
ตั้งอยู่ที่ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ยายศรีจันทร์ คหบดี ผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลา เป็นผู้สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย จึงได้ชื่อว่า "วัดยายศรีจันทร์” ภายหลัง เมื่อมีผู้สร้าง "วัดเลียบ” ขึ้นทางทิศเหนือ และ "วัดโพธิ์” ขึ้นทางทิศใต้ของพระอารามแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า "วัดกลาง” และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เสด็จเมืองสงขลา ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นภาษาบาลีว่า "วัดมัชฌิมาวาส” ครั้นต่อมาใน พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็น
พระอารามหลวงชั้นตรี พระอารามแห่งนี้ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาได้สร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ได้บูรณะและสร้างพระอุโบสถหลังปัจจุบันพร้อมด้วยศาลาการเปรียญ หอไตร ศาลาฤาษี และกำแพงวัด หลังจากนั้นได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีสิ่งสำคัญภายในวัดจำนวนมาก เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาฤาษี
พระอุโบสถ เป็นอาคารทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เลียนแบบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๐ - ๒๔๐๓ เป็นฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่จากกรุงเทพฯ ร่วมกับช่างเมืองสงขลา ส่วนประกอบของช่อฟ้ามีแต่ตัวลำยองไม่มีนาคสะดุ้ง เสารอง พระอุโบสถเป็นสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม ประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มมงกุฎ หน้าบันทั้งภายนอกและภายใน เป็นประติมากรรมปูนปั้นนูนสูงปิดทองและติดกระจก หน้าบันด้านทิศตะวันออกเป็นรูปปั้น พระพรหมสี่หน้าทรงหงส์ ล้อมด้วยกนกลายไทย ด้านทิศตะวันตกเป็นรูปปั้นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนหน้าบันด้านในทิศตะวันออกและหน้าบันด้านในทิศตะวันตก เป็นรูปปั้น ราหูอมจันทร์
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหินอ่อน ปางสมาธิ พุทธลักษณะแบบ ไทยผสมจีน ฝีมือปั้นหุ่นเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นแล้วนำไปแกะสลักหินอ่อนที่ประเทศจีน สร้างโดย พระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการยุคนั้น เป็นผู้สั่งการให้ช่างจีนทำการออกแบบ ก่อสร้างพระพักตร์ของพระพุทธรูปหยก มีพระเกตุมาลาหุ้มด้วยทองคำประดิษฐานอยู่ภายใน บุษบก สองข้างมีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง เป็นการจัดลักษณะเดียวกับพระพุทธเทววิลาส หรือหลวงพ่อขาว วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร
และภายในพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน เป็นภาพเขียนสีฝุ่นบนผนังปูน เป็นงานฝีมือช่างหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และเทพชุมนุม ถือว่าเป็นจิตรกรรมที่เด่นและสำคัญยิ่ง องค์ประกอบของภาพ มีความงดงาม และบรรจุเรื่องราวไว้สมบูรณ์มาก ทั้งได้สะท้อนภาพของสังคม แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกาย การละเล่น ประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒