
พิธีครอบครู จัดเป็นพิธีสำคัญที่สร้างขวัญกำลังใจให้กับศิษย์ทางด้านศิลปะการแสดง และเป็นการแสดงความกตัญญู สำนึกในบุญคุณของศิษย์ต่อบูรพาจารย์ทั้งปวง ในพิธีศิษย์จะได้รับการครอบเศียรพระภรตฤาษี พระพิราพ และเทริดโนราห์ โดยเศียรที่เป็นตัวแทนของพระภรตฤาษี หรือ พ่อแก่ นั้นชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นผู้จดบันทึกท่ารำ ๑๐๘ ท่า ของพระศิวมหาเทพ หรือที่เรียกว่า "ศิวนาฏราช” เป็นต้นกำเนิดของการร่ายรำจนกลายมาเป็นแม่แบบท่ารำในวิชานาฏยศาสตร์ของอินเดีย เป็นคัมภีร์การละครเล่มแรกของโลก ที่มาของคัมภีร์นาฏยศาสตร์นั้นคือพระพรหมต้องการเผยแพร่คำสั่งสอนโดยให้คนในวรรณะอื่นได้ดูผ่านการแสดงละคร การไหว้ครูด้วยการสวมหัวพระภรตฤาษีในพิธีครอบครู คือการรำลึกถึงบุญคุณ ที่ท่านทำให้ศิลปินมีแม่แบบเป็นวิชาชีพทำกิน
ราชสำนักกัมพูชาซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากในระยะ ๘๐๐-๑,๐๐๐ ปีก่อน รับอิทธิพลวิชานาฏยศาสตร์จากอินเดียมาประยุกต์เป็นแบบของตน แล้วเลื่อนไหลถ่ายเทมาสู่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ที่เข้มแข็งมากในระยะ ๕๐๐ ปีก่อน แล้วชาวสยามก็พัฒนาท่ารำไปตามแบบที่ตนว่าสวยงาม ก่อนจะถ่ายเทกลับไปกัมพูชาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยการที่ครูนาฏศิลป์จากสยาม อาทิ หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เดินทางไปถ่ายทอดวิชานาฏศิลป์ให้ศิลปินในราชสำนักกัมพูชา (วิวิธอาเซียน. ๒๕๖๑ : ๑๔๗) อาจาริยปูชา เป็นพิธีที่เป็นมงคลต่อชีวิตศิษย์ ผู้มีความเจริญต้องรู้คุณครูบาอาจารย์ ทั้งครูทางด้านวิชาชีพ และครูที่เป็นเทวดาที่คอยปกปักรักษาให้ศิษย์มีความเจริญยิ่งขึ้น ๏ สิบนิ้วประนมเหนือเกศ ไหว้ครูวิเศษทั้งน้อยใหญ่ อุปัชฌาย์อาจารย์จำไว้ ที่ในจิตมั่นกตัญญู ครูเลขอักษรอนุสาสน์ ครูเพลงพิณพาทย์เพราะหู ครูโขนครูละคอนฟ้อนดู ครูหัดท่วงทีกระบี่กระบอง ครูหัดอาวุธยุทธนา ครูวิชาเชิงช่างทั้งผอง ครูดีมีจิตคิดปอง ครูของข้าพเจ้าทั้งปวง ท่านสู้อุส่าห์อนุสาสน์ ให้เราฉลาดลุล่วง ท่านปานประทีปเด่นดวง กรุณาปานห้วงชลาลัยฯ บทพระราชนิพนธ์ "คุณครูอาจารย์” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว