
เมื่อถึงเดือนเมษายน เราจะได้เห็นภาพผู้คนหลากหลายวัยมาสนุกสนานกับการเล่นว่าวเต็มพื้นที่ท้องสนามหลวง เพราะเป็นช่วงที่ "ลมว่าว” คือลมตะเพาที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลเข้าสู่ผืนแผ่นดิน
คนไทยเล่นว่าวกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยนำไผ่สีสุกที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาทำเป็นโครงว่าว เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูง แล้วนำมาประกอบกันเป็นว่าวรูปทรงต่าง ๆ ผูกติดกันด้วยเชือก ปิดด้วยกระดาษชนิดบาง เหนียว เช่น กระดาษสา ตกแต่งลวดลายด้วยจุด หรือดอกดวงเพื่อปิดยึดกระดาษกับเชือกให้แน่น องค์ประกอบสำคัญของว่าวอีกอย่างหนึ่งคือสายป่านที่ต้องมีความเหนียวและสามารถต้านแรงลมได้ดี หากเป็นว่าวที่เล่นเพื่อความบันเทิงจะไม่ใช้สายป่านที่ยาวเกินไปจนมองไม่เห็นตัวว่าวในอากาศ ต่างกับการเล่นว่าวเพื่อการแข่งขันที่ใช้สายป่านยาวกว่าเพื่อเป็นการประลองความสามารถในการบังคับว่าว
การเล่นว่าวเป็นที่นิยมเล่นกันในหลายประเทศแถบเอเชีย เช่น ประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ จีน อินเดีย รวมถึงประเทศไทย เหตุที่การเล่นว่าวได้รับความนิยมทั่วไป จนมีการนำลักษณะของว่าวมาใช้พูดเป็นสำนวนเพื่อเปรียบเทียบกับคน เช่น "ว่าวขาดลอย” หมายถึง การเคว้งคว้างไร้ที่ยึดเหนี่ยว "ว่าวติดลม” หมายถึง ว่าวที่ลอยกินลมอยู่กลางอากาศ (สำนวน) เพลินจนลืมตัว