คนไทยเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่ถือเรื่องเกี่ยวกับฤกษ์ยาม เคล็ดลางต่างๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการทำพิธีมงคลต่างๆ เช่น การแต่งงาน จะต้องดูฤกษ์ยามกันตั้งแต่ต้น เช่น วันที่ส่งเฒ่าแก่ไปเจรจาสู่ขอ วันหมั้น วันทำพิธีมงคลสมรส รวมถึงฤกษ์ยามในการปลูกเรือนหอ ส่งตัวเจ้าสาวและฤกษ์เรียงหมอน
สำหรับการเลือกฤกษ์ยามในการแต่งงานนั้น ต้องเริ่มจากวัน คือ วันต้องเป็นวันดี เช่น วันอธิบดี วันธงชัย ส่วนเดือนนิยมแต่งงานกัน ได้แก่ เดือน ๖ เดือน ๙ เดือน ๑๐ เดือน ๒ และเดือน ๔ แล้วแต่ความนิยมเชื่อถืออันมีคติที่มาหลายนัย ส่วนเหตุผลที่คนไทยนิยมแต่งงานกันในเดือนคู่ เพราะถือว่าเป็นเดือนคู่ ซึ่งคำว่าคู่หรือสิ่งที่เป็นคู่นี้มีความหมายสำคัญมากในการทำพิธีแต่งงาน เนื่องจากเป็นพิธีที่หญิงและชายจะได้เริ่มใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีเดือนที่นิยมจัดงานแต่งงาน คือ เดือน ๙ ถือเคล็ดเรื่องความก้าวหน้า เพราะคำว่า เก้า กับก้าว ออกเสียงใกล้เคียงกัน บางตำราบอกว่าเป็นการเลื่อนจากการแต่งงานในเดือน ๘ ซึ่งแม้จะเป็นเดือนคู่แต่อยู่ในช่วงเข้าพรรษา จึงเลื่อนมาเป็นเดือน ๙ แทน คือ เลี่ยงช่วงเทศกาลที่สำคัญทางศาสนาและถือเคล็ดคำว่า ก้าวหน้าไปพร้อมกัน บางที่อาจมีการแต่งงานกันในเดือน ๘ แต่มักแต่งก่อนวันเข้าพรรษา ส่วนเดือนที่นิยมแต่งงานกันมากที่สุด คือ เดือน ๖ เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อากาศดี บรรยากาศช่วยเป็นใจ เรียกว่าช่วงนี้โรแมนติกสุดๆ และเป็นฤดูแห่งการเพาะปลูกของคนไทย ซึ่งหนุ่มสาวจะได้เริ่มชีวิตใหม่สร้างฐานะและครอบครัวร่วมกัน สำหรับเดือนที่ไม่นิยมแต่งงาน คือ เดือน ๑๒ เพราะถือว่าเป็นเดือนที่สุนัขติดสัด แม้จะเป็นเดือนคู่ก็ไม่นิยม คงเพราะสมัยก่อนช่วงนี้น้ำจะหลากไหล่บ่าท่วมบ้านเรือน หรือข้าวปลาอาหารไม่สมบูรณ์ การคมนาคมไม่สะดวกสบายก็เป็นได้ แต่ในปัจจุบันความเชื่อเรื่องเดือนนี้ไม่ค่อยจะเคร่งครัดเท่าไรนัก เน้นฤกษ์สะดวกเป็นหลัก
ส่วนในเรื่องที่ไม่นิยมแต่งงานกันในวันพุธ วันอังคารและวันเสาร์ รวมถึงวันพฤหัสบดีด้วยนั้น ในแต่ละท้องถิ่นก็มีความเชื่อแตกต่างกันออกไป
สาเหตุที่ไม่นิยมแต่งงานกันในวันพุธ เพราะถือเป็นวันสุนัขนาม คือ ถือเคล็ดเกี่ยวกับชื่อ ซึ่งยังค้นไม่เจอว่าทำไมจึงถือเอาวันพุธเป็นวันสุนัขนาม
สาเหตุที่ไม่แต่งงานในวันอังคารและวันเสาร์ เพราะถือว่าวันสองวันนี้เป็นวันแข็ง เหมาะกับการทำพิธีเครื่องรางของขลัง
สาเหตุที่ไม่นิยมแต่งงานกันวันพฤหัสบดี เพราะถือเป็นวันครู และมีตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้า คือ พระพฤหัสบดีทำการแต่งงานบุตรสาวของตนในวันนี้ ต่อมาบุตรสาวมีชู้จึงถือเป็นวันไม่ควรทำพิธีแต่งงาน มีเรื่องเล่าว่า บุตรสาวของพระพฤหัสบดี คือ แต่งงานกับพระอาทิตย์ และพระอังคารมาเป็นชู้ มีเรื่องฟ้องร้องกัน เกี่ยวกับคติความเชื่อวันนั้น มีคำกล่าวติดปากเป็นที่รู้จัก คือ ห้ามเผาผีวันศุกร์ ห้ามโกนวันอังคาร (บางตำราว่าห้ามปลุกผีวันอังคารและห้ามแต่งงานวันพฤหัสบดี
การห้ามแต่งงานตามวันนั้น นอกจากวันพุธ วันอังคาร วันเสาร์และวันพฤหัสบดีแล้ว ยังห้ามแต่งงานในวันที่ตรงกับวันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ซึ่งแต่ละปีจะไม่ตรงกัน
นอกจากนี้ในแต่ละประเทศยังมีความเชื่อแตกต่างกันออกไป ถ้าหากยึดถือเสียหมดเราก็คงไม่ต้องได้ทำอะไรกันพอดี เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ความเหมาะสม ความเชื่อ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน แต่ถึงอย่างไรก็สามารถหาฤกษ์ยามวันแต่งงานจนได้ เพราะบางทีเป็นวันห้ามแต่ก็มีบางช่วงของวันเป็นฤกษ์ดี ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้โหราศาสตร์ผู้รู้ทางโหราศาสตร์เป็นผู้จัดหาฤกษ์ยาม เพื่อทำพิธีมงคลให้จะได้ครองรักครองเรือนกันอย่างเป็นสุขมีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง ขณะนี้ปัจจุบันเจอกับสถานการณ์โรคระบาด Covid-๑๙ ยังแต่งงานกันได้เลย แต่เว้นระยะห่างทางสังคมนิดหนึ่งเพื่อความปลอดภัยของทุกคน แบบว่า Covid-๑๙ ก็กลัวแต่ก็อยากแต่งงานมีสามีภรรยาร่วมทุกข์ร่วมสุขดูแลกันยามแก่เฒ่ามากกว่านั้นเอง
...............................
ที่มา : หนังสือ ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย เรียบเรียง โดย ธนากิต ภาพ : thekonarkevents.com