
เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมของชาวภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงในงานหัตถกรรมชนิดนี้มากที่สุด มีกำเนิดจากการจักสานย่านลิเภาเป็นข้าวของ เครื่องใช้พื้นบ้าน ที่มีเอกลักษณ์สืบทอดจากบรรพบุรุษหลายร้อยปี จนกระทั่งเป็นที่รู้จักของคนเมืองหลวง เมื่อเจ้านายจากหัวเมืองใต้ นำขึ้นมาถวายในราชสำนักและเผยแพร่ในหมู่เจ้านายมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริ ให้สอนการสานย่านลิเภาในโครงการศิลปาชีพ มีการพัฒนารูปแบบได้อย่างสวยงามประณีต เป็นที่นิยม อย่างกว้างขวาง ทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และทั่วประเทศ นอกจากนี้ งานจักสานย่านลิเภา แสดงให้เห็นถึง ฝีมืออันประณีต ความอุตสาหะของช่างผู้ผลิต ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ครอบครอง หรือผู้เป็นเจ้าของ อีกด้วย
เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ ทำมาจากย่านลิเภาซึ่งเป็นพืช ในตระกูลเฟิร์น หรือเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง ภาษาไทยถิ่นใต้เรียกเถาวัลย์ว่า "ย่าน” ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีคือ ลำต้นเหนียว เหมาะกับนำมาจักสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ แหล่งผลิตสำคัญได้แก่ที่บ้านหม่น ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้พัฒนาเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
กระบวนการผลิตเครื่องจักสานย่านลิเภา เริ่มจากการนำย่านลิเภามาจักผิวเป็นเส้นๆ แล้วชักรีดให้ เส้นเรียบ เสมอกัน จากนั้นนำมาสานขัดกับตัวโครงที่ทำจากหวาย และไม้ไผ่ให้เป็นภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น กระเชอ เชี่ยนหมาก กล่องใส่ยาเส้น พาน ปั้นชา ขันดอกไม้ธูปเทียน กรงนก กระเป๋าถือ เป็นต้น งานจักสาน ย่านลิเภา นอกจากจะงดงามด้วยลวดลายของการจักสานแล้ว ยังงดงามด้วยสีผิวธรรมชาติของย่านลิเภาและ สีผิวของตอกเส้นยืนที่ทำจากไม้ไผ่ หรือไม้ลิงโร ทำให้เกิดสีสลับกันงดงาม บางครั้งยังเสริมส่วนประกอบด้วย เครื่องถมเงินและถมทอง เพื่อเพิ่มมูลค่าความงาม และคุณค่าของเครื่องจักสานย่านลิเภาให้สูงขึ้น
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒