กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ผ้าจวนตานีผ้าพื้นเมืองอันงดงามแห่งเมืองปัตตานี

วันที่ 1 มิ.ย. 2564
 

     ผ้าจวนตานี มีรากศัพท์จากภาษามาลายู "จูวา-ตานี” มีความหมายว่า ล่อง หรือ ทาง เป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์ลวดลายการถักทอเฉพาะถิ่น เป็นผ้าทอพื้นเมืองดั้งเดิมในพื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นผ้าทอโบราณที่เคยสูญหายไปแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริในการอนุรักษ์ฟื้นฟูผ้าโบราณที่กำลังจะสูญหายทำให้ผ้าจวนตานีได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง โดยการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มแม่บ้านสตรีในท้องถิ่นเพื่อทอผ้าจวนตานีขึ้นสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในงานพิธีการต่างๆ และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั่วไป

 
     ผ้าจวนตานี เป็นผ้าไหมมัดหมี่ชนิดหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือในผ้าจวนตานีทุกผืนจะต้องมีร่องจวนปรากฏตามชายผ้าหรือหัวผ้า ช่างทอในอดีตเรียกผ้าชนิดนี้ว่า จูวา หมายถึงร่องริ้วที่กั้นระหว่างตัวผ้าและหัวผ้าหรือกั้นระหว่างลายผ้า นอกจากนี้ยังมีการเรียกผ้าจวนตานีกันอีกว่าผ้าลีมา ซึ่งเป็นภาษามาลายูแปลว่า ๕ หรือบางทีก็เรียกว่าผ้าลีมาร์ (Kain Limar) เป็นภาษามาลายูเช่นกันหมายความว่ามัด และหากว่าผ้าจวนตานีผืนใดใช้กรรมวิธีการยกที่ใช้ในการทอให้ลวดลายเด่นขึ้นด้วยไหมสีหรือลวดทอง-เงิน ก็จะเรียกว่าผ้ายกตานี
 
     ผ้าจวนตานีถือเป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งรูปแบบและกรรมวิธีการทอ สีสัน ลวดลาย โดยลักษณะเด่นๆ ของผ้าจวนตานีคือ เป็นผ้าผืนยาวหรือผ้าปล่อย ทอจากไหมคุณภาพดี ในผ้า ๑ ผืนประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ ที่เชิงผ้า จะมีลักษณะเป็นสีแดงล้วน และไม่มีลาย ส่วนที่ ๒ คือหัวผ้า ที่จะมีลายอยู่ประมาณ ๕-๖ ลาย โดยช่วงที่มีการเจอกันระหว่างลายแต่ละลายนั้น ในภาษาท้องถิ่นจะเรียกว่า "จวน” นั่นเอง ส่วนที่ ๓ คือตัวผ้าที่จะมีลายอยู่หลายลายเช่นกัน โดยลายที่นิยมทำ ได้แก่ ลายเข็มขัดทอง ลายตะเพียนทอง ลายดอกแฝดแฉก ลายปูก๊ะ ลายดวงดาว หรือบางทีทอขึ้นเป็นลายตัวอักษรก็มี และสีสันส่วนใหญ่ของผ้าจวนตานี ตัวผ้ามักจะมีสีม่วง เขียว น้ำเงินเข้ม สีแดงแกมน้ำตาลและสีน้ำตาล ช่วงเชิงผ้าจะมีสีแดงสด แดงเลือดนก แดงแกมม่วงและแดงเข้ม ซึ่งเชิงผ้านี้ถือเป็นจุดเด่นของผ้าจวนตานีเพราะทุกผืนต้องมีสีเข้มหรือหัวผ้าที่มีสีแดงเสมอและมักจะมีความกว้างถึง ๓๕- ๔๐ เซ็นติเมตร
 
     ปัจจุบันการทำผ้าจวนตานีเป็นงานอาชีพเสริมของกลุ่มแม่บ้านอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เพื่อสืบสานงานตามโครงการศิลปาชีพในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง การทอจะมี ๓ แบบ คือ
 
     ๑. การทอแบบธรรมดา ซึ่งเป็นการทอที่ไม่มีเทคนิคพิเศษ ความสวยงามของผ้าจะอยู่ที่การวางเรียงเส้นด้ายที่ผ่านการย้อมสีต่างๆ ตั้งแต่ ๒ สีขึ้นไป การทอแบบธรรมดาจะแบ่งเป็น ๒ แบบคือ ทอแบบ ๒ ตะกรอ ซึ่งจะมีการทอแบบลายขัด และการทอแบบ ๔ ตะกรอ จะเป็นลายรูปสี่เหลี่ยมในผ้า
 
     ๒. การทอแบบมัดหมี่ เป็นการทอที่ต้องมัดด้วยเชือกไนลอน หรือเชือกกล้วยให้เป็นลวดลายต่างๆ แล้วนำไปย้อมสีตามต้องการ นำมาทอเป็นผืน ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำในการจัดวางเส้นด้านเข้าฟืม และการพุ่งเส้นด้าย
 
     ๓. การทอแบบยกดอก การทอต้องใช้เทคนิคการคัดเก็บลายด้วยไม้เรียวปลายแหลม ตามลวดลายที่กำหนด จนครบลายคัด ยกเส้นเป็นจังหวะลวดลายเฉพาะแล้วสอดพุ่งไปในแนวนอน ทอกระทบตามลายที่คัดไว้จนเต็มลาย การทอผ้ายกความยาว ๓ หลา ต้องใช้เวลาถึง ๓ เดือน ผ้ายกจึงเป็นผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น
 
     วิธีสังเกตุว่าผ้าจวนตานีของแท้ต้องดูที่สีสันระหว่างหัวผ้ากับตัวผ้าต้องตัดกัน และหัวผ้าหรือเชิงผ้า ของแท้จะต้องมีสีแดง จะไม่มีการใช้สีอื่น ที่สำคัญลายหัวผ้าและตัวผ้าจะต้องแตกต่างกันด้วย
 
 ................................................................
 
ขอบคุณที่มา : https://board.postjung.com/946527
ภาพ : The Cloud ( readthecloud.co )
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)