
กัณฑ์หลอน คืออะไร... กัณฑ์หลอน คือ กัณฑ์เทศน์พิเศษในการเทศน์มหาชาติ ที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคจตุปัจจัย ไทยทาน นำมาถวายพระสงฆ์โดยไม่มีการบอกกล่าวไว้ล่วงหน้า เพราะการเทศน์มหาชาติในงานประเพณีบุญผะเหวดจะมีการเทศน์มหาชาติทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งมีเจ้าภาพอยู่แล้วแต่ละกัณฑ์ แต่สำหรับกัณฑ์หลอนนี้ เกิดจากชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธารวมกลุ่มกันจัดตั้งต้นกัณฑ์หลอนขึ้น อาทิ กลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มบ้านเหนือ กลุ่มบ้านใต้ กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น แล้วแห่ไปยังวัดซึ่งส่วนมากต้นกัณฑ์หลอนจะนิยมใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น ใช้กระบุงหรือกระจาดไม้ไผ่ หรืออาจจะเป็นถังน้ำพลาสติก ใส่ข้าวสารลงไปประมาณครึ่งถังแล้วหาต้นกล้วยขนาดสูงประมาณ ๑ เมตร ตั้งไว้กลางกระบุง กระจาด หรือถังน้ำพลาสติก นั้น แล้วนำเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาที่ร่วมทำบุญ เช่น ใบละ ๒๐ , ๕๐ , ๑๐๐ , ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาท คีบด้วยไม้ไผ่ที่เหลาแล้วความยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร แล้วนำไปเสียบไว้ที่ลำต้นของต้นกล้วย ซึ่งชาวอีสานเรียกว่าต้นกัณฑ์หลอนนั้นเอง โดยวันแรกจะมีการแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองแล้วในวันที่สองก็จะมีการเทศน์มหาชาติ และในช่วงบ่ายชาวบ้านก็จะพากันแห่กัณฑ์หลอน เพื่อมาถวายพระที่เทศน์ในวัดโดยไม่เจาะจงจะถวายกับพระรูปใดก็ได้
การจัดกัณฑ์หลอนมักเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหรือละแวกเดียวกัน ที่รวบรวมกัณฑ์หลอนซึ่งคล้ายกับผ้าป่าในสมัยปัจจุบัน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะแห่ไปรวมกันที่วัด เมื่อถึงวัดจะแห่รอบศาลาโรงธรรม เวียนขวา ๓ รอบ จากนั้นนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่กำลังเทศน์อยู่เป็นการถวายเพิ่มจากกัณฑ์ธรรมดา อาจจะถวายพร้อมกันหรือแยกกันเป็นของแต่ละหมู่บ้านหรือเป็นคุ้มก็ได้ โดยบางขบวนก็มีการแต่งแปลงให้เข้ากับตำนานเรื่องพระเวสสันดรชาดก มีตัวละครเป็นกัญหา ชาลี กับชูชก แห่เป็นขบวนมากันอย่างสนุกสนานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีการตีฆ้อง ตีกลอง เป่าแคน ดีดพิณและฟ้อนรำไปด้วย กัณฑ์หลอนชาวอีสานมักนิยมนำไปทอดกันช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำหรือจนกว่าจะไม่มีต้นกัณฑ์หลอนมาทอดถวายเป็นอันเสร็จกิจกรรม การแห่กัณฑ์หลอนเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมอันงดงามที่สะท้อนถึงความเชื่อความศรัทธาของชาวอีสานในการที่จะสละทรัพย์สินส่วนตัวตามกำลังศรัทธาในการทำบุญเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้คงอยู่ อีกทั้งเป็นการเชื่อมความรักความสามัคคีของคนในชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ
.......................................................
ที่มา : ประเพณีบุญผะเหวดจังหวัดร้อยเอ็ด,งานบุญผะเหวดมุกดาหาร โดย ฉัตต์ ปิยะอุย ภาพ : www.thaichildrights.org