กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
บายศรี ภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์จากความเชื่อและศรัทธา

วันที่ 21 ก.ค. 2563
 

     บายศรี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทงเป็นชั้นๆ มีขนาดเล็กใหญ่สอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น หรือ ๙ ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกนมีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรีและมีไข่ขวัญเสียบอยู่กลางยอดบายศรี
 
     บายศรีแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
 
     ๑.บายศรีราษฎร หมายถึง บายศรีที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของราษฏร ได้แก่ พิธีทำขวัญในครัวเรือน บวงสรวง สังเวย บูชาครู หรือเทพยดาอารักษ์ทั่วไป ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ได้แก่
 
     ๑.๑ บายศรีปากชามหรือบายศรีนมแมว เป็นบายศรีขนาดเล็ก จัดเป็นกระทงอาหารใส่ลงไปในชามโดยนำใบตองมาม้วนเป็นรูปกรวย ข้างในใส่ข้าวสุก ตั้งกรวยคว่ำไว้กลางชามขนาดใหญ่ อาจใช้ชามเบญจรงค์หรือชามลายคราม หรือชามงามๆ อื่นๆ ก็ได้ ให้ยอดแหลมของกรวยข้างบน บนยอดมีก้านไม้แหลมๆ เสียบไข่เป็ดต้มสุกปอกเปลือกฟองหนึ่ง เรียกว่า ไข่ขวัญ (ภาคอีสานใช้ไข่ไก่ต้ม) บนยอดไข่ขวัญปักดอกไม้เสียบต่อขึ้นอีกส่วนใหญ่ใช้ดอกมะลิ รอบกรวยประดับด้วยใบตองที่พับทับกันไปมาให้เป็นรูปแหลมเรียว เรียกว่า นมแมว ซ้อนทับเหลื่อมกันเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้นหรือ ๙ ชั้น ชั้นละ ๓ ยอด และนำใบตองมาตัดให้ยักไปหยักมาเหมือนอย่างฟันเลื่อยลดหลั่นกันขึ้นไป ตอนกลางตัดแหว่งเป็นหน้าจั่วกลายๆ รวม ๓ ใบ เรียกว่า แมงดาหรือตัวเต่า โดยว่างแมงดาแทรกระหว่างนมแมว ตอนล่างของแมงดามีใบตองเป็นหางหักพับรับตอนล่างของหางนมแมวอีกที บนแมงดาวางกล้วยน้ำไท แตงกวาตัดฝานตามยาว อย่างละ ๓ ชิ้น หรืออาจวางขนมหวาน เช่น ขนมต้มขาว ฝอยทอง นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ธูปเทียน ๓ ชุด และด้ายสายสิญจน์เด็ด ขนาดผูกข้อมือพากไว้ตามนมแมวหรืออาจใส่อ้อยตัดเป็นท่อนเล็กๆ ไว้ในบายศรี
 
     ๑.๒ บายศรีใหญ่หรือบายศรีต้น เป็นบายศรีที่มีขนาดใหญ่กว่าบายศรีปากชาม โดยการนำเอาใบตองม้วนและพับให้ยอดแหลม จับให้ชนกันเป็นคู่ๆ แล้วโค้งให้เป็นวงกลมอย่างวงกำไล เมื่อโค้งแล้วจะมียอดแหลมๆ ยื่นออกไปทั้งข้างบนและข้างล่าง แล้วนำไปตรึงรอบวงขอบแป้นไม้รูปกลม (เดิมใช้ต้นกล้วยมาทำเป็นแกน ) ตรงกลางแป้นไม้จะเจาะรูมีไม้ยาวเสียบเป็นแกนกลาง แล้ววางแป้นไม้ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เว้นระยะห่างพอสมควร แต่มีขนาดเรียวขึ้นตามลำดับ บนยอดบายศรีใหญ่ตั้งชามหรือโถขนาดเล็ก หรือขันงามประดับด้วยพุ่มดอกไม้ หรือาจใช้บายศรีปากชามก็ได้ มีไผ่สีสุกผ่าซีก ๓ ซีก พันด้วยผ้าขาวขนาบข้างบายศรีและผูกด้วยด้ายเป็น ๓ เปลาะ นำยอดตองอ่อน ๓ ยอดปะปิดซีกไม้แล้วเอาผ้าอย่างดีคลุมรอบบายศรีอีกชั้นหนึ่ง ผ้านี้เรียกว่า ผ้าห่อขวัญ (โดยมากจะใช้ผ้าตาดทองหรือผ้าสารบับคลุม) บายศรีใหญ่นี้บางทีเรียกว่า บายศรีชั้น หรือ บายศรีตั้ง
 
     ๒. บายศรีของหลวง ได้แก่ บายศรีที่ใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งพระราชพิธีที่มีจัดขึ้นเป็นประจำตามแบบโบราณราชประเพณี และพระราชพิธีที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดทำขึ้น หรือ ในโอกาสพิเศษที่จัดให้มีขึ้นเฉพาะในราชการนั้นๆ รวมทั้งราชพิธีที่รัฐบาลหรือทางราชการจัดขึ้นโดยเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน ในการประกอบพิธี หรือ โปรดเกล้าฯให้พระราชวงศ์เสด็จแทนพระองค์หรืองานที่รัฐบาลจัดให้มีขึ้น
 
     บายศรีของหลวง มี ๓ แบบ ดังนี้
 
     ๒.๑ บายศรีต้น เป็นบายศรีทำด้วยใบตองมีแป้นไม้เป็นโครง ลักษณะอย่างเดียวกับบายศรีต้นของ ราษฏร มี ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น
 
     ๒.๒ บายศรีแก้ว ทอง เงิน ประกอบด้วย พานแก้วขนาดใหญ่ เล็ก วางซ้อนกันตามลำดับเป็นชั้นๆ จำนวน ๕ ชั้น พานทองและพานเงิน วางซ้อนกัน ๕ ชั้นเช่นเดียวกับพานแก้ว เป็น ๓ ชนิด คือ พานแก้ว พานทอง พานเงิน โดยตั้งบายศรีแก้วไว้ตรงกลาง บายศรีทองตั้งทางขวา และบายศรีเงินตั้งข้างซ้ายของผู้รับการสมโภช ทั้งนี้ บายศรีแก้ว ทอง เงิน ยังสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก ๒ ขนาด คือ สำรับใหญ่ กับสำรับเล็ก ขึ้นอยู่ที่ขนาดของพานที่ใส่ โดยบายศรีสำรับใหญ่ จะใช้ในงานพระราชพิธีอย่างใหญ่ หรือพระราชพิธีที่มีการสมโภชเวียนเทียนโดยวิธียืนเวียนเทียน ส่วนบายศรีสำรับเล็ก ใช้ในพระราชพิธีอย่างเล็กและเป็นงานสมโภชเวียนเทียนที่ใช้วิธีนั่งเวียนเทียน
 
     ๒.๓ บายศรีตองรองทองขาว คือ บายศรีที่ทำด้วยใบตองอย่างบายศรีของราษฎรที่เรียกว่าบายศรี ใหญ่ หรือบายศรีต้น มีลักษณะเป็น ๕ ชั้น ๗ ชั้น โดยมากนิยมทำ ๗ ชั้น บายศรีทั้งสองชนิดนี้เมื่อนำไปตั้งบนพานใหญ่ซึ่งเป็นโลหะทองขาว จึงเรียกว่า บายศรีตองรองทองขาว และบายศรีชนิดนี้มักตั้งคู่กับบายศรีแก้ว ทอง เงิน สำรับใหญ่และใช้ในพระราชพิธีอย่างใหญ่ เช่น พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว พระราชพิธีอุปสมบทนาคหลวงที่เป็นพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันงดการสมโภช
 
     บายศรีของหลวงนั้นเดิมมีแต่บายศรีที่ทำด้วยใบตอง ส่วนบายศรีแก้ว ทอง เงิน เพิ่งจะมีขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ทำเครื่องราชูปโภคเป็นบายศรีที่ทำด้วยโลหะทองแดงเป็นปากกลีบบัวหุ้มด้วยทองคำสลักลายดอกไม้เรียกว่า บัวแฉก มีพานทองคำอย่างจานเชิง ๕ พานประจำสำหรับบายศรีทอง และพานเงินอย่างจานเชิง ๕ พานสำหรับบายศรีเงิน ทั้งบายศรีทองและบายศรีเงินใส่อาหารคาว-หวานหรือใส่ดอกไม้แล้วแต่งาน ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ (บางแห่งว่ารัชกาลที่ ๒) โปรดเกล้าฯ ให้ทำแก้วขึ้นเป็นเชิงอย่างพานแก้วซ้อนขึ้นไปเรียกว่า บายศรีแก้ว อาจเป็นด้วยเหตุที่ว่า ทรงนับถือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และเชื่อว่า อธิษฐานขอพรสิ่งใดจะได้สมดังใจนึกราวกับแก้วสารพัดนึก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบายศรีแก้วไว้กลาง บายศรีเงินไว้ทางด้านซ้าย และบายศรีทองไว้ทางด้านขวา เป็นของถาวรตั้งแต่นั้นมา และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนบายศรีสำรับเล็กน่าจะมีในสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือรัชกาลที่ ๕ เพื่อใช้สับเปลี่ยนกับบายศรีสำรับใหญ่ ในบางพระราชพิธี นอกจากบายศรีแก้ว ทอง เงิน แล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแว่นเวียนเทียน ซึ่งเป็นแก้วเจียระไน และมีด้ามถือ สำหรับติดเทียน เวียนรอบผู้ทำขวัญในการสมโภชเวียนเทียน เพิ่มขึ้นจากแว่นโลหะอีกด้วย เพื่อใช้ในการเวียน เทียนให้ครบตามพานแก้ว พานทอง และพานเงินอย่างละ ๓ แว่น บายศรี เป็นสิ่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่นำเอาความเชื่อ เรื่องเขาพระสุเมรุในไตรภูมิมาเปรียบเทียบ โดยเชื่อว่า ยอดสูงสุดของ
 
     บายศรีคือ เขาพระสุเมรุที่รายล้อมด้วยสัตบริภัณฑ์น้อยใหญ่ ทั้งยังมีการอัญเชิญพรหม เทพทั้งหลายให้มารวมกันในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การทำขวัญแต่งงาน การทำขวัญนาค การทำขวัญต้อนรับแขกผู้มาเยือน ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นสิริมงคล และให้บังเกิดความสำเร็จขึ้นหรือเป็นการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาออกมาเป็นศิลปะอันอ่อนช้อยงดงาม ที่มีการสืบสานจากอดีตจวบจนปัจจุบัน
 
...........................................
 
ที่มา: หนังสือ บายศรี สัญลักษณ์ของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต กรมศิลปากร และhttp://saranukromthai.or.th/ ภาพ : IG : qq_siriwat
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)