มนุษย์มีวิวัฒนาการ ดนตรีก็มีการพัฒนาไปตามมนุษย์ เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและอยู่คู่กับมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย จากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในโลกใบนี้ รวมถึงความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ อาหารการกิน การดำรงชีพ และการนับถือศาสนา ทำให้ดนตรีมีความหลากหลายแตกต่างกันไป มีการจัดจำแนกคุณลักษณะเฉพาะเป็นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี เครื่องเป่า เครื่องลมไม้ เครื่องลมทองเหลือง เครื่องลิ่มนิ้ว ฯลฯ มีวิธีการบรรเลงเครื่องดนตรีและวิธีการขับร้องที่แตกต่างกันไป มีการสืบทอด ส่งต่อ เป็นวัฒนธรรมการดนตรีของแต่ละชาติพันธุ์
ดนตรีไทยเป็นวัฒนธรรมแขนงหนึ่ง สามารถบ่งชี้ถึงเอกลักษณ์ประจำชาติและความเป็นไทย ได้อย่างชัดเจน วัฒนธรรมดนตรีของไทยมีคุณลักษณะเฉพาะพิเศษแตกต่างไปจากวัฒนธรรมดนตรีของชนชาติอื่น องค์ประกอบของดนตรีในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นจังหวะ ทำนอง สีสันของเสียง การประสานเสียง คีตนิพนธ์ ล้วนมีลักษณะแตกต่างไปจากดนตรีของชาติอื่นทั้งสิ้น
ดนตรีไทยจำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ดนตรีไทยตามแบบแผนและดนตรีไทยพื้นบ้าน เช่น
- ภาคเหนือ วงสะล้อซอซึง วงปี่ชุม วงแห่กลองตึ่งโนง วงกลองสะบัดชัย วงกลองปูเจ่ ฯลฯ
- ภาคอีสาน แคนวง แคนวงประยุกต์ วงโป่งลาง วงพิณ วงกลองยาวอีสาน ฯลฯ
- ภาคกลาง วงดนตรีไทยตามแบบแผน ประกอบไปด้วย วงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ และวงมโหรี
- ภาคใต้ วงกาหลอ วงรองเง็ง วงโต๊ะครึม วงดนตรีมโนราห์ วงดนตรีหนังตะลุง ฯลฯ
ในยุคสมัยแรก ๆ การถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีไทย อยู่ในรูปแบบของมุขปาฐะ คือการบอกเล่าให้จำ ทำให้ดูแล้วทำตาม สังเกต จำแบบ (ครูพักลักจำ) ฯลฯ สถานที่ให้ความรู้ หรือศูนย์รวมแหล่งความรู้มีอยู่ ๓ แหล่งหรือ ๓ สายด้วยกัน คือ สายบ้าน สายวัดและสายวัง ต่อมาดนตรีไทยสายวังได้สลายไปพร้อมกับ การเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง ดนตรีไทยสายวัดถูกจำกัดด้วยกฎวินัยสงฆ์ เหลือแต่เพียงดนตรีไทยสายบ้านเท่านั้น ยังคงมีบทบาทและทำหน้าที่ในการสืบทอดอยู่
เมื่อมีการจัดการศึกษาตามอย่างของตะวันตก สถานศึกษาเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคม ส่งเสริมให้คนรู้จักการเสาะแสวงหาความรู้ และนำความรู้ไปพัฒนาให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความรู้ต่าง ๆ รวมศูนย์อยู่ในสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ปัจจุบันสถานศึกษาในระดับชั้นต่าง ๆ ในระบบและนอกระบบ องค์กรของรัฐ องค์กรของเอกชน ชมรมฯ มูลนิธิฯ และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทย ได้เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์สืบทอดดนตรีไทยในหลายรูปแบบมากขึ้น
ดนตรี มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก มีผลสรุปที่ชัดเจน อ้างอิงจากงานวิจัยจากทั่วโลกในหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ดนตรีสามารถพัฒนาผู้เรียนทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ช่วยในการประสานงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ความสามารถทางเห็น การได้ยิน สร้างสมาธิ ความจำ เชาว์ปัญญา และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
จากการไหลบ่าทางวัฒนธรรมของชาติตะวันตกเข้ามาสู่ประเทศไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบันส่งผลให้เกิดค่านิยมในการเรียนดนตรีสากล เยาวชนคนรุ่นใหม่ของชาติหันหลังให้กับการศึกษาด้านดนตรีไทย โดยให้เหตุผลว่า เชย ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ในชีวิตประจำวัน สื่อสารมวลชน รายการทีวี วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ มีแต่รายการประกวดขับร้องเพลงสากล เพลงไทยสากล ประกวดวงดนตรีสากลสารพัดแชมป์
ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง นำไปสู่ระบบการจัดการทางด้านการศึกษา แบบไทย ๆ เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการจัดการศึกษา ระหว่างโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนนอกเมือง โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ ปัจจุบัน เมื่อมีนโยบายให้โรงเรียนเน้นความเป็นวิชาการโดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ ลดความสำคัญของวิชาสายสังคมศาสตร์ เริ่มจากการยุบและควบรวม วิชาทัศนศิลป์ วิชาดนตรี และวิชานาฏศิลป์ รวมเป็นกลุ่มสาระศิลปะ จาก ๓ ชั่วโมงต่อ ๑ สัปดาห์ เหลือเพียง ๑ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยน้อยลงไปอีก จะเห็นได้ว่า ศิลปการด้านดนตรีไทย อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญยิ่งของชาติ ถูกลดทอนความสำคัญลงตั้งแต่ระดับรากหญ้า รากหญ้าของเราคือเยาวชน เยาวชนคือคนรุ่นใหม่ เมื่อไม่สร้างที่เยาวชน ผลที่เกิดในภายภาคหน้าคงไม่ต้องอธิบาย ดนตรีไทยของคนไทยคงถูกแทนที่ด้วยดนตรีสากลตามอย่างชาติตะวันตก เป็นแน่แท้
จากการสำรวจสภาวการณ์ การส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน ในสถานศึกษา พบว่า โรงเรียนส่วนมากขาดความพร้อมในด้านการจัดการ เริ่มจากนโยบายของผู้บริหาร ไม่เอาดนตรีไทย ไม่ส่งเสริมและไม่สนับสนุน ให้เรียนเฉพาะวิชาดนตรีตามหลักสูตรแกนกลาง ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ใช้เหมือนกันทั่วประเทศ คือ เรียนดนตรีในกระดาษ ไม่มีชั่วโมงปฏิบัติ
ครูผู้สอนวิชาดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน รวมถึงครูผู้สอนวิชานาฏศิลป์และทัศนศิลป์ ส่วนมากไม่ได้เรียนจบมาตามวิชาที่สอน เรียกว่าไม่ตรงวิชาเอกและไม่ตรงความถนัด แต่ต้องทำหน้าที่สอน ก็ต้องขวนขวายไปร่ำเรียนแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเอาเอง ท่ามกลางความขาดแคลนงบประมาณในการสนับสนุน ขาดเครื่องดนตรี ที่จะใช้เรียน ขาด ๆ ๆ ฯลฯ เป็นที่มาของคำว่า "ครูมือเปล่า” ขนาดครูยังมือเปล่า นักเรียนยิ่งไม่มีทางเลือก ได้เรียนเท่าที่สถานศึกษาจัดให้ และจากแบบสำรวจสภาวการณ์ การส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านในสถานศึกษา พบว่า ท่ามกลางความขาดแคลน ท่ามกลางวิกฤต ปัญหารอบด้าน กลับมีสถานศึกษาหลายแห่ง ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ใช้วิกฤตเป็นโอกาส สามารถใช้การบริหาร ใช้การจัดการ แก้ปัญหาได้อย่างน่าสนใจ นำพาโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อม ขาดทั้งครูบุคคลากร ขาดงบประมาณ ขาดสื่อการเรียนการสอน มาทำให้เกิดความพร้อมได้ และมีผลการปฏิบัติเป็นเชิงประจักษ์ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย นักเรียนทุกคน สามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยได้อย่างน้อย ๑ ชนิด สามารถออกแสดงได้ทั้งแบบเครื่องเดี่ยว แบบรวมวง และเข้าประกวดดนตรีไทยรายการต่าง ๆ สามารถนำมาขยายผลเป็นโรงเรียนต้นแบบ (Model) ทางด้านการจัดการศึกษาดนตรีในสถานศึกษา
กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายให้เด็กไทยทุกคนสามารถเล่นดนตรีไทยได้อย่างน้อยคนละ ๑ ชนิด กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงได้จัดทำกิจกรรมโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๑ ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว ลงสู่การปฏิบัติให้บังเกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนอง ความต้องการได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยอย่างตรงประเด็น
ดังนั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้กำหนดให้สถานศึกษาที่สนใจ ทั้งในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับขยายโอกาสทางการศึกษา สมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อเฟ้นหาโรงเรียนต้นแบบ (Model) ทางด้านการจัดการศึกษาดนตรีในสถานศึกษา
มีสถานศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน ๒๙๙ โรงเรียน จากการคัดเลือกตามเกณฑ์และตัวชี้วัดที่คณะกรรมการกำหนดขึ้น รวมถึงการลงภาคสนามไปดูของจริง ตามโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้นแบบเชิงประจักษ์ โดยมีโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่อง โครงการโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์จำนวน ๙ โรงเรียน ดังนี้
ระดับประถมศึกษา
ขนาดเล็ก |
โรงเรียนบ้านจันทึง |
จังหวัดชุมพร |
ขนาดกลาง |
โรงเรียนบ้านท่าชะอม |
จังหวัดอุทัยธานี |
ขนาดใหญ่
|
โรงเรียนอนุบาลปทุมธานี
|
จังหวัดปทุมธานี
|
ระดับขยายโอกาส |
|
|
ขนาดเล็ก |
โรงเรียนวัดลำเหย |
จังหวัดนครปฐม |
ขนาดกลาง |
โรงเรียนบ้านป่ากล้วย |
จังหวัดสุโขทัย |
ขนาดใหญ่
|
โรงเรียนสามเสนนอก (ประชาราษฎร์อนุกูล)
|
กรุงเทพมหานคร
|
ระดับมัธยมศึกษา |
|
|
ขนาดเล็ก |
โรงเรียนคีรีเวสรัตนเพียรอุปถัมภ์ |
จังหวัดตราด |
ขนาดกลาง |
โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี |
จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
ขนาดใหญ่ |
โรงเรียนพรหมานุสรณ์ |
จังหวัดเพชรบุรี |
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดทำโครงการโรงเรียนดนตรี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
จากการนำเสนอโมเดลโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ประจำปี ๒๕๖๑ ของโรงเรียน ในระดับประถมศึกษา ระดับขยายโอกาสทางการศึกษา และระดับมัธยมศึกษา เป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จำนวน ๙ แห่ง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้พิจารณา สรุปปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดทำโครงการโรงเรียนดนตรี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งความเหมือนและความแตกต่าง ดังนี้
ผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารและฝ่ายวิชาการ มองเห็นตรงกันถึงความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน ใช้การเรียน การสอนดนตรีไทยเป็นสื่อ มีการประชุมร่วมระหว่าง ผู้บริหาร ฝ่ายวิชาการ ครูผู้สอน กรรมการสถานศึกษา นำหลักการพัฒนาผู้เรียน มาสู่การกำหนดนโยบายในการบริหาร กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ การจัดการด้านบุคคลากร ด้านงบประมาณ รวมไปถึงการกำหนดรายวิชาดนตรีไทยลงในตารางเวลาเรียนแบบเต็มชั่วโมง ตลอดทั้งปีการศึกษา (๔๐ ชั่วโมง) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนการสอนในวิชาดนตรีไทย และยังได้กำหนดกิจกรรมดนตรีไทยไว้ในช่วงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ กำหนดกิจกรรมดนตรีไทยไว้ในชั่วโมงชุมนุมดนตรีไทย สนับสนุนการซ้อมดนตรีไทยในเวลาและนอกเวลาราชการ สนับสนุนกิจกรรมการแสดงที่เกี่ยวกับดนตรีไทย
ครูผู้สอน
ผู้บริหาร ฝ่ายวิชาการ ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษา ได้ร่วมวางแผนกำหนดอัตรากำลัง กำหนดภารกิจ ครูผู้สอนดนตรีไทย ครูผู้ช่วย ครูประจำชั้น วิทยากรภายนอก และภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนี้
๑) ครูผู้สอนดนตรีไทย เป็นกำลังหลักในการสอนดนตรีไทย ในชั่วโมงดนตรีไทย ในเวลาเช้าก่อนเข้าแถว ในชั่วโมงกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ในชั่วโมงกิจกรรมชุมนุมดนตรีไทย
๒) ครูผู้ช่วย ช่วยสอนในกรณีดูผู้เรียนเป็นรายบุคคล ช่วยคุมซ้อมดนตรีในช่วงเวลาต่าง ๆ
๓) ครูประจำชั้นทุกห้องเรียน ช่วยซ้อมดนตรีในช่วงเวลาเช้าก่อนเข้าเรียน
๔) วิทยากรภายนอก เป็นกำลังเสริม ช่วยเติมเต็ม
๕)ภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยสอนเสริม เติมเต็มตามภูมิปัญญา
ผู้เรียน
ครูผู้สอน จำแนกผู้เรียนออฃกเป็น ๓ กลุ่ม เก่ง กลาง และอ่อน เพื่อสะดวกในการเติมเต็ม ในรายบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเด็กพิเศษที่ต้องมีการเอาใจใส่เป็นกรณีเฉพาะ นอกจากสอนวิชาดนตรีแล้ว ยังต้องสอนคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไปในระหว่างเรียน โดยเฉพาะโครงการ "พี่สอนน้อง” เป็นการเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เรียน จากผู้รับเป็นผู้ให้ นักเรียนที่ผ่านโครงการเหล่านี้ จะมีความเข้าใจในเรื่องของกระบวนการการถ่ายทอด ทำให้เข้าใจวิถีของวิชาดนตรีไทยได้อย่างลึกซึ้ง
กรรมการบริหารสถานศึกษา/ชุมชน
ผู้บริหาร ฝ่ายวิชาการ ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน ได้ร่วมวางแผนในการจัดหาเครื่องดนตรี สื่อ วัสดุอุปกรณ์ ประกอบการเรียนการสอน ประสานขอวิทยากรภายนอกจากโรงเรียนใกล้เคียงหรือโรงเรียนเครือข่ายที่มีครูเอกดนตรีโดยตรง ติดต่อขอภูมิปัญญาที่อยู่ในท้องถิ่น ตลอดจนการระดมจัดตั้งกองทุนเช่นทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผู้บริหาร ประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน จากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งในระดับตำบล ระดับเทศบาล และระดับจังหวัด
องค์กรเอกชน
ผู้บริหาร ประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน จากชุมชน ห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรม องค์กรเอกชนต่าง ๆ
เครื่องดนตรีไทยและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
การสอนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ที่สำคัญคือต้องมีเครื่องดนตรีเพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน ทั่วถึง และมีราคาไม่แพง เครื่องดนตรีที่เหมาะกับนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น สามารถเรียงตามลำดับได้ ดังนี้
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ |
ขลุ่ยหลิบ ขลุ่ยเพียงออ ขับร้อง เป็นพื้นฐาน |
|
ถ้ามีความพร้อม จะตามด้วยอังกะลุง ขิม เครื่องตีบางชนิด
|
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ |
ขลุ่ยเพียงออ ขับร้อง เป็นพื้นฐาน |
|
ถ้ามีความพร้อม จะตามด้วยอังกะลุง ขิม เครื่องตีทุกประเภท
|
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ |
ขลุ่ยเพียงออ ขับร้อง เป็นพื้นฐาน |
|
ถ้ามีความพร้อม สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ทุกชนิด |
|
เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ฆ้องวงใหญ่ ซอด้วง |
|
ซออู้ จะเข้ ขิม ขลุ่ย อังกะลุง กลองยาว ฯลฯ |
ในท้ายสุด ผู้เรียนดนตรีไทยทุกคน มีความสุขสมวัย มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ในด้านบวก พัฒนาความสามารถทางการเห็น การได้ยิน สร้างสมาธิ ความจำ เชาว์ปัญญา อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
ติดตามอ่านโมเดลโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ประจำปี ๒๕๖๑ ทั้ง ๙ โรงเรียน จากเอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมในลำดับต่อไป
-------------------------------------------------------
ดร.สมชาย เอี่ยมบางยุง
โรงเรียนวัดบ้านไร่(ประชานุกูล)
ผู้ทรงคุณวุฒิในการจัดทำกิจกรรมโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑