"งานวัฒนธรรมถือเป็นงานที่มีคุณค่าด้วยการดูแลรักษาความเป็นชาติ ประกอบกับโลกในปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดนทำให้กระแสวัฒนธรรมของต่างชาติได้หลั่งไหลเข้ามา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานควบคุมดูแลในระดับกระทรวง ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ครอบคลุม ๓ ด้าน คือ ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม” นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลได้สถาปนากระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
ในอดีตกระทรวงวัฒนธรรม เป็นเพียงแค่หน่วยงานเล็กๆ ที่เรียกว่า กองวัฒนธรรม สังกัดกรมศิลปากร จากนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น และมีที่ตั้งอยู่ที่บ้านพิษณุโลก จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่บริเวณสนามเสือป่า พระนคร ได้ประมาณ ๖ ปี ๕ เดือน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนกระทั้งกระทรวงวัฒนธรรม ได้ถูกยุบและลดฐานะบทบาทเป็นเพียงแค่กองวัฒนธรรม สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และในเวลาต่อมาได้ถูกโอนไปสังกัดกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
ปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรม มีภารกิจสำคัญครอบคลุมงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ "เป็นองค์กรหลักในการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ปลูกฝังค่านิยมอันดีงามบนพื้นฐานคุณธรรมนำสังคมอยู่เย็นเป็นสุข” มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปดวงประทีปภายในบุษบก เหนือหมู่ลายเมฆหมอก หมายถึง "ปัญญาซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรม” และมีหน่วยงานในสังกัดที่ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจด้านวัฒนธรรมให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประกอบด้วย
กรมศิลปากร มีภารกิจด้านการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ เผยแพร่และสืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งด้านโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ภาษาโบราณ จดหมายเหตุ บรรณารักษ์ นาฏศิลป์ ดนตรี ช่างสิบหมู่และสถาปัตยกรรม
กรมการศาสนา มีภารกิจเกี่ยวกับการทำนุบำรุง ส่งเสริมและให้ความอุปถัมภ์คุ้มครองกิจการด้านพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ตลอดจนสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา และส่งเสริมการพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีภารกิจด้านการส่งเสริม รักษาวัฒนธรรมไทย โดยการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ฟื้นฟู พัฒนา เผยแพร่และส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนที่ดำเนินงานด้านวัฒนธรรม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มีภารกิจด้านการส่งเสริม สนับสนุน ประสานงานเครือข่ายองค์กรศิลปวัฒนธรรมทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเผยแพร่กิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาและการประยุกต์ใช้ในสังคม
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีภารกิจจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่ระดับพื้นฐานวิชาชีพถึงวิชาชีพสูงสุด เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีภารกิจเกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางวิชาการด้านมานุษยวิทยาและการให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนเป็นแหล่งข้อมูลและเป็นจุดเชื่อมเครือข่ายข้อมูลด้านมานุษยวิทยาของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีภารกิจแสวงหา รวบรวมภาพยนตร์ สิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหวและสื่อโสตทัศน์ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ไว้ในฐานะมรดกอย่างหนึ่งของชาติ เพื่อให้บริการอันเป็นประโยชน์ทางการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและเผยแพร่แก่สาธารณชน
และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ถือเป็นหน่วยงานน้องใหม่ที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (เดิมคือสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้) มีภารกิจด้านการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา วิจัย ค้นคว้า รวบรวม สร้างองค์ความรู้ใหม่ บริหารจัดการความรู้ และส่งเสริมกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณธรรมความดีรูปแบบต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รวมถึงการจัดประชุมสมัชชาคุณธรรมภายใต้กรอบของคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จนถึงปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมมาแล้ว ๑๑ คน เริ่มจาก นางอุไรวรรณ เทียนทอง (ดำรงตำแหน่ง ๒ ครั้ง คือ ๓ ต.ค. ๒๕๔๕ – ๗ พ.ย. ๒๕๔๖ และ ๑๑ มี.ค. ๒๕๔๘ – ๓ ก.พ. ๒๕๔๙) นายอนุรักษ์ จุรีมาศ (๘ พ.ย. ๒๕๔๖ – ๑๐ มี.ค. ๒๕๔๘) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย (๗ ก.พ. ๒๕๔๙ – ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๙) คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ (๙ ต.ค. ๒๕๔๙ – ๕ ก.พ. ๒๕๕๑) นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ (๖ ก.พ. ๒๕๕๑ – ๒ ส.ค. ๒๕๕๑) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ (๓ ส.ค. ๒๕๕๑ – ๒๓ ก.ย. ๒๕๕๑) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล (๒๔ ก.ย. ๒๕๕๑ – ๑๗ ธ.ค. ๒๕๕๑) นายธีระ สลักเพชร (๒๒ ธ.ค. ๒๕๕๑ – ๕ มิ.ย. ๒๕๕๓) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ (๖ มิ.ย. ๒๕๕๓ – ๘ ส.ค. ๒๕๕๔) และนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรมคนปัจจุบัน
ด้านตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มีผู้ดำรงตำแหน่งมาแล้ว ๔ คน ได้แก่ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ (๒๓ ต.ค. ๒๕๔๕ – ๓๐ ก.ย. ๒๕๔๗) คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ (๑ ต.ค. ๒๕๔๗ – ๓๐ ก.ย. ๒๕๔๙) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ (๑ ต.ค. ๒๕๔๙ – ๓๐ ก.ย. ๒๕๕๓) และนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมคนปัจจุบัน
๙ ปีที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรม ได้ปฏิบัติภารกิจขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมผ่านโครงการ/กิจกรรมต่างๆ อย่างมากมายทั้งด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม และในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้ กระทรวงวัฒนธรรม จะก้าวเข้าสู่ปีที่ ๑๐ นับตั้งแต่มีการสถาปนา ซึ่งทิศทางการดำเนินงานวัฒนธรรมในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนปัจจุบัน กล่าวว่า "กระทรวงวัฒนธรรม จะยังคงดำเนินงานวัฒนธรรมให้ครอบคลุมทั้งด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีโครงการสำคัญที่จะต้องดำเนินการ อาทิ โครงการมหกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ, โครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นพื้นที่บริการทางวัฒนธรรมระดับชาติ, โครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานในสภาวะเร่งด่วนเพื่อความมั่นคงและยืนยง, โครงการรู้รักษ์แผ่นดินไทย ภูมิใจถิ่นกำเนิด, โครงการสนับสนุนศิลปาชีพและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรมสร้างสรรค์, โครงการพัฒนาความร่วมมือทางศาสนา ศิลปะกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นต้น และการดำเนินกิจกรรม/โครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กระทรวงวัฒนธรรมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้งานวัฒนธรรมเกิดการพัฒนาและบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป”
การก้าวเข้าสู่ปีที่ ๑๐ หรือ ๑ ทศวรรษของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนา รักษา สืบทอด มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติแก่อนุชนรุ่นหลังและให้คงอยู่คู่ชาติไทยต่อไปในอนาคต
*************************
ข้อมูลจากหนังสือ ๑ ทศวรรษกระทรวงวัฒนธรรม |