(พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ภาพจากเว็บไซต์ junjaonews)
"เจริญสติ สร้างภูมิคุ้มใจ ห่างไกลโรคระบาด”
ในช่วงเวลาที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญกับเชื้อโรคร้าย ไวรัสโคโรนา covid-19 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ขอนำสาระธรรม คำสอนของ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ที่ได้แสดงธรรมเทศนา หัวข้อ "ธรรมะจากโคโรนาไวรัส" มีเนื้อหาที่ให้สติ แง่คิด ในการใช้ชีวิตแก่ผู้ปกครองโรงเรียนทอสีและโรงเรียนปัญญาประทีป เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน (เนื้อหาบางส่วนจากบทความ "ธรรมะจากโคโรนาไวรัส" เรียบเรียงโดย ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร)
>>> คนเรามิได้ตายด้วยเชื้อโรคทุกคน
คนที่ติดเชื้อไวรัส covid-19 มีจำนวนมากมาย แต่ผู้ที่ติดเชื้อไม่ได้ตายทุกคน มีร้อยละ ๒ เท่านั้นที่เสียชิวิต คนที่ติดเชื้อร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันและกำจัดไวรัสได้ในที่สุด แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สู้ไม่ได้จึงเสียชีวิต
ความทุกข์ก็เช่นกัน มิได้เกิดกับทุกคนที่เจอสิ่งเลวร้าย หลายคนก็อาจจะรู้สึกเป็นทุกข์ แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันทางใจ หรืออาจเรียกว่า "ภูมิคุ้มใจ” จะไม่เป็นทุกข์
ความทุกข์จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรา "ไม่ถือ” เช่น ถ้ามีเด็กเอาปืนฉีดน้ำมาฉีดพระอาจารย์ ท่านก็ไม่ถือสาว่าอะไร เพราะเด็กไม่รู้เดียงสา หากพระอาจารย์ถือ พระอาจารย์คงจะโกรธ และอาจด่ากลับไปได้ ว่า ไอ้เด็กเวร...
***การสร้าง "ภูมิคุ้มใจ” ให้เกิดขึ้น ก็ด้วยการ เจริญสติ หากเปรียบว่า จิตเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ เรียกว่า จิตตนคร กำแพงเมืองย่อมป้องกันข้าศึก คือความทุกข์ เอาไว้ข้างนอก ส่วนที่อ่อนแอที่สุดที่ข้าศึก จะเข้ามาในเมืองได้ก็คือ ประตูเมือง สติ ก็เป็นดังนายทวาร เฝ้าประตูทางเข้าออก ถ้านายทวาร คือสติไม่อยู่ ความทุกข์ก็ย่อมเข้ามารบกวนจิตได้ หากสติเฝ้าอยู่ตลอดเวลา ความทุกข์ย่อมไม่อาจเข้ามารบกวนจิตได้
"เชื้อโรคบางทีไม่ได้ทำให้คนตาย แต่ปฏิกิริยาต่อเชื้อโรคที่ฆ่าเรา” บางครั้งการติดเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกร่างกาย ก็มิได้เป็นอันตรายต่อร่างกายมากนัก แต่ ‘ปฏิกิริยา’ หรือวิธีการตอบสนองของร่างกายนั้นก่อให้เกิดปัญหา เช่น โรคปอดบวมนั้น เกิดเพราะว่ามีเม็ดเลือดเข้ามาประชุมกันในเนื้อปอดเป็นจำนวนมาก เพื่อกินเชื้อโรค จึงทำให้หายใจลำบาก ปฏิกิริยานี้ทำให้ร่างกายกำจัดเชื้อโรคได้ แต่บางครั้งก็ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออกตายไปเสียก่อนที่เชื้อจะหาย ภูมิคุ้มกันนั้นถ้าไม่มีก็ตาย แต่ถ้าเกิดมากก็ตายได้
>>> ความทุกข์ก็เช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นกับเราแล้ว ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นกับปฏิกิริยาต่อความทุกข์นั้น เช่น การเป็นมะเร็ง ไม่น่ากลัว เท่ากับความกลัวมะเร็ง ทำให้กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดถึงอนาคตที่จะต้องเปลี่ยนไป และพาให้ตัวเองไปรับการรักษา เพื่อกำจัดมะเร็งออกไป จึงทุกข์ทั้งกายและใจ แต่สำหรับคนมองมะเร็งว่าเป็นธรรมชาติ จะไม่ดิ้นรนที่จะกำจัดมะเร็งอีก เมื่อไม่กลัวตายเสียแล้ว จึงไม่ต้องทุกข์กายหรือทุกข์ใจเลยก็ได้
เฉกเช่นโรคระบาดไม่ได้ทำอันตรายเรา เท่าความกลัวโรคระบาด ความกลัวทำให้เราไม่กล้าเข้าสังคม ไม่กล้าใช้ชีวิต แสดงความรังเกียจกัน บางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ทั้งที่ยังมิได้ติดโรค ในช่วงที่มีโรคระบาด เราก็ควรป้องกันตนเองมากกว่าปกติ ตามคำแนะนำของสาธารณสุข แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องให้จิตใจเศร้าหมองไปกับข่าวสารที่เกิดขึ้น หรือทำมากเกินความจำเป็น จนส่งผลถึงจิตใจ ในช่วงท้าย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ให้แง่คิดไว้ว่า แม้ในช่วงที่มีโรคระบาด ความสุขก็ยังคงมีอยู่รอบตัวเรา จึงขออวยพรให้ทุกคนได้เห็นความสุข ท่ามกลางภัยพิบัติที่พวกเรากำลังเผชิญ
ที่มา : ปาฐกถาธรรม "ธรรมะจากโคโรนาไวรัส" พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เรียบเรียงโดย ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ๒๓ ก.พ. ๖๓ / บทความ ธรรมจากไวรัสโคโรนา... thaipost.net ๔ มี.ค. ๖๓