
ผ้าทอพุมเรียง เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ของตำบลพุมเรียง อำเภอ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวไทยมุสลิมที่อพยพมาจากเมืองสงขลา เมืองปัตตานี และเมืองไทรบุรี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูในหมู่เกาะอินโดนีเซีย เป็นผู้ถ่ายทอด ความรู้การทอผ้าที่ติดตัวมาด้วยวิธีการสังเกต จดจำ และฝึกฝนโดยไม่มีการจดบันทึก เป็นลายลักษณ์อักษร สั่งสมเป็นภูมิปัญญาและสืบทอดกันมาหลายชั่วคน จนเป็นที่ ยอมรับกันโดยทั่วไปในความสวยงามของลายผ้าและความประณีตของฝีมือการทอผ้า อันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้แตกต่างจากผ้าทอของภูมิภาคอื่น ๆ
รูปแบบของผ้าทอพุมเรียงเป็นผ้าทอยกดอก ด้วยไหม หรือ ดิ้นเงิน มีลวดลายสวยงาม เช่น ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และผ้ายกดอกลายเชิง เป็นต้น การทอผ้านี้ เป็นหน้าที่ของผู้หญิงทั้งชาวไทยมุสลิม ชาวไทยพุทธ เพื่อใช้สอยในครอบครัว โดยเฉพาะหญิงสาวที่จะออกเรือนจำเป็น จะต้องเรียนรู้วิธีการทอผ้า เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการแต่งงาน เช่น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ทำด้วยผ้า ผู้หญิงที่มีฝีมือในการทอผ้าจึงนับเป็นการแสดงถึงความเป็นกุลสตรีอย่างหนึ่ง
ผ้าทอพุมเรียง แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้าไหมปนฝ้าย ซึ่งกรรมวิธีในการทอผ้าเรียกว่า ยกดอก การทำให้เกิดลวดลายใช้วิธีเก็บตะกอลาย เช่นเดียวกับการทอขิด โดยการยกตะกอ เพื่อแยกเส้นด้ายยืน ให้ด้ายเส้นพุ่งผ่านไปเฉพาะเส้น จะยกครั้งละกี่เส้นก็ได้แล้วแต่ลวดลายที่ต้องการ เมื่อทอพุ่งกระสวยไปมาควบคู่กับการยกตะกอ จะเกิดเป็นลวดลายนูนขึ้นจากผืนผ้า ด้ายเส้นพุ่งนิยมใช้ดิ้นเงิน ดิ้นทองเพื่อเพิ่มความงดงาม ลวดลายดั้งเดิมที่นิยม เช่น ลายยกเบ็ด ลายดอกพิกุล ลายคชสีห์ ลายราชสีห์ ลายครุฑ ลายกินรี ลายเทพนม ลายเบญจรงค์ ลายศรีวิชัย ลายกริช ลายโบตั๋น ลายราชวัตร ลายก้านต่อดอก ลายผ้ายกเชิงครุฑ และลายนพเก้า ช่างฝีมือทอผ้าที่ตำบลพุมเรียง จะมีลวดลายต้นแบบที่ใช้เป็นตัวอย่างเก็บดอกผ้าเรียกว่า "ครูผ้า” อาจจะเป็นผ้าที่ปักด้วยไหม เป็นลวดลายต่าง ๆ หรือเศษผ้ายกที่ช่างทอเก็บไว้แต่เดิม
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒