
วันนี้ มีสำนวนปริศนาอะไรเอ่ย ? มาให้ท่านผู้อ่านได้ขบคิด หาคำตอบกัน ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าหลายท่านอาจเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก หรือเคยได้ยินแต่ไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร??
"สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป” หลายคนคงเกิดคำถามว่า เขาหามอะไร แห่อะไร คนนั่งแคร่คือใคร และพากันไปไหน สำนวนนี้ถือเป็นปริศนาทางธรรม ที่มีมาแต่โบราณ ใช้ในการสอนใจเตือนสติชาวพุทธให้ใช้ชีวิตด้วยการยึดหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่า ทำอะไรจะได้อย่างนั้น หรือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีได้บุญ ทำชั่วได้บาป นั่นเอง
ดังบทกลอนที่ว่านี้
สี่คนหาม ตามตำนาน ท่านกล่าวย้ำ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในธาตุขันธ์
ประกอบเป็น ตัวตน แตกต่างกัน ต่างเผ่าพันธุ์ เพราะกรรม ที่ทำมา
สามคนแห่ นั้นไซร้ คือไตรลักษณ์ ใกล้ตัวนัก แต่เหมือนไกล ไม่ศึกษา
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มิอาจพา หลุดพ้น วังวนมาร
อีกหนึ่งคนนั่งแคร่ นั้นแน่นัก จิตหลงรัก ว่าเป็นเรา น่าสงสาร
เมื่อเกิดขึ้น ก็คงอยู่ ได้ไม่นาน ย่อมถึงกาล ดับไป แต่ไรมา
ยามมอดม้วย ชีวา ต้องลาจาก มีเพื่อนยาก สองคน ตามไปหา
คือ บุญ บาป เท่านั้น ติดตามมา บุญรักษา บาปชดใช้ ไปตามกรรม
ปริศนา ธรรมนี้ไซร้ สอนให้คิด เพื่อเตือนจิต ตนไว้ ไม่ถลำ
มีสติ ระลึกได้ ใส่ใจจำ ถึงพระธรรม คำสอน พระศาสดา
(จาก วัดป่ามหาชัย.เน็ท : บทกลอน ชีวิต ความตาย)
กลอนบทนี้ดีจริง อ่านจบแล้ว จึงเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ในสำนวนได้กระจ่างแจ้ง และเพื่อให้เข้าใจได้ถ่องแท้มากขึ้น จึงของอนุญาตนำคำสอนของ หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ที่ได้ไขปริศนาธรรมนี้ไว้ว่า สี่คนหาม หมายถึง ธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มารวมเป็นองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์ สามคนแห่ คือ อารมณ์ โลภ - โกรธ - หลง ที่คอยแห่กันไปในแต่ละเวลาของวันหนึ่งๆ หนึ่งคนนั่งแคร่ คือ จิตวิญญาณ ที่อยู่ในมนุษย์แต่ละคน ส่วน สองคนพาไป ก็คือ บุญ กับ บาป ที่จะพามนุษย์ไปพบหนทางที่สะอาด สว่าง สงบ พาขึ้นสวรรค์ หรือพาไปลงนรก ด้วยผลจากบาปกรรมที่ได้ทำมา เป็นเช่นนี้เอง
(ข้อสังเกต สามคนแห่ นี้ จะมีความหมายได้สองทาง คือ กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และอีกนัย คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ อารมณ์โลภ โกรธ หลง)
ขอลาแฟนคอลัมน์ รู้ไว้ใช่ว่า ด้วยโอวาทธรรมที่ให้แง่คิดดีๆ ซึ่งจะมีประโยชน์ส่งผลเป็นเช่นไร ขอให้เป็นหน้าที่ของคนสองคนที่จะนำพาทุกท่านไป
"ยศและลาภหาบไปไม่ได้แน่ มีเพียงแต่ต้นทุนบุญกุศล
ทรัพย์สมบัติทิ้งไว้ให้ปวงชน แม้ร่างตนเขายังเอาไปเผาไฟ
เมื่อเจ้ามามีอะไรมาด้วยเจ้า เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เมื่อเจ้ามามือเปล่าเจ้าจะเอาอะไร เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา”
(พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม)
อ้างอิง : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ / เว็บไซต์ สุภาษิต.net / เว็บไซต์palungjit.org/threads/ปริศนาธรรมแห่งชีวิต / gotoknow.org/posts/547700