กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน ‘สมุดไทย’ บันทึกภูมิปัญญาแห่งสยามประเทศ

วันที่ 29 ม.ค. 2564
 

     ในยุคที่เทคโนโลยีทางด้านการพิมพ์หนังสือยังไม่เจริญก้าวหน้า บรรดาวิชาความรู้ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ องค์ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ การดำเนินชีวิตของผู้คนไทยในอดีตสามารถพบเห็นเรื่องราว สืบหา ค้นคว้า และเห็นเป็นรูปธรรมได้ ก็ด้วยเอกสารโบราณ ที่ถือเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์รูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า "สมุดไทย” หรือ "สมุดข่อย” ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานพบเห็นเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเทคโนยีการพิมพ์พัฒนาขึ้นการจัดบันทึกเรื่องราวต่างๆ จึงพบเห็นเอกสารในรูปแบบหนังสือเล่มอันเป็นวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตก

 
     สมุดไทย ถือเป็นตำราทางวิชาการของชนชาติไทย เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้บันทึกเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาจากบรรพชนสู่คนรุ่นหลัง ในสมุดไทยนอกจากจะพบการจดบันทึกด้วยตัวหนังสืออันประณีตแล้ว ยังมีภาพประกอบในลักษณะของจิตรกรรมไทยที่งดงาม องค์ความรู้ที่พบในสมุดไทยจึงมีคุณค่าและสำคัญอย่างมากต่อวิธีวัฒนธรรมชาวไทย ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่ต้องได้รับการอนุรักษ์และเผยแพร่สู่สาธาณชนทั่วไปได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติสืบไป
 
     ด้วยความสำคัญของ "สมุดไทย” กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้มีการจัดทำหนังสือ สมุดไทย : บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ อันได้แก่ ความเป็นมา ชนิดและขนาดของสมุดไทย การบันทึกสมุดไทย การทำสมุดไทย สมุดภาพจิตรกรรมไทย สมุดภาพไตรภูมิ สมุดมาลัย ชาดกและพุทธประวัติ ตำราองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย รวมถึงภาพแสดงวัฒนธรรมและวิถีธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้องค์ความรู้ในสมุดไทยได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง และง่ายต่อการเข้าถึงของผู้คนยุคดิจิทัล
 
     "สมุดไทย” มีลักษณะพิเศษชัดเจนแตกต่างจากสมุดฝรั่งที่ใช้กี่เปิดจากด้านขวามือไปหาด้านซ้ายมือ สมุดไทย คือ หนังสือที่มีลักษณะการพับกระดาษแบบกลับไปกลับมา มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตามแนวระนาบ เวลาเปิดอ่านต้องเปิดจากด้านล่างขึ้นด้านบน สมุดไทย ยังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สมุดข่อย” ด้วยในภาคกลางของประเทศไทยจะนำเนื้อเยื่อส่วนเปลือกของต้นข่อย มาทำเป็นส่วนกระดาษของสมุด และในส่วนวัฒนธรรมของล้านนา เรียกว่า "พับสา” เพราะจะใช้เนื้อเยื่อส่วนเปลือกของต้นสามาทำสมุดไทย นั่นเอง
 
>>> คลิกอ่านเพิ่มเติมความเป็นมา สมุดไทย http://www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/290164.pdf
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)