เรื่อง : นันทนา ปรมานุศิษฏ์
ภาพ : พิชญ์ เยาว์ภิรมย์ นันทนา ปรมานุศิษฏ์ และ ยอด เนตรสุวรรณ
ดอนปู่ตา พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหมู่บ้านอีสาน
ผีกับคน
เสฐียรโกเศศได้กล่าวเรื่องการนับถือผีว่า "ผีที่มาก่อนและอยู่ใกล้ชิดกับคน ก็คือผีบรรพบุรุษ ได้แก่ ญาติผู้ใหญ่ มีพ่อแม่ปู่ย่าเป็นต้น ซึ่งตายไปแล้วและด้วยความอาลัยรัก แม้ท่านจะตายไปแล้วก็ยังนึกว่าท่านยังอยู่ คือเป็นผีประจำอยู่ในเรือน คอยดูแลเอาใจใส่ ให้ลูกหลานที่ยังอยู่มีความสุขความเจริญ ถ้าลูกหลานตั้งตนอยู่ในจารีตประเพณี หรือให้ร้ายได้ทุกข์แก่คนในบ้านได้ เมื่อคนเหล่านั้นประพฤติตนออกนอกรอยประเพณี...ทางภาคเหนือหรือพายัพเรียกว่า ผีปู่ย่า ไม่นับตายายเข้าด้วย ทางภาคอีสานเรียก ผีปู่ตา ไม่นับญาติผู้ใหญ่ที่เป็นหญิงคือย่ายายเข้าด้วย ทางภาคกลางเรียกว่า ผีปู่ย่าตายาย นับเอาเข้าหมดทั้งญาติผู้ใหญ่และทางฝ่ายพ่อและแม่ ทางภาคใต้เรียกว่าผีตายายไม่นับปู่ย่าเข้าด้วย”
(เสฐียรโกเศศ, การศึกษาเรื่องประเพณีไทย และชีวิตชาวไทยสมัยก่อน, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๕, หน้า ๒๐๘-๒๐๙)
สังคมอีสานเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่ดำรงอยู่ด้วยความผูกพันและเกื้อกูลของธรรมชาติ ความไม่แน่นอนเหนือการควบคุมของธรรมชาติทำให้ผู้คนเชื่อถือในเรื่องสิ่งลี้ลับ ทั้งผีสางนางไม้ เทวดาอารักษ์ และผีบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจสร้างขวัญและกำลังใจ ผีผู้ให้คุณที่ชาวอีสานนับถือ อาทิ ผีบ้าน ผีเรือน ผีเจ้าที่ ผีมเหสักข์ ผีฟ้า ผีแถน ผีมด ผีหมอ และ "ผีปู่ตา” แม้ชาวอีสานจะเรียกว่า "ผีปู่ตา” แต่ในความเป็นจริงแล้วหมายถึงผีปู่ย่าตายายหรือผีบรรพบุรุษ การเรียกผีปู่ตาเป็นการเรียกอย่างย่อ มิได้มีเจตนานับถือเฉพาะแต่ผีฝ่ายชาย
การสร้างชุมชนชาวอีสานจะมีการสร้างตูบเพื่อเป็นศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน ชาวลาว-ไท ทั้งผู้ไท ไทญ้อ และไทยอีสานอื่น ๆ ล้วนนับถือผีปู่ตามาแต่ครั้งบรรพบุรุษที่ประเทศลาว ครั้นเมื่ออพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งรกรากที่ฝั่งไทยก็ยังคงสืบสานความศรัทธาและพิธีกรรมนี้อย่างเคร่งครัด
ผีปู่ตาเป็นผีผู้ปกปักรักษาคนในชุมชนหากปฏิบัติตนโดยชอบ และลงโทษเมื่อประพฤติปฏิบัตินอกจารีตประเพณี ในเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณดอนปู่ตาจึงมีกฎข้อห้ามต่าง ๆ เช่น ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามเก็บเห็ด ห้ามล่าสัตว์ ห้ามพลอดรักกัน ห้ามพูดจาหรือปฏิบัติตนโดยมิชอบ เป็นต้น ความเคร่งครัดของข้อห้ามต่าง ๆ ในแต่ละชุมชนจะไม่เท่ากัน หลายแห่งยอมรับการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดอนปู่ตา เช่นการเข้าไปเก็บเห็ด แต่ต้องขออนุญาตกับผีปู่ตาเสียก่อน อย่างไรก็ตามทุกคนยังเกรงกลัวต่ออำนาจลี้ลับของผีปู่ตา ดังคำบอกเล่าต่อไปนี้
"มีคนทำไม่ดีในบริเวณศาลปู่ตา ก็โดนผีปู่ตาหยิกเอา มีคนโดนจริง ๆ” นางวันทา บุญปัญญา บ้านดู่ สุรินทร์
ปีหนึ่งฉลองโบสถ์หมอลำมานอนกันเต็ม ไม่ได้บอกก่อน อาบน้ำแล้ว ไปเห็น (ผี) อยู่ในห้องน้ำ” พะขะจ้ำ นายสนสิน ชาวนาราช บ้านดู่ สุรินทร์
แม้ว่ามาที่นี่ทุกวันก็ยังกลัวอยู่ มันมีสิ่งเร้นลับที่เรามองไม่เห็น กลัวสิ่งที่ตาไม่เห็น จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้” นายศึก ศรีบ้านโพน พ่อใหญ่จ้ำ บ้านโพน กาฬสินธุ์
พะขะจ้ำ...ผู้สื่อสารกับผี
พะขะจ้ำ พ่อใหญ่จ้ำ หรือเฒ่าจ้ำ เรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น คือตัวแทนของชาวบ้านที่ทำหน้าที่สื่อสารกับผีปู่ตา พ่อใหญ่จ้ำ นายศึก ศรีบ้านโพน อายุ ๗๒ ปี ชาวผู้ไทแห่งบ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับเลือกจากมติของไทบ้านให้เป็นพ่อใหญ่จ้ำเป็นผู้ทำพิธีส่งสารจากชาวบ้านถึงผีปู่ตา ชาวบ้านจะเลือกคนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่นี้ ซึ่งพ่อใหญ่จ้ำศึกให้ข้อสังเกตว่าผู้ที่ได้รับเลือกนั้นต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม พูดจาพาทีโอบอ้อมอารีต่อลูกหลาน ไปมาหาสู่เพื่อนฝูง พูดจาได้ราบรื่นโดยไม่ผิดและเป็นผู้นำคนได้
อดีตพรานป่าเริ่มทำหน้าที่เป็นพ่อใหญ่จ้ำมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ซึ่งแทบทุกวันจะมีผู้มาขอให้ทำพิธีไหว้ผีปู่ตา ส่วนเวลาที่เหลือเขาจะจักสานไม้ไผ่ลายขิดเพื่อยังชีพ โอกาสที่ชาวบ้านจะมา "บ๋า” (บนบาน) กับผีปู่ตา ได้แก่ เมื่อต้องจากบ้านไปอยู่ต่างถิ่น เช่น ไปเรียนหรือไปทำงาน การสอบเข้า การบนไม่ให้ติดทหาร และการขอให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อชาวบ้านที่ได้บนบานไว้ต่อผีปู่ตาบรรลุผลสำเร็จลุล่วงสมประสงค์ ก็จะต้อง "ปลงบ๋า” (แก้บน) โดยเชิญเฒ่าจ้ำมาทำพิธีจัดเตรียมเครื่องบวงสรวงแต่งพานมาเซ่นไหว้ต่อผีปู่ตาด้วยไก่ ๑ ตัว น้ำหอม (เหล้า) ๑ ไห ขันธ์ ๕ (เทียน ๕ คู่ และดอกไม้ ๕ คู่) หมาก ๔ คำ ยา ๔ ห่อ และข้าว ๑ กระติบ หรือจะมีเครื่องหวาน ผลหมากรากไม้ ๔ อย่างด้วยก็ได้ตามกำลัง
การเลี้ยงแก้บนผีปู่ตา เฒ่าจ้ำจะบอกให้จุดดอกไม้ธูปเทียนแล้วบอกกล่าวกับผีปู่ตา เช่น "ลูกหลานอยู่ดีมีแฮง ปู่อยากกินเหล้าไหไก่ตัว ลูกหลานก็เอามาให้แล้ว...” หรือ "มาเลี้ยงปู่เฒ่าย่าเฒ่าเฮา เลี้ยงให้เหลือเกือให้อิ่ม ไม่ให้ตื่นให้ท้วงมาก็ให้ฮอดมาก็ให้ถึง ไม่มีอันตรายเกิดขึ้น ก็จะเลี้ยงปู่ตาย่าเฒ่า...” แล้วยกถาดทูน เทน้ำ วางหมากพลู ปั้นข้าวฉีกเนื้อไก่ใส่ข้าว วางบนศาลถวายปู่ตา ของไหว้ที่เหลือเอากลับบ้านไปกิน
ชาวผู้ไทที่บ้านโพนมีการเลี้ยงผีปู่ตาซึ่งเป็นเลี้ยงใหญ่ประจำปีในเดือน ๖ เป็นการเลี้ยงลงนาโดยทำก่อนเลี้ยงผีตาแฮกอันเป็นพิธีแรกนาที่ทำกันเพื่อเริ่มฤดูทำนา การหาฤกษ์ยามวันทำพิธีจะเลือกวันฟูซึ่งเป็นวันมงคล ห้ามทำในวันไหม้หรือวันจม ซึ่งเป็นวันอวมงคล โดยจะมีปู่จัน นายเลื่อน หาระทา อายุ ๗๓ ปี ทำหน้าที่หาฤกษ์งามยามดี โดยดูจากตำราแล้วกำหนดวันทำพิธีเลี้ยงใหญ่ ซึ่งในปีนี้เลี้ยงใหญ่เมื่อวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๖ โดยลูกบ้านแต่ละบ้านจัดเตรียมของบวงสรวงนำมาวางรวมกันที่ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน จากนั้นพ่อใหญ่จ้ำทำพิธีบอกกล่าวแก่ผีปู่ตา พร้อมกับบนบานให้ผีปู่ตาคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ไร้โรคภัยไข้เจ็บ แล้วแบ่งของเซ่นไหว้ปู่ตา ส่วนที่เหลือก็ลากลับนำกลับไปเลี้ยงกันต่อที่บ้าน
ที่บ้านดู่ ตำบลหนองบัวบาน อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ มีนายสนสิน ชาวนาราช ปัจจุบันอายุ ๖๗ ปี อาชีพทำนา ทำหน้าที่เป็น "พะขะจ้ำ” มากว่าสิบปีแล้ว นายสนสินกล่าวถึงการสืบต่อการเป็นพะขะจ้ำจะสืบสายมาตามตระกูล "มาเป็นพะขะจ้ำได้เพราะพ่อใหญ่ (ทวด) เป็นมาก่อน ตั้งแต่ผมน้อย ๆ ผมเป็นมาตามกระแสสาย สืบเชื้อสายกันมา ผมจะเป็นคนเลือกคนต่อไป โดยเลือกจากเชื้อสายตนเอง จะเลือกต่อเมื่อแก่กว่านี้ทำไม่ไหวแล้ว หรือตายไปก็ให้คนใหม่ที่สืบสายกันมาแทน”
ที่นี่มีการเลี้ยงใหญ่ประจำปี ๒ ครั้ง ซึ่งทำในวันอังคารเท่านั้น ครั้งแรกที่เรียกว่า "เลี้ยงงี เลี้ยงเจียง” ในเดือน ๓ (เลี้ยงขึ้น) และครั้งที่สองเป็นการเลี้ยงลงนาในเดือน ๖ (เลี้ยงลง) หากปีใดมีเดือน ๘ สองหนจะเลี้ยง (บวงสรวง) บั้งไฟด้วย การเลี้ยงประจำปีนี้เป็นไปเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผีปู่ตาที่ปกปักรักษาชุมชน ดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ อีกทั้งเพื่อเป็นสิริมงคล หากไม่เลี้ยงอาจเกิดอาเพศขึ้นได้
เครื่องบวงสรวงเหมือนกับที่บ้านโพน แตกต่างกันตรงที่มีไข่ต้มเพิ่มเข้ามา และมีการเสี่ยงทายด้วยการดูไข่ต้มและคางไก่
ศาลปู่ตา...พื้นที่อนุรักษ์และศูนย์รวมแห่งศรัทธา
ศาลปู่ตาตั้งอยู่บนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง อยู่ใต้ร่มไม้ยืนต้นใหญ่ ทำเลที่ตั้งของศาลถูกเลือกมาแล้วตั้งแต่ครั้งปู่ทวดเมื่อทรุดโทรมลงตามกาลเวลา หากจำต้องสร้างขึ้นใหม่ก็จะสร้างขึ้นในที่เดิม เพราะถือว่าเป็นที่ซึ่งบรรพชนได้เลือกไว้แล้ว ดังตัวอย่างที่ยกมานี้ ได้แก่
ศาลปู่ตาที่บ้านดู่ ตั้งอยู่ใต้ต้นประดู่ ริมนาข้าวในวัดบ้านดู่ ตำบลหนองบัวบาน อำเภอรัตนคีรี จังหวัดสุรินทร์ "ศาลมีมาแต่ไหนแต่ไร อยู่ใต้ต้นประดู่ ไม่มีใครกล้าตัด ก้อนหินในศาลแทนคนคือเฮา แต่ก่อนเป็นบ้านไม้น้อย ๆ รูปคนแทนปู่ตาเป็นไม้แกะ แต่ปลวกกิน เลยมีคนเอาก้อนหินมาวางแทน เป็นสัญลักษณ์แทนปู่ตา” พะขะจ้ำ นายสนสิน ชาวนาราช เล่าถึงที่มา
เช่นเดียวกับศาลปู่ตาที่บ้านหนองบอน ในตำบลเดียวกัน ที่อยู่ใต้ร่มไทรขนาดใหญ่ ริมท้องนาในหมู่บ้าน มีก้อนหิน ไม้แกะสลัก และรูปเคารพแทนปู่ตา พร้อมบริวารที่คนนำมาถวาย
ศาลเจ้าปู่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ สร้างขึ้นใต้ร่มไทรท่ามกลางป่าชุมชนดอนปู่ตา ล้อมรั้วลวดหนามกินอาณาบริเวณกว่า ๕ ไร่ อุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้นานาชนิด พืชสมุนไพร และเห็ดชนิดต่าง ๆ แต่ก่อนเป็นศาลไม้เล็ก ๆ มุงสังกะสี เมื่อผุพังก็สร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นศาลเสาคอนกรีตใกล้เคียงกับบริเวณเดิม มีรูปปั้นพญานาคแผ่พังพานอยู่ตรงกลางระหว่างศาลที่ประทับของปู่ย่าตายายด้านซ้ายขวา ด้วยความเชื่อว่ามีผู้เห็นพญานาคเลื้อยพันหลักปรากฏอยู่ในบึงน้ำใกล้ศาล ต่อมามีผู้แทนราษฎรมาสร้างศาลใหม่ขึ้นอีกหลังหนึ่งแต่ชาวบ้านนิยมมาไหว้ที่ศาลเดิมมากกว่า ศาลเจ้าปู่บ้านโพนเป็นที่รวมศรัทธาของชุมชนผู้ไทบ้านโพนทั้ง ๕ หมู่บ้าน
ศาลเจ้าปู่บ้านโคกโก่ง ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่กลางดงป่าโปร่ง ผ่านลำธารข้ามห้วย เป็นป่าอนุรักษ์ใกล้ชุมชนที่สมบูรณ์
ดอนเต่าหรือศาลปู่เจ้าฟ้าระงึม บ้านกอก ตำบลสวนหม่อน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าไผ่ มีเต่าเพ็กจำนวนมากซึ่งเชื่อกันว่าอาศัยอยู่มานานกว่า ๒๐๐ ปี โดยเป็นบริวารของเจ้าปู่ฟ้าระงึม ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันปกป้องและไม่ทำร้ายเต่า เราจึงเห็นเต่าเดินอยู่ทั่วไปทั้งในศาล ตามบ้านเรือน และท้องไร่ท้องนา อย่างมากมายเป็นที่น่าอัศจรรย์
ดอนปู่ตาและผีปู่ตาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ด้วยความเชื่อในความลี้ลับ เกรงกลัวว่าผีปู่ตาจะโกรธและบันดาลให้เกิดผลร้ายขึ้นแก่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าละเมิดต่อป่าดอนปู่ตา ทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ไปโดยปริยาย
"ป่าดอนปู่ตาในทัศนะของชาวบ้านมิได้เป็นเพียงแหล่งอาหาร หรือที่อยู่อาศัยของสัตว์ พืช และแหล่งต้นน้ำลำธารเท่านั้น แต่ยังเป็นอาณาเขตของสัตว์ป่า ผี และอำนาจเหนือมนุษย์ เมื่อคนต้องเข้าไปพึ่งป่าจึงถือเสมือนว่าไปให้ผีเลี้ยง ดังนั้นการบุกเบิกที่ดินทำกินและสร้างชุมชนในป่าจึงต้องมีการขออนุญาตจากผีเจ้าป่าเขาเสียก่อน และต้องทำไปเพื่อเพียงพอแก่การยังชีพเท่านั้น ด้วยความเชื่อในเรื่องศักดิ์สิทธิ์ หรือผีที่คอยคุ้มครองดูแลรักษาป่าเขา ก่อรูปเป็นระบบการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนกับป่าที่แสดงออกมาในรูปของพิธีกรรมและความเชื่อต่าง ๆ” (พิมล มองจันทร์, https://www.gotoknow.org/posts/234389)
อย่างไรก็ตามความเชื่อเรื่องผีปู่ตาก็แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยดังที่พะขะจ้ำ สนสิน ชาวนาราช เล่าให้ฟังว่า "เทศกาลปีใหม่สงกรานต์ก็เอาหัวหมู เหล้ายา ข้าวต้มขนมนมเนยมาเซ่นไหว้ ก่อนทำนาก็มาไหว้ มาไหว้ขอหวย คนอยู่ต่างประเทศฝันไม่ดีก็ส่งเงินให้ทางบ้านมาเซ่นไหว้มาบน ที่นี่มีคนมาเลี้ยงตลอดทั้งเจ้ามือหวยและคนเล่นหวย”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกฎแห่งโลกแต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าแก่นแท้ของดอนปู่ตาคือการอนุรักษ์ทรัพยากรผืนป่า โดยอาศัยความนับถือและเกรงกลัวต่ออำนาจลี้ลับของผีปู่ตาในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ฉะนั้น การคงอยู่ของศาลปู่ตาย่อมหมายถึงการคงอยู่ของพื้นที่ป่าชุมชนในภาคอีสาน