ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยหรือสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง การปกครองและวัฒนธรรม "ดนตรี” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตามรูปแบบของสังคมไทย ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ค่านิยม และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนผ่านทางเสียง สำเนียง รูปแบบการบรรเลงและการประพันธ์เพลง
ดนตรีไทยหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ นับเป็นช่วงสำคัญที่น่าศึกษาในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ เราได้เห็นรูปแบบการพัฒนาดนตรีในสังคมไทยที่มีความเกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองที่ตอบสนองต่อ กลุ่มผู้ฟังที่หลากหลาย การเชื่อมโยงระหว่างดนตรีและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยสมัยใหม่นั้น มีความสำคัญในการอธิบายสังคมไทยและคนไทยในปัจจุบัน ดนตรีไทยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นกล่าวได้ว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่วงรัชกาลที่ ๔ - ๗ หรือก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น เป็นยุคเฟื่องฟูของดนตรีที่ดนตรีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดนตรีในสมัยนั้นนอกจากเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและต่าง ๆ แล้ว ยังได้รับใช้เจ้านายที่ถูกนำเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งมี ความมีหน้ามีตาของสังคมเจ้านายเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนาง ดนตรีจึงเป็นสิ่งที่นิยมทั้งในหมู่ของชนชั้นสูงและประชาชนทั่วไป ซึ่งกลุ่มชนชั้นสูงเหล่านี้สนับสนุนและเลี้ยงดูครูดนตรีและนักดนตรีฝีมือฉกาจไว้ในวังหรือในสังกัด รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาดนตรีไทยในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งการพัฒนา เครื่องดนตรี รูปแบบการวางเครื่องดนตรีในวงดนตรี รูปแบบเพลงทั้งเพลงสามชั้น เพลงเสภา เพลงเถา มีการพัฒนาเทคนิค ฯ วิธีการบรรเลงต่าง ๆ ทั้งวงปี่พาทย์ เครื่องสาย มโหรี และวงดนตรีพื้นบ้านอีกมากมายหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองคนฟังโดยเฉพาะกลุ่มเจ้านายในวังที่มีการประชันขันแข่งดนตรีด้วยกันตลอดเวลา กล่าวได้ว่าดนตรีไทยและนักดนตรีไทยในยุคนั้นได้รับสนับสนุนจากกลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ทำให้มีฐานะจนได้ยศศักดิ์เป็นถึง หลวง พระ และพระยา ภายใต้ "ระบบอุปถัมภ์” เช่น พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
การเปลี่ยนแปลงของดนตรีไทยหลัง ปีการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ควบคู่ไปกับระบอบการปกครองประชาธิปไตย ที่ดนตรีไทยและนักดนตรีในรั้วในวังไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านายหรือชนชั้นสูงอย่างเหมือนก่อน นักดนตรีฝีมือฉกาจเหล่านี้ได้กระจัดกระจายอยู่ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล หาทางอยู่ในสังคมด้วยการเล่นดนตรีเป็นอาชีพหลักเพื่อหาเลี้ยงชีพ การดนตรีระยะแรกหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้ มีความคึกคัก มีการเปิดสำนักดนตรีต่าง ๆ มากมายเพื่อมาแข่งขันกันตอบสนองกับความต้องการของผู้คนที่ต้องการดนตรีนอกจากนำมาเพื่อรับใช้พิธีกรรมแล้วยังต้องการให้ความบันเทิงแก่ผู้คน ครูดนตรี นักดนตรีของแต่ละสำนักต่างคิดค้นเทคนิคการบรรเลง แต่งเพลง ปรับวง และพัฒนาเครื่องดนตรีอุปกรณ์ดนตรีที่มีประสิทธิภาพ ในการบรรเลง มีการนำวงปี่พาทย์มาประชันกันเพื่อความสนุกสนานและเพื่อศักดิ์ศรีของแต่ละสำนัก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๐) อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกมีผลกระทบต่อสังคมและการเมืองไทย ดนตรีตะวันตกได้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติที่มีอารยธรรมที่มีส่วนเกี่ยวพันกับการเมือง การยึดครองประเทศของชาติมหาอำนาจในขณะนั้น ดังนั้นดนตรีไทยแบบเดิมหรือราชสำนักได้ถูกลดบทบาทลงจากนโยบายอาณัติหรือข้อบังคับทางวัฒนธรรม (Cultural mandate) ของทางรัฐบาลไทยเพื่อพยายามทำให้ดนตรีไทยมีความเป็นสากล ได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้น ได้มีการตั้งกฎการบรรเลงดนตรีให้นักดนตรีไทยแต่งตัวสุภาพ ห้ามนั่งเล่นดนตรีราบกับพื้นแบบสมัยก่อน ผู้บรรเลงดนตรีต้องมีประกาศนียบัตรวิชาชีพศิลปินที่ออกโดยกรมศิลปากรและ ต้องขออนุญาตก่อนทุกครั้งจึงจะสามารถบรรเลงที่ต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้มีความพยายามทำโครงการที่จะให้ดนตรีไทยสามารถเปลี่ยนไปใช้ระบบ ๑๒ เสียงแบ่งเท่า (twelve-tone equal temperament) แบบตะวันตก สนับสนุนการบันทึกโน้ตไทยเป็นโน้ตสากลแทนการท่องจำที่เป็นแบบเดิม ซึ่งนโยบายนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนมากมายทั้งแง่การพัฒนาดนตรีเพื่อความเป็นชาติที่มีอารยะและแง่การทำลายวัฒนธรรมดนตรีไทย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจลงนโยบายนี้ ได้ถูกยกเลิกและกลับไปใช้รูปแบบดนตรีเดิมในแบบราชสำนักอีกครั้ง
การเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกในประเทศไทยในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลางและตอนปลายมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนไปของดนตรีไทยและกลุ่มคนฟังดนตรีไทยมาก นโยบายของรัฐที่ต้องการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติโดยให้ดนตรีไทยมีความเป็นตะวันตกมากขึ้น จึงได้เกิดรูปแบบของเพลงชาติไทย เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย เพลงปลุกใจ เพลงรำวง เพลงเต้นรำ และเพลงตะวันตกต่าง ๆ ที่เข้ามา ในรูปแบบทั้งวงแบนด์ และวงออเครสตร้า ดนตรีที่เป็นที่นิยมช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรียกว่า ‘เพลงลูกกรุง’ เป็นรูปแบบเพลงและวงดนตรีที่มีเครื่องสายตะวันตกบรรเลงประกอบนักร้องที่ถ่ายถอดและบรรยายความรู้สึกของคนกรุงหรือสังคมเมือง ดนตรีไทยเป็นส่วนหนี่งในการบรรเลงสร้างเอกลักษณ์ของวงดนตรีนี้ทั้งการนำเครื่องดนตรีไทยไปร่วมบรรเลงประกอบในวง และการนำเพลงไทยเดิมไปเรียบเรียงใหม่และเปลี่ยนชื่อใหม่สำหรับการบรรเลงในวง เช่น เพลงนกเขาคู่รัก และจูบเย้ยจันทร์ มาจากเพลงไทยเดิมนกเขาขะแมร์ และเพลงแขกมอญบางขุนพรหม ชั้นเดียว นอกจากนี้อิทธิพลของดนตรีตะวันตกที่ได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในไทยอย่างเพลงคันทรี เพลงบลูส์ และเพลงร็อกตะวันตก (เช่น วงเดอะบีทเทิล เดอะชาโดว เอลวิส เพรสลี่ย์) ที่เข้ามาในไทยช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๑๕ มีผลต่อความนิยมดนตรีในไทยทำให้เป็นต้นแบบได้เกิดวงดนตรีไทยเพลงไทยประเภทเพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต เพลงร็อก และเพลงป็อบของไทยในยุคต่อมา การเข้ามาของดนตรีตะวันตกในไทยได้ทำให้ดนตรีไทยนั้นมีการผสมผสานและมีความหลากหลายมากขึ้น แต่กระนั้นสิ่งนี้ทำให้ดนตรีแบบราชสำนักและพื้นบ้านเดิมนั้นได้รับความนิยมน้อยลงบวกกับการที่ดนตรีเหล่านี้ไม่ได้มีการสื่อสารให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่จึงทำให้ไม่ได้เสียงตอบรับจากคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง พ.ศ. ๒๕๔๐ การว่าจ้างดนตรีไทยในงานและพิธีกรรมต่าง ๆ ซบเซาไม่ได้รับความนิยม ทำให้นักดนตรีไทยส่วนใหญ่ต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นหรือเข้าสังกัดสถาบันการศึกษาหรือกองดุริยางค์ทหารต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอด สิ่งนี้ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนดนตรีไทยราชสำนักและดนตรีพื้นบ้านจากระบบบ้านหรือสำนักดนตรีไปสู่ระบบของสถาบันการศึกษาเป็นสำคัญ
มิติใหม่ของดนตรีไทย
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยช่วงปลายศตวรรษ ๒๐ จนเข้าสู่ศตวรรษ ๒๑ นอกจากอิทธิพลของดนตรีตะวันตกและนานาชาติทำให้ดนตรีไทยมีการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีและสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทันสมัยนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ดนตรีไทยได้เปิดประตูไปสู่โลกยุคใหม่ การที่นักดนตรีรู้จักประยุกต์เทคโนโลยีทั้งไมโครโฟน (Microphone) แอมพลิไฟล์ (Amplifier) เครื่องผสมสัญญาณเสียง (Audio mixer) ในการบรรเลง อีกทั้งเทคโนโลยีการบันทึกเสียงและวีดีโอที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้นักดนตรีไทย ต้องคำนึงถึงเรื่องระบบเสียงและคุณภาพของเสียงในวงดนตรีมากขึ้น ทำให้นักดนตรีไทยต้องเรียนรู้ถึงการสื่อสารกับคนดูผ่านทางระบบเสียงและเทคโนโลยีดนตรีต่าง ๆ การใช้เครื่องซินทิไซเซอร์ (Synthesizer) ที่สามารถทำเสียงเลียนแบบเครื่องดนตรีไทยและเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ในโลกด้วยคีย์บอร์ด ทำให้เทคโนโลยีดนตรีและความรู้ด้านเทคนิคของเครื่องดนตรีไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญมากในการผลิตผลงานเพลงและการบรรเลงเพลงในปัจจุบันที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีจริง ในด้านสื่อมีเดียต่าง ๆ ได้ทำให้ดนตรีไทยเป็นที่รู้จักต่อสังคมในแง่มุมต่าง ๆ สื่อภาพยนตร์ เช่น ‘โหมโรง’ (The Overture) ได้สร้างปรากฏการณ์กระตุ้นสังคมไทยให้รับรู้ถึงการประชันดนตรีปี่พาทย์ของไทย จนทำให้ดนตรีไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้เทคโนโลยีสื่อประชาสัมพันธ์ดิจิตอลต่าง ๆ เช่น YouTube, Facebook และอื่น ๆ ได้ทำให้การรับรู้ดนตรีไทยในรูปแบบต่าง ๆ นั้นเข้าถึงมากขึ้น นักเรียนและคนทั่วไปสามารถเรียนรู้ดนตรี จากสื่อสาธารณะได้อย่างสะดวกและสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้ กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีดนตรีและสื่อมีเดียต่าง ๆ ทำให้นักดนตรีไทยได้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยที่เปลี่ยนไปตามโลกโลกาภิวัฒน์และโลกดิจิตอลที่การสื่อสารไร้พรมแดน
ดนตรีไทยร่วมสมัย ดนตรีไทยในปัจจุบัน
จากการที่สังคมไทยได้พัฒนาตามโลกสมัยใหม่จากการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกและชาติอื่น ๆ รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีดนตรี ทำให้คนดนตรีไทยบางกลุ่มได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับโลกปัจจุบัน นักดนตรีเหล่านี้พยายามต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยสมัยใหม่ พยายามคิดค้นปรับตัวเพื่อให้ดนตรีไทยสามารถเป็นที่ยอมรับเข้าถึงประชาชนมากขึ้นโดยมีการผสมผสานดนตรีไทยเข้ากับดนตรีตะวันตก และดนตรีชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงการประพันธ์เพลงที่มีแนวคิดหลากหลายที่อธิบายสังคม ปรัชญาและความเป็นไปของสังคมสมัยใหม่ แต่ในขณะเดียวกันต้องต่อสู้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐและนักดนตรีไทยแบบแผนราชสำนักถึงการไม่อนุรักษ์หรือทำลายวัฒนธรรมไทย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้คำว่า ‘ดนตรีไทยประยุกต์’ หรือ ‘ดนตรีไทยร่วมสมัย’ ได้ถือกำเนิดขึ้น วงดนตรีที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดวงดนตรีร่วมสมัยในไทยที่มีชื่อเสียง คือ ‘วงฟองน้ำ’ ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยอาจารย์บรูซ แกสตัน นักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวอเมริกันร่วมกับครูบุญยงค์ เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๑) ศิลปินเอกเจ้าของฉายา "ระนาดเทวดา” แห่งวงการดนตรีไทย จากนั้นมีวงดนตรีไทยร่วมสมัยเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากการรวมตัวของชาวดนตรีไทยจนถึงปัจจุบัน อาทิ วงกังสดาล วงบอยไทย ขุนอินแจ๊สออฟสยาม วงสไบ และวงกอไผ่ ซึ่งวงดนตรีเหล่านี้ได้นำเสนอผลงานดนตรีไทยในหลากหลายรูปแบบเพื่อที่จะนำดนตรีไทยออกไปสู่โลกภายนอกที่เหนือคำว่าดนตรีแบบแผนที่มีมา ซึ่งมีทั้งแนวป็อบ ร็อก แจ๊ส พื้นบ้าน หรือแม้แต่ดนตรีทดลอง (Experimental Music) อย่างวงกอไผ่ เป็นวงดนตรีไทยร่วมสมัย ที่พยายามนำเสนอผลงานดนตรีไทยออกมาหลายรูปแบบ ทั้งดนตรีไทยเดิม ป๊อบ ร็อก ดนตรีทดลอง มีการผสมผสานดนตรีไทยและดนตรีตะวันตกในรูปแบบเชิงปรัชญา การอธิบายดนตรีและวรรณกรรมไทย จวบจนการเรียบเรียงดนตรีไทยเดิมมาปรับเข้ากับเรื่องราวเหตุการณ์ปัจจุบันทำให้ดนตรี มีการสื่อสารกับประชาชนในโลกปัจจุบันมากขึ้น ในมุมหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าดนตรีร่วมสมัยอาจเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้ดนตรีไทยเป็นที่รู้จักและอยู่กับสังคมไทยเพราะดนตรีแนวนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่การบรรเลงหรือ สร้างเสียงเพลงแต่ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของความคิดและการสื่อสารถึงคนในสังคมไทยปัจจุบัน
จากที่กล่าวมาเรามองเห็นดนตรีไทยหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ จากรูปแบบดนตรีราชสำนัก พื้นบ้าน ลูกกรุง ลูกทุ่ง ไปสู่ความเป็นดนตรีไทยร่วมสมัยที่มีกลิ่นอายของดนตรีตะวันตกทั้ง ป็อบ ร็อก แจ๊ส และอื่น ๆ สิ่งที่น่าสนใจคือเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของดนตรีที่ไม่เคยอยู่นิ่งมีการปรับเปลี่ยนตามโครงสร้างของสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงตามการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความนิยมของคนไทยในแต่ละยุคสมัย เป็นที่น่าคิดถึงคำว่าอนุรักษ์หรือการรักษาความเป็นไทยที่เรามักพูดตามกันมาตามนโยบายของรัฐและการเมืองเพื่อสร้างความเป็นชาติไทย จริง ๆ แล้วคำคำนี้ค่อนข้างคลาดเคลื่อนจากความเป็นมาของดนตรีในสังคมไทย สิ่งที่เราเห็นดนตรีไทยจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคือ การปรับตัวของดนตรีและนักดนตรีในสังคมบนพื้นฐานของดนตรีที่สืบทอดต่อกันมา การผสมผสานความรู้ การรู้จักมองผู้อื่น มองสังคมที่เปิดกว้างในการสื่อสารและเรียนรู้ซึ่งกันและกันที่ก้าวไกลมากไปกว่า การรักษาความเป็นชาติไทย ดนตรีไทยในยุคสมัยใหม่นี้เราอาจไม่ได้เห็นความเป็นดนตรีแบบราชสำนักหรือพื้นบ้านโดยสมบูรณ์เหมือนในอดีต แต่สิ่งที่เราได้มานั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่าอนาคตของดนตรีที่เปิดกว้างและ เข้าไปสู่ความเป็นดนตรีเพื่อสังคมและประชาชนมากขึ้น
ดร.กฤษฏิ์ เลกะกุล อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย
สาขาวิชาศิลปะการดนตรีและการแสดง คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ทรงคุณวุฒิในการจัดทำกิจกรรมโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม