
แหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ นอกจาก "เขาเขียน” อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และ "ถ้ำผีหัวโต” อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมกันแล้ว "แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว” เป็นอีกสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่พลาดไม่ได้ มาถึงแล้วต้องมาชมเช่นกัน
"เขาสามแก้ว” ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ บ้านสามแก้ว ตำบลนาชะอัง เมืองชุมพร เป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยเริ่มประวัติศาสตร์ พบการอยู่อาศัยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๒ และเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕ - ๑๐ ลักษณะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและสถานีการค้า เป็นชุมชนที่มีการผลิตอุตสาหกรรมเหล็ก แก้วและหิน ชุมชนเขาสามแก้วมีความสำคัญในฐานะชุมชนการค้า การผลิต ที่สำคัญทางชายฝั่งทะเลตะวันออกในภาคใต้ โดยมีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอกและเชื่อว่ามีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังชายฝั่งทะเลตะวันตก อีกทั้งชุมชนโบราณเขาสามแก้วนี้ มีความเชื่อในเรื่องธรรมชาติและความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอก พบโบราณวัตถุที่สะท้อนถึงความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ การเกษตรกรรม รวมถึงความตาย
ชุมชนเขาสามแก้ว มีการสร้างกำแพงดินล้อมรอบชุมชน กระจายตัวอยู่ทั่วไป โดยกำแพงจะวางตัวแนวยาวตามเนินเขาหรือที่ราบเชิงเขา ที่มีความลาดชันต่ำมี ๒ รูปแบบ คือ กำแพงดินคู่ ที่มีคูน้ำกั้นกลางและกำแพงดินเดี่ยว สันนิษฐานว่า เป็นเนินดินอัดถมบริเวณส่วนฐานและอาจมีรั้วไม้ปักอยู่ด้านบนและอาจมีชุมชนขนาดเล็กหลาย ๆ ชุมชนในพื้นที่เดียวกันเนื่องจากพบกำแพงดินหลายแห่ง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒ - ๔ มีความคล้ายคลึงกับกำแพงดินที่พบตามแหล่งโบราณคดีสมัยเดียวกันหลายแห่งในอินเดีย เวียดนาม และพม่า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าบางบริเวณยังสร้างคูน้ำหรือทางระบายน้ำจากเนินเขาลงสู่แหล่งน้ำมีลักษณะการทำร่องน้ำวางตัวขวางระหว่างเนินเขาหรือหุบเขา และใช้เป็นคูน้ำที่ใช้ในระบบการจัดการน้ำของชุมชน ทั้งยังมีการจัดแบ่งพื้นที่อุตสาหกรรม คือ แหล่งผลิตลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว แหล่งผลิตโลหะ ไว้นอกเขตชุมชน (นอกกำแพงดิน) ส่วนมากมักเป็นพื้นที่ราบใกล้กับแหล่งน้ำ
เขาคูหา (ถ้ำคูหาสวรรค์) อยู่ที่บ้านหนองยอ ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นถ้ำบนเขาหินปูนลูกโดดขนาดเล็ก ตัวถ้ำและวัดอยู่ทางทิศเหนือของภูเขา ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก ภายในถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปศิลาทราย และพระพุทธรูปดินดิบ พระประธานเป็นพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นปิดทอง ฝั่งตรงข้ามปากทางเข้าถ้ำ มีพระพุทธรูปดินดิบนูนสูงปั้นปะติดบนผนังและเพดานถ้ำประกอบด้วยภาพพระพุทธเจ้า และภาพเล่าเรื่องตามคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรในพุทธศาสนามหายาน เดิมมีผู้เล่าว่าภาพดินปั้นเหล่านี้มีเต็มตลอดเพดานถ้ำ แต่ได้หลุดร่วงไปเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเหลืออยู่เฉพาะบริเวณผนังและเพดานตรงปากทางเข้าถ้ำ และบริเวณมุมซอกเพดานด้านตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒