จากบทกวีอันพลิ้วไหวของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สะท้อนถึงบรรยากาศอันแสนงดงามของการสืบสานประเพณีลอยกระทงของไทยเราตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ครั้นย่างเข้าเดือนสิบสองที่น้ำนองเต็มตลิ่ง คืนที่แสงจันทร์ส่องแสงนวลตาในวันเพ็ญเดือนสิบสองและลมหนาวก็เริ่มมาเยือน กิจกรรมทางวัฒนธรรมอันดีงามหนึ่ง คือ การร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีลอยกระทง ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดขึ้น ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด วันลอยกระทง ปีนี้ตรงกับวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ประเพณีลอยกระทง มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การลอยกระทง เป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชน ทั้งสุวรรณภูมิ หรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เพื่อขอขมาต่อธรรมชาติ อันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยง ตลอดจนพืช และสัตว์ที่เกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ "ผี” ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ มีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย
มนุษย์อุษาคเนย์รู้ว่าที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะน้ำและดินเป็นสำคัญ โดยมีน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิต เมื่อคนเรามีชีวิตอยู่รอดได้ ปีหนึ่ง จึงทำพิธีขอขมาที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (เช่น เหยียบย่ำ ขับถ่าย ทิ้งของเสีย สิ่งปฏิกูล และอาจทำสิ่งอื่นที่ไม่เหมาะสม) โดยใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ใส่เครื่องเซ่นให้ลอยไปกับน้ำ เช่น ต้นกล้วย กระบอกไม้ไผ่ ฯลฯ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คนเรารู้จักจากประสบการณ์ธรรมชาติ คือ สิ้นฤดูกาลเก่า เดือน ๑๒ ขึ้นฤดูกาลใหม่ เดือนอ้าย ตามจันทรคติ ที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลางเพราะเป็นสิ่งที่มีอำนาจทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง
สำหรับในประเทศไทยการลอยกระทงเป็นประเพณีที่ชาวไทยสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด เพราะในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัยก็ไม่มีปรากฏ ชื่อ"ลอยกระทง” แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ "เผาเทียน เล่นไฟ” ที่มีความหมายอย่างกว้างๆว่าการทำบุญไหว้พระ ส่วนราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำที่มีน้ำท่วมหลายเดือนจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญในการสร้างสรรค์ประเพณีเกี่ยวกับน้ำขึ้นมาให้เป็น "ประเพณีหลวง” ของราชอาณาจักร ดังมีหลักฐานตราไว้ในกฎมณเทียรบาล ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปประกอบพิธีทางน้ำ เพื่อความมั่งคงและมั่งคั่งทางกสิกรรมของราษฎรและขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อประกอบพระราชพิธีโดยเฉพาะ ครั้นเมื่อถึงสมัยรัชการที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองเริ่มมั่นคง การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น โดยเฉพาะกับจีน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฟื้นฟู ประเพณีพิธีกรรมสำคัญ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และด้วยความจำเป็นในด้านอื่นๆอีกจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมุติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิด
ประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเกิด กระทง ทำด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆแล้วนิยมใช้ลอยกระทงมาแต่คราวนั้น ประเพณีลอยกระทงที่ทำด้วยใบตองในระยะแรก จำกัดอยู่แต่ในราชสำนักกรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียดพรรณนาอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ ว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาองค์โปรดได้แต่งกระทงเล่นทุกปี เมื่อนานเข้าก็เริ่มแพร่หลายสู่ราษฎรในกรุงเทพแล้วขยายไปยังหัวเมืองใกล้เคียงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และกว่าจะเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วประเทศ ก็ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก
ประเพณีลอยกระทง นิยมทำกันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง เพราะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุดโดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น อาทิ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพุทธมารดา หรือเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ประทับรอยพระบาทประดิษฐานไว้บนหาดทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่บรรจุ พระเกศาของพระพุทธเจ้า เพื่อลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์ และ เพื่อสำนักบุญคุณของน้ำที่ได้นำมากินมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันรวมทั้ง ขอขมาลาโทษในการทำให้แหล่งน้ำนั้นๆไม่สะอาด
วัสดุที่นำมาใช้เพื่อลอยเป็นกระทงมีหลากหลายลักษณะ แต่ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆในบ้านเราก็จะเป็นกระทงที่ทำจากใบตอง ปักด้วยเทียน เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยแสงสว่าง เพราะหาง่ายและก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ภายในกระทงจะตั้งพุ่มทองน้อยธูป ๑ ดอก และเทียน ๑ ดอก กระทงแบบพราหมณ์ มีวิธีการทำแบบเดียวกับกระทงแบบพุทธ แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีเครื่องทองน้อย บางท้องถิ่นจะมีการใส่หมากพลู เงินเหรียญ หรือ ตัดเส้นผม ตัดเล็บมือ เล็บเท้าในกระทง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ในตัวจะเห็นได้ว่าประเพณีลอยกระทงนั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเรามีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับสายน้ำอย่างมาก เพราะน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ทั้งที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคอยู่เป็นประจำทุกวัน
เนื่องในโอกาส เทศกาลวันลอยกระทงที่จะมาถึงในวันพฤหัสบดีที่ ๖ ๒๕๕๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดพิมพ์หนังสือลอยกระทง Loy Kratong Fastival เผยแพร่สำหรับประชาชนทั่วไป ให้ร่วมกัน "รักษาวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม” เพื่อร่วมรณรงค์สร้างค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งตรงกับค่านิยมหลักข้อที่ ๕ อันเป็นภารกิจหลักของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริม สืบสาน อนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีอันทรงคุณค่าของไทย โดยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ ความหมาย คุณค่า สาระ แนวปฏิบัติ และองค์ความรู้ประเพณีลอยกระทงของท้องถิ่นทั้ง ๔ ภาคของประเทศไทย ตลอดจนขนบธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกต้องงดงามของประเพณีลอยกระทง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อม E-Book ที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน สามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการจัดกิจกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมได้
โอกาสนี้ สวธ.ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ดาวน์โหลดหนังสือลอยกระทงได้ที่ www.culture.go.th และร่วมกันสืบสานคุณค่าประเพณี ลอยกระทงให้คงอยู่คู่สังคมไทย โดยการใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและสายน้ำให้สะอาด อีกทั้งร่วมลอยกระทงออนไลน์กับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ที่ www.culture.go.th ในช่วงปีนี้น้ำน้อยเราจึงควรตระหนักในคุณค่าและใช้น้ำอย่างระมัดระวังให้เกิดประโยชน์สูงสุด
......................................................
บทความโดย : กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
โทร. ๐๒ ๒๔๗ ๐๐๒๘ ต่อ ๑๒๐๗ , ๑๒๐๘