กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน จิตรกรรมฝาผนังในวัดทองธรรมชาติ

วันที่ 29 ต.ค. 2564
 

     จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดทองธรรมชาติ เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๓ – ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีความงดงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง จะเขียนเต็มพื้นที่ผนังภายในทั้ง ๔ ด้าน แบ่งภาพที่แสดงได้เป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
 
      กลุ่มที่ ๑ ภาพจิตรกรรมบนผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธาน หรือผนังด้านทิศตะวันออก ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ผนังด้านล่างพื้นที่ระหว่างประตูด้านซ้ายและด้านขวาเขียนเรื่องพุทธประวัติ ตอน โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่เหล่ามัลลกษัตริย์ และผนังอาคารส่วนบนบริเวณเหนือกรอบประตูขึ้นไป เขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ มีพญาวสวัตตีมารนำเหล่าพลมารเข้ารุมทำร้ายพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ โพธิบัลลังก์
 
      กลุ่มที่ ๒ ภาพจิตรกรรมบนผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน หรือผนังด้านทิศตะวันตก เขียนภาพกงสีขนาดใหญ่มุมมองจากที่สูง ซึ่งต่างไปจากที่นิยมทั่วไปมักเขียนภาพไตรภูมิ
 
      กลุ่มที่ ๓ ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังด้านข้างของพระประธานทั้งสองด้าน ส่วนล่างของผนังระหว่างช่องหน้าต่าง จะเขียนภาพพุทธประวัติ ตั้งแต่อัญเชิญสันดุสิตเทวราชมาจุติเป็นพระโพธิสัตว์ จนไปจบตอนสมโภชน์พระบรมสารีริกธาตุ ส่วนบริเวณผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปทั้งสองด้าน เขียนภาพเทพชุมนุม ๑ แถว ถัดขึ้นไปเขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วมีพระภิกษุนั่งพนมมือข้างละรูป โดยใช้ภาพฉัตรกั้นเป็นตอน ๆ มีด้านละ ๗ ซุ้มเรือนแก้ว และแถวบนสุดชิดผนังเพดานเขียนภาพ ฤาษี นักสิทธิ์ วิทยาธร
 
      คุณค่าและความสำคัญของจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดทองธรรมชาติ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า มีลักษณะตามแบบแผนประเพณีที่นิยมทำกันในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงภาพพุทธประวัติ ไตรภูมิ เทพชุมนุม ฤาษี และวิทยาธร รองพื้นด้วยดินสอพอง โครงสีโดยรวมใช้สีแดง มีการใช้คู่สีเขียวกับสีแดงหลายแห่ง ใช้เทคนิคการเขียนภาพแบบศิลปะตกแต่ง โดยเขียนภูเขาแบบจีนคือเขียนให้ม้วนเป็นคลื่นแล้วระบายด้วยสีอ่อนใช้สีดำแต่งตามขอบสันเหลี่ยม ในทางสถาปัตยกรรมและลีลาของตัวละครใช้รูปแบบของจิตรกรรมไทยทั่วไป
 
      อย่างไรก็ดี จิตรกรรมฝาผนังของวัดทองธรรมชาติ ที่พบในปัจจุบันผ่านการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง ด้วยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุดลบเลือนจำเป็นต้องอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพดี เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของจิตรกรรมไทยโบราณที่งดงามและให้กลมกลืนกับของเดิมแต่ยังสามารถสังเกตแยกส่วนจิตรกรรมที่ซ่อมใหม่กับของเดิมได้
 
      >>> จิตรกรรมฝาผนังในวัดทองธรรมชาติ คลิกชม ( link หน้า 156 -172 )
 
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม และวัดทองธรรมชาติ) มิถุนายน ๒๕๖๓
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)