
ประเพณีผูกเสี่ยว หรือพิธีผูกเสี่ยว จัดเป็นประเพณีเก่าแก่และดีงามพิธีหนึ่งของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานานนับศตวรรษ โดยจังหวัดขอนแก่นได้เล็งเห็นความสำคัญของพิธีผูกเสี่ยวนี้ จึงได้นำพิธีผูกเสี่ยวผนวกเข้ากับงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนถึง ๑๐ ธันวาคม เป็นประจำทุกปี
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่า "เสี่ยว” ที่ถูกต้องกันก่อน เพราะหลายๆ คนที่อยู่ในภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนอีสานจะเข้าใจไปในความหมายที่ไม่ถูกต้องกันเท่าไหร่ คำว่า "เสี่ยว” เป็นภาษาอีสานแท้ๆ ซึ่งชาวอีสานทุกคนต่างมีความซาบซึ้งกับคำๆ นี้เป็นอย่างดี และเป็นคำที่มีความหมายไปในทางที่ดีงาม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ชาวภาคอื่นๆ ยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า เสี่ยว และนำไปใช้ในทางที่ผิดๆ เช่น เข้าใจว่าเสี่ยว หมายถึงพวกบ้านนอกคอกนา พวกโง่เง่าเต่าตุ่น เป็นต้น แถมใช้คำพูดในเชิงดูหมิ่น ดูแคลน หนักไปกว่านั้น คือ เติมคำนำหน้าลงไปอีกว่า บักเสี่ยว ซึ่งถ้าพูดถึงบักเสี่ยวแล้วจะหมายถึง พวกเซ่อๆ ซ่าๆ ที่มาจากอีสานแต่อันที่จริงแล้วคำว่า "เสี่ยว” เป็นคำที่มีความหมายในทางที่ดีงามเพราะหมายถึง มิตรแท้ เพื่อนแท้ หรือเพื่อนตาย ซึ่งมีความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อกัน มีความผูกพันทางด้านจิตใจกันอย่างจริงใจและเต็มใจ และไม่มีอำนาจใดๆ จะมาพรากให้จากกันได้แม้แต่ความตาย ทั้งนี้ความผูกพันของเสี่ยวนี้ไม่มีเฉพาะกับเสี่ยวเท่านั้น หากมีความหมายผูกพันเชื่อมโยงไปถึงครอบครัว ญาติ พี่น้อง และหมู่บ้านของเสี่ยวด้วย ซึ่งการผูกเสี่ยวมีขั้นตอนดังนี้
๑.การหาคู่เสี่ยว ทำได้สองวิธีคือ
๑.๑ คู่เสี่ยวคบหากันเอง เมื่อชายหรือหญิงที่มีรุ่นราวคราวเดียวกัน มีความสนิทสนมกัน รักและถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ก็พร้อมใจตกลงจะเป็นเสี่ยวกันด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย จึงจัดพิธีผูกเสี่ยวเพื่อเป็นการประกาศให้ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยาน
๑.๒ พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่หาให้ วิธีนี้เกิดจากเมื่อพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ตลอดจนญาติผู้ใหญ่ไปพบบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับลูกหลานของตน และมีอายุอยู่ในวัยเดียวกัน เกิดความรักความเอ็นดูจึงทาบทามขอผูกเป็นเสี่ยวให้ลูกหลานของตน ถ้าอีกฝ่ายตกลง ผู้ทาบทามจะใช้ฝ้ายสีขาวผูกมัดมั่นหมายไว้ก่อน ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "แฮกเสี่ยว" จากนั้นจึงจะหาโอกาสให้คู่เสี่ยวพบกัน แล้วจึงจะจัดพิธีผูกเสี่ยวให้ภายหลัง
ในการหาคู่เสี่ยวไม่ว่าจะหาเองหรือพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่หาให้ ผู้ที่จะเป็นคู่เสี่ยวกัน ควรจะมีคุณสมบัติดังนี้ ๑.อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ๒.มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน ๓.มีนิสัยใจคอคล้ายหรือใกล้เคียงกัน ๔.มีเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้
๒.พิธีผูกเสี่ยว จัดให้มีอุปกรณ์ในพิธีเช่นเดียวกันกับการสู่ขวัญ โดยจัด "ขันหมากเบ็ง" และมี "หมอสูดขวัญ" (หมอพราหมณ์) เป็นผู้ทำพิธีให้ คู่เสี่ยวต้องนั่งหมอบหันหน้าเข้าหาขันหมากเบ็ง ซึ่งอีกด้านหนึ่งหมอสูดขวัญจะนั่งทำพิธีเฮียกขวัญ (เรียกขวัญ) ซึ่งห้อมล้อมด้วยญาติพี่น้องและผองเพื่อนทั้งสองฝ่าย ที่มาร่วมพิธีเพื่อเป็นสักขีพยาน หมอสูดขวัญ จะเริ่มพิธีโดยให้คู่เสี่ยวจุดเทียนที่ปักไว้ยอดขันหมากเบ็ง แล้วหมอจะนำไหว้พระจบแล้วหมอสูดขวัญจะกล่าวเชิญเทวดา จากนั้นจึงสวดคำสู่ขวัญจนจบ แล้วหมอสูดขวัญจะนำเอาข้าวเหนียวใส่มือให้คู่เสี่ยวคนละหนึ่งปั้น พร้อมไข่ต้มคนละฟอง กล้วยน้ำว้าคนละใบ และผูกแขน(ความจริงผูกที่ข้อมือ) ให้แก่คู่เสี่ยวเป็นครั้งแรก โดยใช้เส้นด้าย (หรือฝ้าย) ที่วางอยู่ในขันหมากเบ็งมาผูก ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "การผูกเสี่ยว" จากนั้นพ่อแม่พี่น้องรวมทั้งเพื่อนฝูงของแต่ละฝ่าย ก็จะผูกแขนให้คู่เสี่ยวพร้อมทั้งให้ศีลให้พรและบางคนก็ให้โอวาทแก่คู่เสี่ยว ให้ทั้งสองรักกันเกื้อกูลกัน ตลอดจนเคารพนับถือญาติของแต่ละฝ่ายจนตราบเท่าวันตาย ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "ขอดเสี่ยว" เสร็จแล้วก็นำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูผู้มาร่วมพิธีผูกเสี่ยวทุกคน
๓. การปฏิบัติตนต่อกันของคู่เสี่ยว คู่เสี่ยวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนต่อกันดังนี้
๓.๑ ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในกิจกรรมทุกอย่าง เมื่ออีกฝ่ายตกทุกข์ได้ยาก
๓.๒ ให้ฮักแพงกันและเคารพนับถือญาติผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่าย เปรียบประหนึ่งเป็นญาติของตน
๓.๓ ให้เป็นดองกัน กล่าวคือ ให้ลูกสาว ลูกชายของแต่ละฝ่ายแต่งงานกัน
๓.๔ ร่วมเป็นร่วมตายทั้งในยามทุกข์ และยามสุข
การผูกเสี่ยวนั้น นับว่ามีประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครองฯ ทั้งนี้ เพราะการมีเสี่ยว หมายถึง การมีเพื่อนตายที่มีความรัก ความจริงใจ ความเข้าใจต่อกันเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ตัวของเสี่ยวเอง ครอบครัวต่อครอบครัว หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน หรือ อำเภอต่ออำเภอ เป็นต้น ซึ่งความรักความเข้าใจนี้จะช่วยให้บุคคลในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขฉันท์พี่น้อง มีอะไรก็สงเคราะห์เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่น ถ้าใครมีผักก็นำไปแลกเปลี่ยนกับคู่เสี่ยวที่มีสินค้าอย่างอื่น เช่นปลา ข้าว เป็นต้น การผูกเสี่ยวจึงเท่ากับเป็นการสร้างสรรค์ ความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคีระหว่างชนในหมู่บ้าน และในชาติได้เป็นอย่างดี การผูกเสี่ยว จึงเป็นประเพณีอันดีงามของอีสานเรา ที่บรรพบุรุษของเราได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะชาวภาคอีสานจะได้ช่วยกันพิทักษ์รักษาไว้ให้เจริญพูนผลงอกงามยิ่งขึ้น เพื่อเป็นมรดกตกทอดไปยังอนุชนรุ่นหลังสืบไป
.........................................
ที่มา : http://www.khonkaenjob.com/khonkaenjob7.html และ https://guru.sanook.com/2536/ ภาพ : thaifest.tourismthailand.org