
พระลักษณ์ หรือ พระลักษมณ์ พระนามซึ่งแปลว่า ผู้มีเครื่องหมายอันเป็นมงคล หรือผู้มีลักษณะดี เป็นพระอนุชาที่ถูกกล่าวเคียงคู่กับพระราม ในเรื่อง "รามเกียรติ์” มาโดยตลอด พระองค์เป็นโอรสของท้าวทศรถ กับนางสมุทรชา เป็นน้องต่างมารดาของพระราม มีอนุชาร่วมมารดาเดียวกันคือ พระสัตรุด กล่าวได้ว่าท่านเป็นน้องที่มีความจงรักภักดีที่ร่วมเดินป่า ร่วมรบ ร่วมผจญกับเหล่าศัตรูกับพระรามนานที่สุด อีกทั้งได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้มากที่สุด
ย้อนหลังไป เมื่อครั้งพระนารายณ์จะอวตารมาเป็นพระรามเพื่อปราบนนทกที่เกิดมาเป็นทศกัณฐ์นั้น นอกจากพระแม่ลักษมีพระชายาจะร่วมอวตารมาเป็นนางสีดาเพื่อครองคู่กับพระรามแล้ว ยังมีพญาอนันตนาคราชซึ่งแท่นบรรทมของพระนารายณ์กลางเกษียรสมุทรก็ได้อวตารมาเป็นพระลักษณ์ พระอนุชาต่างมารดาด้วย (บางตำราว่ามีทั้งแท่นบรรทมและจักร ร่วมมาเกิดเป็นพระลักษณ์) ดังนั้น "พระลักษณ์” แท้จริงแล้วก็คือ บัลลังก์และอาวุธที่อยู่เคียงคู่กับพระราม หรือองค์นารายณ์อวตารเสมอมานั่นเอง
ก่อนจะกล่าวถึงพระลักษณ์ต่อไป อยากจะเล่าสู่กันฟังถึง "พญาอนันตนาคราช” เสียหน่อยว่าท่านมาเป็นเทพบัลลังก์ให้พระนารายณ์ได้อย่างไร
พญาอนันตนาคราช ถือกำเนิดมาจากพระเทพฤาษีมหากัสยปะเทพบิดร กับพระนางกัทรุ พระชายารอง ซึ่งเมื่อท้องและคลอด ก็คลอดเป็นไข่ถึง ๑,๐๐๐ ฟองตามที่ขอพรจากพระเทพฤาษี และลูกตนแรกที่ฟักออกมาคือ พญาอนันตนาคราช ผู้มีลักษณะที่แปลกประหลาด กล่าวคือ มีรัศมีกายเรืองรอง มีลำตัวยาวไม่มีที่สิ้นสุด จนเล่าขานว่าสามารถพันรอบโลกได้ และยังมีเศียรถึง ๑,๐๐๐ เศียร แต่ละเศียรกลับไม่พ่นพิษ แต่พ่นเป็นไฟบรรลัยกัลป์ที่สามารถล้างโลกได้ เมื่อแรกเกิดได้นามว่า "อนันตเศษ” (อ่านว่า อะ-นัน-ตะ-เส-สะ) อันมาจากจำนวนเศียรและลำตัวใหญ่โตและความยาวที่ไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง ท่านถือเป็นต้นตระกูลและเป็นจอมแห่งนาคราชทั้งหลาย เนื่องจากกำเนิดเป็นองค์แรกของเหล่าพญานาค ทรงมีฤทธิ์เดช และอานุภาพ อย่างยากจะหาผู้ใดเทียบได้ ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งทรงทราบถึง เหตุการณ์ที่พระมารดาใช้เล่ห์กลเอาชนะพระนางวินตา พระชายาเอกซึ่งเป็นพระมารดาของพญาครุฑ เรื่องการทำนายสีของม้าทรงรถพระอาทิตย์ ที่พระนางใช้ให้ลูกๆไปพ่นพิษให้เป็นสีดำทั้งๆที่จริงๆเป็นสีขาว จนมารดาครุฑต้องตกเป็นทาสยาวนานถึง ๕๐๐ ปีนั้น ทรงผิดหวังและไม่พอใจพระมารดาและน้องๆพญานาคเป็นอย่างมาก จึงได้หลบหนีไปจำศีลอยู่พระองค์เดียว ต่อมาพระพรหมได้ทราบเรื่อง จึงขอให้พระองค์ไปขดตัวจำศีลอยู่กลางเกษียรสมุทรเพื่อเป็นแท่นบรรทมแก่องค์พระนารายณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ท่านพ้นคำสาปที่ให้ครุฑจับนาคกินได้ไปโดยปริยาย และได้เป็นแท่นบรรทมของพระนารายณ์นับแต่นั้น
ในเรื่องรามเกียรติ์จะเห็นว่า พระลักษณ์เป็นพระอนุชาที่รู้ใจ สนิทสนม และติดตามพระรามไปไหนต่อไหนตลอดเวลา แม้กระทั่งเมื่อครั้งไปยกธนูโมลีที่เมืองมิถิลา พระลักษณ์ได้ยกศรก่อนพี่ชายและยังยกได้ แต่เพราะรู้ว่าพระรามหลงรักนางสีดา และตนก็มิได้ชอบนางแบบชู้สาว จึงแกล้งทำเป็นยกศรไม่ขึ้น พระรามจึงได้อภิเษกกับนางสีดา และตลอดทั้งเรื่อง จะไม่ปรากฎว่าพระลักษณ์มีผู้ใดเป็นชายา ได้แต่ติดตามอยู่กับพระรามตั้งแต่ต้นจนจบ (แต่มีผู้กล่าวว่าในเรื่องรามายณะ พระฤาษีชนกผู้เป็นบิดาบุญธรรมของนางสีดา ได้ยกนางอุรมิลาลูกสาวแท้ๆให้เป็นมเหสีของพระลักษณ์ ในคราวเดียวกับที่มายกศร)
เมื่อครั้งพระรามถูกเนรเทศให้ออกเดินป่าเป็นเวลา ๑๔ ปี จนกระทั่งทศกัณฐ์มาลักพาตัวนางสีดา และเกิดการต่อสู้ระหว่างกันนั้น นอกเหนือจากหนุมานทหารเอกที่หัวหอกในการสู้รบแล้ว พระลักษณ์นับเป็นขุนศึกคู่ใจที่ช่วยพระรามรบ และได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอาวุธของศัตรูจนเกือบสิ้นชีพถึง ๕ ครั้ง กล่าวคือ
ครั้งที่ ๑ จากหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆของทศกัณฐ์ โดยกุมภกรรณได้ไปขอหอกที่ฝากพระพรหมคืนมา และทำพิธีลับหอกที่ริมแม่น้ำใหญ่ เพื่อล้างอาเพศที่เกิดสนิม แต่ฝ่ายพระรามรู้ตัวก่อนจึงให้หนุมานแปลงเป็นหมาเน่าลอยน้ำ และให้องคตแปลงเป็นอีกาไปจิก เมื่อกุมภกรรมเห็นก็ทนไม่ได้และหนีไป เพราะเป็นยักษ์รักความสะอาด พิธีจึงไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดี วันต่อมาเมื่อออกรบ ปะทะกับทัพวานรที่พระลักษณ์นำทัพ เกิดการสู้รบอย่างดุเดือด พระลักษณ์พลาดท่าถูกกุมภกรรณซัดหอกปักอกจนสลบไป แม้พิธีลับหอกจะไม่เสร็จสิ้นแต่ก็ยังมีอานุภาพ ทำให้หอกปักแน่นดึงเท่าไรก็ไม่หลุด ดีว่าพิเภกรู้วิธีแก้ พระรามจึงให้หนุมานไปเอายาตามที่บอก รวมถึงไปหยุดรถพระอาทิตย์ ซึ่งท่านก็ขับเข้าหลังเมฆแทน เพราะไม่งั้นวันเวลาในโลกจะปั่นป่วน
ครั้งที่ ๒ และ ๓ จากศรนาคบาศและศรพรหมาสตร์ ของอินทรชิต ผู้เป็นลูกทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ซึ่งศรนาคบาศนี้อินทรชิตได้รับจากพระพรหม ก่อนรบได้ไปทำพิธีชุบศรที่โพรงใต้ต้นโรทัน ต่อมาพระรามทราบ ก็ให้ชมพูวราช วานรเฒ่าไปทำลายพิธี จนชุบศรไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดี เมื่ออินทรชิตนำทัพออกรบ ก็ยังสามารถแผลงศรกลายเป็นพญานาคมากมายไปรัดตัวพระลักษณ์กับเหล่าวานร และพ่นพิษใส่จนหมดสติไปหมดได้ จนพิเภกต้องบอกพิธีแก้ด้วยการให้พระรามแผลงศรที่เรียกว่า พญาสุบรรณ จ้าวแห่งครุฑลงไปจับเหล่านาคกินและดูดพิษนาคในตัวพระลักษณ์และทหารลิงทั้งหลายออกมา จึงฟื้นคืนสติกันขึ้น
ต่อมาอินทรชิตได้ทำพิธีชุบศรพรหมมาสตร์ ซึ่งมีเคล็ดว่าในช่วงทำพิธีห้ามใครแจ้งข่าวการตายให้ทราบเด็ดขาด ระหว่างนี้ทศกัณฐ์จึงให้ยักษ์ตนอื่นออกรบขัดตาทัพไปก่อน แต่ปรากฏว่าล้วนถูกหนุมานสังหารอย่างรวดเร็ว จนทศกัณฐ์ตกใจ ลืมคำห้าม ใช้เสนาไปแจ้งอินทรชิต จนเสียพิธี แต่ก็แก้โดยวิธีอื่นแทน เมื่อออกรบ อินทรชิตก็ได้แปลงกายเป็นพระอินทร์ พร้อมให้เหล่าเสนายักษ์แปลงเป็นช้างทรงเอราวัณ และขบวนเทวดา นางฟ้าตามเสด็จ จนพระลักษณ์เห็นเข้าก็ตกตะลึงในความสง่างามของขบวนเสด็จ อินทรชิตเห็นเป็นโอกาสเลยแผลงศรพรหมาสตร์ใส่พระลักษณ์จนล้มลงหมดสติไป ส่วนหนุมานก็ถูกฟาดจนตกลงมาสิ้นชีพ ฝ่ายพระรามมาเห็นก็คิดว่าพระลักษณ์ตาย ก็เสียใจจนสลบไปอีกองค์ แต่ที่สุดพิเภกก็ตามมาพบและหาวิธีแก้พิษศรพรหมาสตร์ให้ได้ อีกทั้งได้เป่าลมจนหนุมานฟื้น เพราะหนุมานได้รับพรว่า เมื่อใดที่ตาย หากมีพระพายพัดมาจะฟื้นคืนชีพได้
ครั้งที่ ๔ จากหอกแก้ววราวุธของมูลพลัม ซึ่งเป็นเจ้าเมืองปางตาล เป็นสหายสนิทที่ทศกัณฐ์ส่งสารขอให้มาช่วยรบ ซึ่งคราวนั้นสหัสเดชะ พี่ชายของมูลพลัมก็อาสามาช่วยน้องด้วย การรบครั้งนี้พิเภกเห็นว่ามูลพลัมและสหัสเดชะเป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์มากจึงขอให้พระรามออกรบเอง ครั้นพระรามและพระลักษณ์คุมทัพออกไป ปรากฏว่าไพร่พลลิงหนีหายไปหมด เนื่องจากสหัสเดชะได้รับพรจากพระพรหมว่าหากต่อสู้กับศัตรูใด ก็ให้ศัตรูนั้นกลัวเกรงตน ดังนั้น พอไปถึงสนามรบเห็นศัตรูมีอยู่น้อยนิด สหัสเดชะจึงสงสัยว่า ทำไมศัตรูมีกำลังอยู่แค่นี้ ทศกัณฐ์จึงปราบไม่ได้ มูลพลัมจึงกล่าวถึงพรพิเศษของพี่ชายที่ทำให้ศัตรูไม่ทันรบก็กลัวแล้ว แล้วให้สหัสเดชะกลับเมืองไปก่อน ส่วนตนเองก็จะไปไล่ล่าศัตรูที่หนีไป ขณะเดียวกันพระรามก็ให้พระลักษณ์กับหนุมานไปตามเหล่าทหารลิงกลับมา ระหว่างทางจึงเจอเข้ากับมูลพลัม เกิดการต่อสู้กันขึ้น มูลพลัมได้ใช้หอกแก้ววราวุธของตนปักอกพระลักษณ์จนสลบไป แต่คราวนี้หนุมานสามารถแก้ไข โดยไม่ต้องไปเอายาที่ไหน เมื่อพระลักษณ์ฟื้นมาได้ จึงได้ต่อสู้กันใหม่ จนมูลพลัมถูกศรพลายวาตของพระลักษณ์สิ้นชีพไป
ครั้งที่ ๕ จากหอกกบิลพัทของทศกัณฐ์ เมื่อครั้งที่ทศกัณฐ์คิดเชิญท้าวมาลีวราช ผู้เป็นปู่ที่มีวาจาสิทธิ์และมีความเที่ยงธรรมมาช่วยตัดสิน เพื่อต้องการกล่าวโทษฝ่ายพระราม แต่เมื่อฟังความทั้งสองฝ่ายแล้ว ท่านก็ให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาไป แต่ทศกัณฐ์ไม่ยอม กลับมาทำพิธีชุบหอกกบิลพัท พร้อมปั้นหุ่นเหล่าเทวดาที่มาเป็นพยานใส่ในกองไฟให้ร้อนรุ่มไปหมด จนพระอินทร์ต้องไปฟ้องพระอิศวร และได้ทำลายพิธีไป ทำให้ทศกัณฐ์ยิ่งแค้นใจ แต่ที่อาฆาตมากที่สุดคือ พิเภก น้องชายที่เป็นผู้ทำลายพิธีต่างๆของตนมากที่สุด จึงตั้งใจว่าคราวนี้จะสังหารพิเภกให้ได้ พระลักษณ์จึงอาสาขอคุ้มกันพิเภกเอง แต่ปรากฏว่าระหว่างสู้รบ พลาดท่าถูกหอกกบิลพัทปักอก หมดสติไปอีก หนุมานจึงต้องไปเอายาแก้อีกครั้ง สารพัดยาที่สั่งล้วนไปเอามาไม่ยาก มีเพียงแท่งหินบดยาเท่านั้น ที่ต้องไปเอาถึงกรุงลงกา เพราะมันเป็นหมอนรองนอนของทศกัณฐ์ แต่กระนั้นก็ไม่เหลือกว่าแรงของทหารเอกพระราม แถมยังแก้แค้นศัตรูด้วยการผมนางมณโฑผูกกับเศียรทศกัณฐ์ โดยเขียนคำสาปไว้หน้าผากทศกัณฐ์ว่า ถ้าจะแก้ผมให้หลุด ต้องให้นางมณโฑตบหัวสามที ดังนั้น ทศกัณฐ์จึงต้องถูกเมียรักตบหัวสามที จึงแก้คำสาปได้ ส่วนหนุมานเมื่อได้ของครบแล้ว ก็นำมารักษาพระลักษณ์จนฟื้น
จะเห็นได้ว่าตลอดการรบที่ยาวนานนี้ พระลักษณ์เป็นพระอนุชาคู่พระทัยที่ช่วยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระรามจริงๆ นี่ยังไม่นับศึกเล็กศึกน้อย เพียงศึกหนักๆ ๕ ครั้งที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็แทบจะเด็ดชีพพระลักษณ์ให้มอดม้วยไปก่อนเวลาได้ทั้งสิ้น เพราะอาวุธแต่ละอย่างที่โดนล้วนไม่ธรรมดา แม้จะผ่านพิธีกรรมไม่สำเร็จ ก็ทำเอาพระลักษณ์อกทะลุไปหลายครั้ง เมื่อเสร็จศึกแม้จะได้รับปูนบำเหน็จให้ไปครองเมือง แต่พระลักษณ์ก็กลับยืนยันที่จะอยู่กับพระรามต่อไป โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชฝ่ายหน้าของพระราม หลังจากนั้นยังได้ช่วยชีวิตนางสีดาไว้เมื่อพระรามเข้าใจผิดคิดว่านางยังรักทศกัณฐ์อยู่ ครั้นพระรามต้องเดินดงอีกครั้งเพื่อสะเดาะเคราะห์ตามคำแนะนำของพิเภก พระลักษณ์ก็ยังได้ตามเสด็จไปด้วย นับว่าตลอดชีวิตของพระลักษณ์ได้อุทิศให้กับพระรามอย่างเต็มที่ สมกับที่ท่านเป็นอนันตนาคราชผู้เป็นเทพบัลลังก์ได้อวตารมาเพื่อรับใช้และอยู่คู่กับพระนารายณ์อย่างแท้จริง
.............................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม