กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่

วันที่ 3 พ.ย. 2563
 
      ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การขึ้นบ้านใหม่ หรือประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่นั้น เป็นการทำบุญในโอกาสที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือเป็นครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งจะเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหม่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่ปลูกสร้างขึ้นเอง ซื้อมาหรือได้มาด้วยวิธีอื่นใด แต่ต้องไม่ใช่เป็นบ้านเช่าหรือบ้านที่อาศัยผู้อื่นอยู่ ได้ทำร่วมกันบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตนเองและครอบครัว โดยมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น
 
     สำหรับความเชื่อของชาวมอญ เมื่อจะขึ้นบ้านใหม่เขาจะต้องเลือกวันและกำหนดไว้ว่าวันไหนควรทำอะไร ตามประเพณีโบราณนั้น ท่านได้กำหนดไว้สำหรับให้เลือกวันดีแล้ว คือ
 
     ๑. วันอาทิตย์ ๒.วันจันทร์ ๓.วันอังคาร ๔.วันพุธ ๕.วันพฤหัสบดี ๖.วันศุกร์ ท่านให้เว้นวันเสาร์เพียงวันเดียวเพราะเป็นวันอัปมงคล บรรพชนท่านห้ามไว้อย่างเด็ดขาด เมื่อเลือกวันดีได้แล้ว ต้องจัดสิ่งของต่างๆ สำหรับคนถือหรือแบกห้ามขึ้นบ้านใหม่ให้ตรงกับวันนั้นๆ ตามโบราณประเพณี สมมติว่าท่านขึ้นบ้านใหม่ วันอาทิตย์ ต้องให้คนนำถือพระพุทธรูป แก้วแหวนเงินทอง เดินนำหน้าขึ้นไปก่อน ส่วนสิ่งของอื่นๆ ให้คนถือตามขึ้นไปทีหลัง
 
     วันจันทร์ ต้องให้คนถือเสื่อ ฟูก หมอน มุ้ง เดินนำหน้าขึ้นไปก่อน ส่วนสิ่งของอย่างอื่นให้คนถือตามขึ้นไปทีหลัง วันอังคาร ต้องให้คนถือเงินทอง ทุกรูปแบบ เดินนำหน้าขึ้นไปก่อนสิ่งของอื่นให้คนถือตามขึ้นไปทีหลัง วันพุธ ทุกคนต้องรับประทานอาหารคาว - หวาน ให้อิ่มหนำสำราญเสียก่อนจึงให้คนถือสิ่งของอย่างอื่นขึ้นทีหลัง วันพฤหัสบดี ต้องให้คนถือ ธูป เทียน และดอกไม้ เดินนำหน้าขึ้นไปก่อน สิ่งของอย่างอื่นให้คนถือตามขึ้นไปทีหลัง และวันศุกร์ ต้องให้พ่อ แม่ เดินนำหน้าขึ้นไป แต่ถ้ากรณีพ่อแม่เสียแล้ว มอบให้ปู่ย่า ตายาย หรือ ลุงป้าของท่านแทนได้
 
     นอกจากนี้ยังมี ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่ถือกันปฏิบัติอย่างเคร่งครัดๆ เช่น ชาวปะหล่อง ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยหนึ่งใน ๕๖ กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีชาวปะหล่องที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า และมีบางส่วนที่อพยพเข้ามาประเทศไทยบริเวณชายแดน ใกล้ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวปะหล่องพูดภาษาปะหล่อง ซึ่งเป็นภาษาตระกูลมอญ-เขมร มีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีการขึ้นบ้านใหม่เช่นกัน โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในบ้านปลูกใหม่ หากมีสิ่งผิดปกติเข้าไปในเรือนที่ปลูกใหม่ก็จะทำพิธีแก้ลบล้างความไม่ดีนั้นเสีย พิธีแก้คือ เอาข้าวมาปั้นเป็น ๕ ก้อน ย้อมให้เป็นสีเขียว แดง ดำ เหลือง ขาว ตัดกระดาษสีต่างๆ ทำเป็นธงเสียบก้านไม้ปักที่ก้อนข้าวให้ตรงสีกัน เอาแกงและยาสูบปนผสมในก้อนข้าวเหล่านั้นเล็กน้อย จัดหาขันน้ำให้ขันหนึ่งเอาของเหล่านี้ไปว่างไว้ที่ประตูหรือหน้าต่างว่าคาถาแล้วขว้างปั้นข้าวออกไป และสาดน้ำตามไปด้วย ถ้าสุนัขกินข้าวที่ขว้างไปนั้นถือว่าดี
 
     แต่โดยส่วนใหญ่การทำบุญขึ้นบ้านใหม่เกิดจากที่มนุษย์มีความเชื่อในอำนาจเร้นลับว่า บ้านใหม่มีเจ้าที่หรือภูตผีปีศาจสิงสถิตอยู่ พร้อมทั้งมีอำนาจที่จะดลบันดาลให้มนุษย์ที่พักอาศัยมีอันเป็นไปต่างๆ นานาทั้งทางให้โทษและทางให้คุณ ดังนั้นการเซ่นไหว้บูชาและการแสดงความเคารพนับถือต่อสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ตนเองและครอบครัวมีความอยู่เย็นเป็นสุข เพราะอำนาจเร้นลับจะให้คุณแก่ตน การทำบุญขึ้นบ้านใหม่จึงเป็นการบอกกล่าวและขอที่ขอทางจากอำนาจเร้นลับนั้น ซึ่งสิงสถิตอยู่ในบ้านและบริเวณที่ตนจะเข้าไปอยู่ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตของตนเองและครอบครัว
 
     โดยในการขึ้นบ้านใหม่จะมีการประกอบพิธีทางศาสนา ชาวไทยพุทธจะนิยมนิมนต์พระสงฆ์ไม่น้อยกว่า ๕ รูป แต่ไม่เกิน ๙ รูป มาสวดมนต์ให้พรและฉันอาหาร ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในพิธีให้พร้อม อาทิ พระพุทธรูป สายสิญจน์ ภาชนะสำหรับใส่น้ำพระพุทธมนต์ ของที่ใช้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ อาสนะสงฆ์ ธูป เทียน ดอกไม้ เป็นต้น สำหรับการประกอบพิธีมีหลายแบบ อาจจะอาราธนาพระสงฆ์สวดมนต์ให้พรแล้วจึงถวายภัตตาหาร หรือสวดมนต์ ฉันภัตตาหารแล้วจึงให้พรก็ได้ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว พระสงฆ์จะประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่เจ้าของบ้าน ญาติ มิตร ของเจ้าของบ้านและผู้ร่วมงานทุกๆ คน ประพรมสถานที่ต่างๆ ทั่วบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยนั้นเอง หลังจากเสร็จพิธีทางศาสนาแล้ว เจ้าของบ้านจะเชิญญาติพี่น้อง แขกที่มาร่วมงานและเพื่อนๆ ทุกคนรับประทานอาหารร่วมกัน แขกเหรื่อกล่าวอวยพรและมอบของขวัญให้แก่เจ้าของบ้านและอาจจะมีกิจกรรมบันเทิงเล็กน้อยๆ เพื่อความสนุกสนานด้วยก็ได้
 
..................................
 
ที่มา : หนังสือ ประเพณีมอญที่สำคัญ โดย จวน เครือวิชฌยาจารย์, ประเพณีท้องถิ่นภาคใต้ โดยรองศาสตราจารย์สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, วิกิพีเดีย
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)