
เรือกอและ คำว่า "กอและ” หรือ "กุแหละ” เป็นคำภาษามาลายู บางครั้งเรียกว่า "โกและ” หมายถึง พลิกไปพลิกมา ตะแคง โคลงแคลง ลักษณะ ที่โคลง ๆ ชาวมุสลิมใช้คำว่า "กอและ” ผสมกับคำว่าปาระฮู เป็น "ปาระฮูกอและ” ซึ่งหมายถึงเรือกอและนั่นเอง เรือกอและเป็นเรือประมงชายฝั่งขนาดเล็ก ในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี เรือกอและที่ใช้ใบในการขับเคลื่อนมีรูปร่างเพรียวยาว ต่อด้วยไม้กระดานโดยทำให้ส่วนหัวและส่วนท้ายสูง นิยมทาสีและเขียนลวดลายด้วยสีสันฉูดฉาดอย่างงดงาม
ลวดลายบนลำเรือกอและเป็นการผสมผสานระหว่างลายมลายู ลายชวา และลายไทย เช่น ลายกนก ลายบัวคว่ำ บัวหงาย ลายหัวพญานาค หนุมานเหินเวหา รวมทั้งลายหัวนกในวรรณคดี เช่น "บุหรงซีงอ” หรือ "สิงหปักษี” ซึ่งมีตัวเป็นสิงห์ หรือราชสีห์ ส่วนหัวเป็นนกคาบปลาไว้ที่หัวเรือ เชื่อกันว่ามีเขี้ยวเล็บและมีฤทธิ์เดชมาก ดำน้ำเก่ง จึงเป็นที่นิยมของชาวเรือกอและมาแต่อดีต งานศิลปะบนลำเรือเป็นเสมือน "วิจิตรศิลป์บนพลิ้วคลื่น” และยังเป็นศิลปะเพื่อชีวิตเพราะเรือกอและมิได้อวดความอลังการของลวดลายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องมือในการจับปลาเลี้ยงชีพชาวประมงด้วย จนกระทั่งกล่าวกันว่า "ลูกแม่น้ำบางนราไม่มีเรือกอและหาปลาก็เหมือนไม่ใส่เสื้อผ้า”
การตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ เป็นวัฒนธรรมทางศิลปะที่สำคัญ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวไทยภาคใต้ตอนล่าง ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แหล่งน้ำและทะเล ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพประมงเป็นหลัก เรือกอและเป็นพาหนะทางน้ำที่เป็นของคู่กับชาวประมง ถือเป็นเอกลักษณ์ในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ที่สามารถใช้ทำประมง ขนส่งสินค้าและนันทนาการ เรือกอและ มีความแตกต่างจากเรือประเภทอื่น ๆ ในเรื่องการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือ เรือกอและ เปรียบดั่งศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าชิ้นหนึ่ง มีสีสันฉูดฉาดสะดุดตา มีลวดลายประดิษฐ์ที่มีความประณีต ละเอียดอ่อนสวยงามยิ่ง
นอกจากนี้ เรือกอและยังเกี่ยวข้องกับประเพณีท้องถิ่น ทั้งพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม คือ ประเพณีแห่พระของภาคใต้จะมีชุมนุม เรือพระ มีงานฉลอง มีการแข่งขันเรือกอและอย่างสนุกสนาน ส่วนชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามก็จะมีวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันฮารีรายอ ซึ่งจะมีการละเล่น มีมหรสพครึกครื้น ตลอดทั้งมีการแข่งขันเรือกอและด้วย โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสได้ฟื้นฟูการแข่งขันเรือกอและหน้าพระที่นั่ง ชิงถ้วยพระราชทานเป็นประจำทุกปี มีประชาชนมาเฝ้า ฯ รับเสด็จ และชมการแข่งขันเรือกอและ ด้วยความสนุกสนาน ทำให้เกิดความรักความสามัคคีของประชาชนในท้องถิ่น ส่วนจังหวัดปัตตานีจัดให้มีการแข่งขันเรือกอและ เป็นงานประจำปีของงานแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยจัดแข่งขันเรือกอและ ในแม่น้ำปัตตานี เพื่อฟื้นฟูประเพณีการแข่งขันเรือกอและ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒