วธ.สนับสนุนผู้ประกอบการร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ โตเกียว 2024 - สารคดีนานาชาติ - SPORT MOVIES & TV 2024 สร้างมูลค่าให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย 3 ร้อยกว่าล้านบาท

     นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย 3 รายการ ตามนโยบายส่งเสริมซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาล และคณะกรรมการ THACCA ได้แก่ การขยายตลาดคอนเทนต์ไทยใน เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว (Tokyo International Film Festival 2024) เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ Ji.hlava IDFF ณ สาธารณรัฐเช็ก และ เข้าร่วมเทศกาล SPORT MOVIES & TV 2024 ครั้งที่ 42 ณ สาธารณรัฐอิตาลี สามารถขยายโอกาสทางธุรกิจและสร้างมูลค่าให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย 322 ล้านบาท
 
     นางสาวสุดาวรรณ กล่าว่า การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2024 เมื่อ 30 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งมีผู้กำกับภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์และนักแสดงของไทย โดยมีการจัดกิจกรรม Thailand Night เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการไทยและนานาชาติ และการสนับสนุนโปรเจกต์ภาพยนตร์ไทยใน Tokyo Gap – Finance Market ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารระดับสูงและบุคคลสำคัญจากวงการภาพยนตร์ทั่วโลก มีการเจรจาธุรกิจทั้งหมด 125 นัดหมาย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 322 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี และยังเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการทำข้อตกลงลิขสิทธิ์กับผู้ซื้อจากต่างประเทศ มีผลทำให้คอนเทนต์ไทยได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกและเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดภาพยนตร์ไทยในระดับนานาชาติ ทั้งยังช่วยสร้างภาพลักษณ์และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้รับการยอมรับ อย่างกว้างขวางในระดับสากล
 
     นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ Ji.hlava IDFF ณ สาธารณรัฐเช็ก ณ สาธารณรัฐเช็ก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2567 มีภาพยนตร์สารคดี A Journey to the Universe สร้างชื่อเสียงให้กับวงการภาพยนตร์ไทย ด้วยการคว้ารางวัล Cannes Docs - Marché du Film Award โดยมีคณะนำเสนอประกอบด้วย นายอนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย นางสาวพริมริน พัวรัตน์ ผู้กำกับภาพยนตร์ และ นางสาวสุภัชา ทิพเสนา โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ได้นำเสนอโปรเจกต์ต่อผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลก ซึ่งโปรเจกต์ A Journey to the Universe ได้รับความสนใจจากตัวแทนและนักลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์นานาชาติถึง 11 นัดหมาย โดยมีผู้แสดงความสนใจร่วมลงทุนถึง 4 ราย จากประเทศเนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สวีเดน และบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ระดับโลก Cinephil เป็นโอกาสให้ทีมผู้สร้างเข้าร่วมตลาดภาพยนตร์สารคดีในเทศกาลภาพยนตร์คานส์ และยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่น่าจับตามองระดับโลก (Cannes Spotlighted Project) ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันภาพยนตร์ไทยสู่เวทีโลก สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ
 
     และสร้างความน่าสนใจต่อภาพยนตร์สารคดีของไทยในระดับสากล และจากการสนับสนุนผู้ประกอบการ เข้าร่วมเทศกาล SPORT MOVIES & TV 2024 ครั้งที่ 42 ณ สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อวันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2567 งานเทศกาลระดับโลกที่มุ่งเน้นการส่งเสริมผลงานภาพยนตร์ด้านกีฬา รวบรวมผลงานภาพยนตร์ระดับโลกที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาในมิติที่หลากหลาย ประเทศไทยได้สร้างปรากฏการณ์อีกครั้งในเวทีนี้ ภาพยนตร์ไทยเรื่อง \"มวยไทยสายรุ้ง” คว้ารางวัล \"Mention D’Honneur” ในสาขาส่งเสริมด้านวัฒนธรรม จากเทศกาลดังกล่าว ด้วยเป็นภาพยนตร์ที่โดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องราวศิลปะมวยไทยในมุมที่ลึกซึ้ง ผสานวัฒนธรรมและประเพณีไทยอย่างลงตัว ผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงแค่สร้างความประทับใจให้ผู้ชม แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพอันยอดเยี่ยมของผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพระดับสากล นับเป็นโอกาสที่สำคัญในการส่งเสริมประเทศไทยให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก ด้วยความพร้อมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่การถ่ายทำที่มีความหลากหลาย และในด้านศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้อง นางสาวสุดาวรรณ กล่าว
« Back