
จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผู้คน สังคมและบ้านเมืองของภาคใต้ มีความสัมพันธ์กับทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกมายาวนานตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นสืบเนื่องมา โดยมีผู้คนตั้งถิ่นฐานพัฒนาเป็นบ้านเมือง เป็นอาณาจักร เช่น ศรีวิชัย ตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช เป็นต้น
ในพื้นที่ภาคใต้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นจำนวนมาก หลักฐานต่าง ๆ ที่พบมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ศรีวิชัย สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ความสมบูรณ์ของธรรมชาติของภาคใต้ ถือเป็นชัยภูมิที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัยเอื้อประโยชน์ในการดำรงชีพ
สภาพภูมิศาสตร์อันโดดเด่นทำให้ภาคใต้มีความซับซ้อนทางวัฒนธรรม ประวัติความเป็นมาของผู้คนและสังคม กอรปกับสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชาวใต้ คือ ศาสนาและความเชื่อ ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และความเชื่อพื้นถิ่นที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาสำคัญของภาคใต้ จึงมีวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อที่เกี่ยวข้องมากมาย มีงานบุญที่สำคัญ เช่น ประเพณีทำบุญเดือนสิบ ประกอบกับความเชื่อที่สำคัญในศาสนาอิสลาม ทำให้มีชุมชนชาวมุสลิมตั้งถิ่นฐานอาศัยรวมอยู่กับชาวพุทธอย่างสงบสุข โดยเฉพาะในสี่จังหวัดตอนล่าง ประกอบด้วย สตูล ยะละ ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาเลย์และนับถือศาสนาอิสลาม จึงมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
สังคมและวัฒนธรรมของภาคใต้ ปรากฏชัดตามสภาพภูมิศาสตร์ของ ๒ ฝั่งทะเล คือ ภาคใต้ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งอ่าวไทย และ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดามัน ฝั่งอ่าวไทยผู้คนจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองในภาคกลาง ประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ในบริเวณแหล่งที่ตั้งถิ่นฐาน พบแหล่งโบราณคดีสำคัญ เช่น เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร เขาศรีวิชัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองนครศรีธรรมราช และพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณหลายแห่ง เช่น เมืองพระเวียง ชุมชนโบราณท่าศาลา - สิชล ชุมชนโบราณท่าเรือ ชุมชนโบราณบริเวณสทิงพระ จังหวัดสงขลา เมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ขนาดใหญ่ เป็นต้น
ในส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามัน จะมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างจากฝั่งอ่าวไทย คือ ฝั่งทะเลบริเวณนี้ เกิดจากการยุบตัวทำให้เกิดอ่าวเว้า ๆ แหว่ง ๆ หาดทรายค่อนข้างชันและแคบ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา อีกทั้งมีคลื่นลมแรง ทำให้ชุมชนขยายตัวได้ยาก เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด ไม่เหมาะกับการตั้งเมืองหรืออาณาจักรขนาดใหญ่เหมือนอย่างฝั่งอ่าวไทย จึงเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าว อยู่ในเส้นทางการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น จึงทำให้พบหลักฐานทางโบราณคดีว่า เกิดเมืองท่าการค้านานาชาติ ที่มีชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายเป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่าง แหล่งโบราณคดีสำคัญ เช่น เมืองตะกั่วป่า พังงา บ้านทุ่งตึก (เหมืองทอง) ตำบลเกาะคอ พังงา คลองท่อม จังหวัดกระบี่ ภูเขาทอง จังหวัดระนอง เป็นต้น
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒