ซึ่งเป็นเทวดาที่ชาวหลวงพระบางให้ความนับถือ ช่วงบ่ายขบวนแห่ซึ่งนำโดยปู่เยอ ย่าเยอ ผู้เฒ่าผู้แก่ หัวหน้าหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ขบวนพระสงฆ์ นางสังขาร ขี่สัตว์พาหนะบนรถแห่ปู่เยอย่าเยอก็จะฟ้อนรำอวยพรลูกหลาน
วันที่สาม "วันสังขารขึ้น” ซึ่งเป็นวันปีใหม่ ชาวหลวงพระบางจะทำข้าวเหนียวนึ่ง และขนมลูกกวาดพากันเดินขึ้นพูสี ภูเขาสูงกลางเมืองหลวงพระบาง ระหว่างเดินจะวางข้าวเหนียว และขนมไว้ตามหัวเสาบันไดจนถึงองค์พระธาตุ วิธีนี้เรียกว่าเป็นการตักบาตรพูสี มีการโยนข้าวเหนียวลงป่าข้างองค์พระธาตุเป็นการให้ทาน ช่วงบ่ายก็จะมีขบวนแห่นางสังขาร และอัญเชิญศีรษะท้าวกบิลพรหมจากวัดเชียงทองไปยังวัดวิชุน
วันที่สี่ เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ซึ่งชาวหลวงพระบางจะอัญเชิญพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองออกมาให้ชาวเมืองสรงน้ำเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ก่อนอัญเชิญกลับไปประดิษฐ์สถานยังสถานที่เดิม
"สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่า)” เรียกการละเล่นสงกรานต์ว่า "ตะจังเหย่ตะเบงบะแวด่อ” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เหย่บะแวด่อ” (คำว่า เหย่ แปลว่า "พิธีน้ำ” ส่วน บะแวเด่อ แปลว่า "เทศกาล”) ในช่วงสงกรานต์นี้ประเทศพม่าจะถือให้เป็นวันหยุดแห่งชาติ ซึ่งหยุดติดต่อกันยาวนานหลายวัน โดยพม่าจะจัดสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ ๑๔ - ๑๖ เมษายนเป็นต้นไป เหมือนกับของไทยเรา สงกรานต์ในอดีตของพม่านั้นมีเพียงการพรมน้ำในขันเงิน โดยใช้กิ่งมะยมจุ่มน้ำ และพรมเพียงเบา ๆ เท่านั้น ต่อมาเริ่มมีการสาดน้ำ กันเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ชาวพม่าจะออกมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานจนบางครั้งอาจเกินขอบเขตความพอดี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พม่าก็มีข้อกำหนดในการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเล่นน้ำแบบพิเรน ลวนลามผู้หญิง หรือแม้แต่เรื่องทะเลาะวิวาท หากเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น นั้นหมายถึงคุณ กำลังทำในสิ่งที่ผิดกฏหมาย
ส่วนในวันที่ ๑๗ เมษายน ชาวพม่าตั้งแต่เด็กไปกระทั่งคนหนุ่มสาวจะนุ่งโสร่ง ใส่ผ้านุ่งอย่างสวยงามเพื่อนำ "ลูกขนมลอยน้ำ” หรือ "ม่งโลงเหย่บ่อ” ขนมประจำเทศกาล พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะบูชาเจดีย์ของแต่ละเมืองในพม่า แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของพม่า ไม่ว่าจะมีวัฒนธรรมที่ทันสมัยกล้ำกรายมากมายแค่ไหน แต่คนในชาติยังรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตน
"ราชอาณาจักรกัมพูชา” งานสงกรานต์ของชาวกัมพูชาจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งการเฉลิมฉลองนี้จะกินระยะเวลา ๓ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ – ๑๖ เมษายน โดยในวันแรกถือเป็นวันมหาสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ และตามธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละวันนั้น วันแรกจะเป็นวันแห่งการทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัด เพื่อเตรียมก่อเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันครอบครัวที่ลูก ๆ จะอยู่กับพ่อแม่ อาจจะมีการให้เงินหรือซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้เป็นของขวัญ ส่วนในช่วงหัวค่ำก็จะช่วยกันก่อเจดีย์ทรายและวันที่สามจะมีการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ที่นิยมเห็นจะเป็นการโยนลูกบอลที่คล้าย ๆ การโยนสะบ้า จากนั้นก็จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งโดยรวมแล้วประเพณีส่วนใหญ่ก็จะคล้ายคลึงกันกับในประเทศไทยเรา
"สาธารณรัฐอินเดีย” ก็มีเทศกาลหนึ่งที่คล้ายคลึงกันกับเทศกาลสงกรานต์ หรือเรียกได้ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่อินเดียก็ว่าได้ นั่นคือเทศกาลโฮลี (Holi Festival) หรือ เรียกกันว่า "วันโฮลี” เป็นเทศกาลที่ฉลองกัน หลังจากวันที่พระจันทร์เต็มดวงในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการฉลองให้กับความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน และการเก็บเกี่ยว ถือได้ว่าเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ สมาชิกทุกคนในบ้านจะต้องกลับไปร่วมงาน เพื่อเฉลิมฉลองกับครอบครัว โดยวันก่อนเทศกาลโฮลี ๑ วัน คือวันที่พระจันทร์เต็มดวงก็จะมีการจุดกองไฟกองใหญ่ในแต่ละชุมชน ถือได้ว่าเป็นการเผาสิ่งชั่วร้าย และวิญญาณร้ายต่าง ๆ เชื่อกันว่าพิธีนี้จัดขึ้นเพื่อหญิงที่แต่งงานแล้วมีลูกชายเท่านั้น เนื่องจากการบูชานี้จะทำเพื่อสร้างสิริมงคล และปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกจากลูกชาย
โดยพิธีนี้ยังเหมาะกับชายหญิงที่เพิ่งแต่งงานและยังไม่มีลูก เพื่อเป็นการบูชาขอลูกชายในเทศกาลนี้อีกด้วย ต่อมาวันหลังจากพระจันทร์เต็มดวงก็จะมีการเล่นสีบ้างก็สาดน้ำกัน และในวันนี้เองที่ชาวอินเดียจะเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานเต็มที่ มีการร้องรำทำเพลงกัน ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาชายหนุ่มชาวอินเดียเป็นอย่างมาก โดยคนอินเดียในปัจจุบัน เมื่อถึงเทศกาลโฮลีก็จะกลับบ้าน ไปหาครอบครัว มอบของขวัญให้กันและกัน อันแสดงถึงความมั่นคง และความรักสามัคคีแห่งสถาบันครอบครัวอย่างเหนียวแน่น โดยอาศัยเทศกาลโฮลีเป็นห้วงเวลาแห่งการแสดงออกซึ่งความรักสามัคคีแห่งสถาบันครอบครัว
"สาธารณรัฐประชาชนจีน” ก็มีเทศกาลสาดน้ำคลายร้อนเช่นเดียวกัน วันสาดน้ำ เป็นเทศกาลที่มีมา แต่ดั้งเดิมของชนเผ่าไต อาชาง เต๋ออ๋าง ปู้หล่าง และหว่า ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยชนเผ่าไตเรียกปีใหม่ว่า "จิงปีใหม่” ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการสับเปลี่ยนระหว่างปีเก่าและปีใหม่ตามปฏิทินของชาวไต ตรงกับกลางเดือนเมษายน หรือเดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติของเผ่าไตโดยมีระยะเวลา ๓ - ๕ วัน
ในวันแรกของเทศกาล ผู้คนจะจัดดอกไม้สดไปไหว้พระที่วัดตั้งแต่เช้าตรู่ และก่อเจดีย์ทราย ๔ - ๕ องค์แล้วนั่งล้อมรอบเจดีย์ฟังเทศน์ หลังจากนั้นก็อันเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานกลางแจ้ง และสตรีในหมู่บ้านก็จะหาบน้ำใสสะอาดมาสรงพระ จากนั้นหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็สาดน้ำ เล่นกันอย่างสนุกสนาน เนื่องจากเชื่อว่า เป็นน้ำสิริมงคลและเป็นการสาดน้ำ อวยพรแก่กัน นอกจากสาดน้ำแล้ว ยังมีกิจกรรมร่วมร้องรำทำเพลง เต้นระบำตามจังหวะเพลงกลองพื้นเมืองบางคนเต้นระบำนกยูงรำแพนสร้างบรรยากาศสนุกสนานครื้นเครงอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีการแข่งเรือและจุดบั้งไฟในยามค่ำคืน โดยช่วงวันสาดน้ำนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวพบปะทำความรู้จัก คุ้นเคยกัน หรือ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการหาคู่ก็ว่าได้โดยจะมีการโยนลูกช่วง ซึ่งเป็นรูปแบบแสดงความรักอย่างหนึ่งของหนุ่ม ๆ สาว ๆ ชาวไตในการเลือกคู่ และคล้ายคลึงกันกับชาวไตบนที่ราบสูงของไทยที่มักจะจัดการละเล่นโยนลูกช่วงในเทศกาลปีใหม่


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของการละเล่นกับสายน้ำที่มีต้นสายปลายเหตุไม่ต่างกันนัก แม้จะ แตกต่างกันด้วยชนชาติ ภาษา หากแต่เราก็ยังคงชุ่มฉ่ำเปียกปอนไปด้วยสายน้ำและเย็นชื่นฉ่ำแบบเดียวกัน หากมองให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ สิ่งที่คล้ายคลึงกันเกือบทุกประเทศ นั่นคือสงกรานต์เป็นการละเล่นที่มีนัยสำคัญแฝงอยู่ ในการทำให้ผู้คนทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา ได้ใช้เวลาร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัว เป็นการปลูกฝังให้รู้จักการกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ รวมไปถึงการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป เมื่อเวียนมาถึงเทศกาลสงกรานต์อีกหน อย่ามัวแต่เล่นน้ำกันจนเพลิน กลับไปรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตัวคุณ