สวธ.แจ้งการบำเพ็ญกุศล นายจิรัส อาจณรงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๕

     นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายจิรัส อาจณรงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๕ ได้ถึงแก่กรรม เนื่องจากปอดอักเสบติดเชื้อ ในวันอังคารที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ เวลาประมาณ ๑๖.๕๐ น. ที่โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ สิริรวมอายุ ๙๑ ปี โดยทายาทแจ้งว่าจะมีกำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันพุธที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๗.๓๐ น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ในเวลา ๑๘.๐๐ น. และระหว่างวันที่ ๒ - ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๘.๓๐ น. ณ ศาลา ๑ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
 
     อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการประกาศยกย่องเชิดชูศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ตลอดจนเผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แล้ว ในยามศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการฌาปนกิจศพ คือ มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ด้วย
 
     สำหรับประวัติของนายจิรัส อาจณรงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๕ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๔ เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ เชี่ยวชาญ และแม่นยำในทางขับร้องและทางบรรเลงทุกประเภท ทั้งเพลงหน้าพาทย์ เพลงในพระราชพิธี และเพลงประกอบการแสดงโขน ละคร และสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยได้ทุกเครื่องมือที่ชำนาญเป็นพิเศษ คือ ระนาดเอก และฆ้องวงใหญ่ พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ทำหน้าที่ครั้งสำคัญคือเป็นผู้ควบคุมวงปี่พาทย์ และเป็นผู้บรรเลงระนาดเอกในพิธีไหว้ครูและครอบครูโขน ละคร และพิธีพระราชทานต่อท่ารำเพลงพระพิราพ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานประพันธ์เพลงใหม่ ๆ เผยแพร่ต่อสาธารณชน ตามวาระโอกาสสำคัญต่าง ๆ ซึ่งได้รับความชื่นชมจากผู้ฟังเป็นอย่างดี เช่นเพลงศรีสุขมหามงคล ๓ ชั้น เพลงโหมโรงมหาสังข์ ๓ ชั้น และยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้อ่านโองการประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทยให้กับสถาบันต่าง ๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย และตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
 
     นายจิรัส อาจณรงค์ เป็นศิลปินอาวุโสที่เปรียบเสมือนคลังความรู้ให้กับนักดนตรีไทยในปัจจุบัน เป็นที่พึ่งให้คำปรึกษาแก่ศิลปินและครูดนตรีไทยมาโดยตลอด และวงการดนตรีไทยยอดรับนับถือในความรู้ ความสามารถทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นนักดนตรีไทย สามารถถ่ายทอดและสืบสานงานดนตรีไทยระดับสูงให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๕
« Back