กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ลี-อายุ จือปา AKHA AMA

วันที่ 16 ม.ค. 2563
 
เรื่อง/ภาพ : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง
 
 
ลี-อายุ จือปา AKHA AMA
 
ความสุขส่วนตัวเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีใครอยากรู้
แต่ความสุขส่วนรวมเป็นความสุขที่ใคร ๆ
ก็อยากมีส่วนร่วมรู้เห็นและมีความยั่งยืน
 
 
 
     บนเส้นทางกาแฟไทยต่างพื้นที่หลากหลายที่มา กาแฟอาข่า อาม่า นับเป็นกาแฟไทยอีกรายหนึ่งซึ่งมีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับภายในประเทศและสากล ด้วยกลิ่นรสเฉพาะตัวของกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ที่ปลูกบนพื้นที่สูงอันเหมาะสม อีกทั้งด้วยพลังแห่งการสื่อสารประชาสัมพันธ์ รวมทั้งด้วยความมุ่งมั่น ทำงานที่เด่นชัดเอาจริงเอาจัง เป็นการทำงานเพื่อชุมชน มิใช่เพียงเพื่อตนเอง และต้องเติมอีกนิดด้วยความโชคดี และ ความดี ของชายหนุ่มชื่อ ลี หรือ อายุ จือปา ชาวไทยเชื้อสายอาข่า วัย ๒๘ ปี ผู้ก่อตั้ง จึงทำให้กาแฟ อาข่า อาม่า มีเรื่องราวที่น่าศึกษาติดตามเป็นอย่างยิ่ง
 
     อายุ จือปา หรือ ลี เป็นเด็กหนุ่มชาวอาข่า เขาเกิดในหมู่บ้านทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยเป็นหมู่บ้านไกลปืนเที่ยง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีถนนลาดยาง หมู่บ้านของเขาปลูกกาแฟ เขาชอบดื่มกาแฟ และชอบชงกาแฟให้ใครๆ ลองดื่ม ประโยคประจำตัวประโยคหนึ่งของลี เป็นประโยคที่ใครๆ ก็อยากมีอยากเป็นคือ ผมเป็นคนโชคดีที่สุดในโลก นั้นน่าจะเป็นความจริงอย่างยิ่ง เพราะความโชคดีของเขามีมาอย่างหลากหลาย นับตั้งแต่ได้เกิดมาบนที่สูง อากาศดี เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟได้อย่างเหมาะสม กาแฟก็มาได้เวลาพอดีกับความนิยมกาแฟของคนไทย พร้อมๆ กันกับความตื่นตัวของชุมชนและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งพลังแห่งการสื่อสารออนไลน์ หลายสิ่งหลายอย่างมาพร้อมกันอย่างประจวบเหมาะ
 
     แต่ก็อีกนั่นแหละ ความโชคดีทั้งหมดที่มาพร้อมๆ กันนี้ เป็นปัจจัยภายนอกซึ่งอาจจะเป็นความโชคร้ายไปก็ได้ ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่มีความพร้อมด้านปัจจัยภายในเช่น ชายหนุ่มคนนี้
 
     อายุ เป็นชื่อไทยของเขาที่แปลงมาจาก อาโย ภาษาอาข่า เขาเป็นชาวไทยภูเขาที่มีการศึกษาสูง การที่มีความสัมพันธ์กับองค์กรพัฒนาสังคมค่ายฝรั่ง การได้ออกไป เรียนรู้โลกกว้างฯลฯ ทั้งหมดนี้ได้ทำให้ชายหนุ่มคนนี้ไม่เพียงแต่ทำร้านกาแฟ แต่ได้ก่อร่างสร้างชื่อกาแฟ "อาข่า อาม่า” ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๒๕ ปี และจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ กาแฟนี้ถึงกับได้รับการยอมรับในระดับโลก ส่งผลให้เกิดอาการใกล้ล้มแล้วกลับลุกขึ้นยืนได้อย่างสง่าผ่าเผย จนกระทั่งสามารถจะออกวิ่งได้อย่างรวดเร็วกว่าใครๆ ด้วยเหตุผลสำคัญก็คือ กาแฟนี้ไม่ใช่เป็นเพียงกาแฟส่วนตัว แต่ยังเป็นกาแฟที่มีเป้าหมายกว้างขวางเพื่อช่วยเหลือชุมชนด้วย
 
     เรื่องราวชีวิตผม เริ่มต้นด้วยความผูกพันกับครอบครัว และวิถีของเกษตรกรบนภูเขาเป็นหลัก ด้วยความที่คนบนดอยอย่างผมโอกาสได้รับการศึกษามีน้อย ตัวเราจึงต้องใช้ความพยายามหนัก ขวนขวายมาก เพื่อให้มีโอกาสได้เรียน นักเรียนรุ่นผม จึงเหมือนเป็นรุ่นบุกเบิก คือครอบครัวเริ่มเห็นประโยชน์ของการศึกษา ขวนขวายให้ลูกหลานได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่สูงกว่าชั้นประถม มัธยมทั่วไป ซึ่งต่างกับพ่อแม่ที่ใช้การเรียนรู้จากชีวิตจริง เป็นการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ด้วยความที่ รายได้ของครอบครัวผมไม่มากเลย คือวันหนึ่งมีรายได้ไม่เกิน ๕๐ บาท ทำให้เราต้องเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องบริหารการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ให้คุ้มค่า
 
     สิ่งสำคัญคือความคาดหวัง และอาชีพเกษตรกรเป็นเหมือนอาชีพต้องห้าม ที่พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกๆ ต้องมาทำ อีกอย่างคือประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พยายามผลักดันประเทศเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ซึ่งผมมองว่าเป็นความคิดที่ ผิดพลาดอย่างมาก ทั้งๆ ที่บ้านเรามีความโดดเด่นทางด้านอาหารเหมือนสุภาษิตที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เราจึงควรพัฒนาจากจุดแข็งของเรา ถ้าจะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมก็น่าจะเกี่ยวเนื่องกับพื้นฐานที่เรามีอยู่ ตอนนั้นพ่อแม่แต่ละคนอยากให้ลูกเป็นหมอ เป็นนายธนาคาร แม้แต่เด็กดอยอย่างพวกเรายังอยากจะเป็นอย่างนั้นเลย การศึกษาบางทีก็เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าไม่ผ่านการคิดวิเคราะห์ให้ตกผลึกอย่างแท้จริง
 
 
     ในวัยเด็ก ลีทำงานหนักทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎี ด้วยความที่เป็นลูกคนโต เมื่ออยู่บ้านเขาต้องช่วยแม่ทำงานบ้านทุกอย่าง ทั้งทำอาหาร ซักผ้า ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ในขณะที่อีกด้าน เขาต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ลีบอกว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดคือเรื่องภาษาไทย (ภาษาแรกของลีคือภาษาอาข่า) เขาใช้เวลานานมากกว่าจะอ่านออกเขียนได้เหมือนทุกวันนี้ เมื่อจบประถม ๖ ลีตัดสินใจต่อมัธยมต้น แม้ทางบ้านจะไม่มีเงินแต่พวกเขาก็เห็นดีเห็นงามด้วย
 
   พ่อกับแม่บอกว่า ชีวิตของลีจะไม่เหมือนคนสมัยก่อนที่อยู่แต่บนดอย โลกวันนี้กว้างขวางขึ้นมาก ฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น” ลีบังเอิญเจอกับพระที่ธุดงค์มาจากวัดนครเจดีย์ จังหวัดลำพูน เมื่อบอกความต้องการ ท่านจึงพาไปบวชเณรฤดูร้อน และให้เรียนหนังสือที่โรงเรียนธรรมสาธิตศึกษา จังหวัดลำพูน สามเณรลีบอกว่าที่นี่เปลี่ยนชีวิตเขาหลายอย่าง
 
     ชีวิตวัยเด็กช่วงหนึ่งผมได้มีโอกาสไปเรียนที่วัดในลำพูน มีครูท่านหนึ่งที่มีผลกับชีวิตผมมากคือครูสมนึก ตอนนั้นท่านเป็นพระมาสอนเราที่วัด และอาจารย์ทวี ใจเมือง ท่านทั้งสองคน ทำให้นักเรียนบนภูเขามีกำลังใจ ท่านไม่เคยบอกว่า นักเรียนชาวเขาอย่างผมจะทำอะไรไม่ได้ ครูแนะนำให้ผมเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งครูบอกว่า ภาษานี้แหละจะเป็นเสมือนพาสปอร์ต หรือใบเบิกทางให้กับเขาในโอกาสต่อไป
 
     และในวัยเรียนนั้นเอง ลี ได้ร่วมงานกับองค์กรเพื่อสังคมระหว่างประเทศอย่างยูนิเซฟ ซึ่งทำงานเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมสำหรับชาวไทยภูเขา เวลา ๓ ปีผ่านไป ลี ได้รับการอบรมบ่มเพาะจากโลกรอบตัวให้ตัดสินใจทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะกับองค์กรที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาให้เด็ก เพราะเขาโตมาในชุมชนที่ยากลำบาก พร้อมๆ กันนั้น ลีเริ่มเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษตอนที่ทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ เขาพบว่าองค์กรเหล่านี้มีกำลังสูงมาก แต่ติดปัญหาที่คนไทยมักพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทำให้การช่วยเหลือไม่เต็มที่ เขาสมัครเรียนที่คณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย แล้วภาษาอังกฤษก็เป็นพาสปอร์ต หรือใบเบิกทางของเขาจริงๆ
 
     วันที่ผมเรียนจบแล้วกลับบ้านครั้งแรกพร้อมใบปริญญา ผมตกใจมาก ผมนึกว่าเทศกาลอะไรซักอย่างหนึ่ง แทบจะปิดหมู่บ้านเลี้ยงกันเลย ความสำเร็จของลูกเหมือนรางวัลสำหรับความใฝ่ฝันยิ่งใหญ่ของผู้เป็นพ่อและแม่ มันจุดประกายความฝันของเขาว่า ลูกๆ เค้าก็ทำได้เหมือนกัน และทำได้ดีกว่าใครๆ ในชุมชนนั้นๆ อีกด้วย
 
     ผมได้ฝึกงานกับมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก ผมดีใจมาก ทั้่งนี้ก็ต้องขอบคุณพ่อแม่ผมมาก เค้าเป็นคนมองต่างจากคนที่อยู่บนดอยทั่วไป นี่จึงเป็นต้นทุนสำคัญที่ส่งให้ผมได้เดินทางไกลต่อมา แม่ผมเคยสอนว่าต้องทดแทนคุณแผ่นดินไทย ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนต้องคอยหลบกระสุนปืนไม่เคยได้นอนหลับสบาย จนเมื่อมาถึงแผ่นดินไทยจึงเป็นครั้งแรกที่ได้นอนหลับ อย่าลืมบุญคุณ แผ่นดินในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จย่าเป็นอันขาด
 
      "มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก” เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสายฝรั่ง ก่อตั้งโดยประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีช่องทางมีเงินทุนพร้อมสรรพ โครงการแรกที่เขามีส่วนร่วมคือ การสร้างหอพักให้กับเด็กนักเรียนที่บ้านห่างไกล ในโรงเรียนบ้านห้วยน้ำขุ่นวิทยา หลังจากฝึกงานได้ ๓ เดือน ทางมูลนิธิรับเขาเข้าทำงานทันที ได้เงินเดือนก้อนแรก ๙,๐๐๐ บาท การทำงานในมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก มอบประสบการณ์อันมีค่าให้กับลี เขาได้ทำโครงการช่วยเหลือสังคมอย่างที่ตั้งใจไว้มากมาย และที่สำคัญที่นี่มีโอกาสให้เขาได้ฝึกภาษา ได้พูดคุยทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญ ได้เดินทางไปเห็นโลกกว้างทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน และแม้กระทั่งในกลุ่มประเทศศิวิไลซ์ในทวีปยุโรป
 
     เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากองค์กรพัฒนาเอกชนสายฝรั่งได้ระดับหนึ่งแล้ว ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะยังจมอยู่ในการงานที่มั่นคงและมีรายได้สูงเช่นนั้นต่อไป นักพัฒนาเอกชนไทยผู้มีชื่อเสียงมากมาย ได้ก้าวเข้ามาและติดหล่มเช่นว่านี้ แต่ ลี หันเหชีวิตครั้งสำคัญเขาเดินออกจากตรงนั้นมาจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เขาเปิดกิจการกาแฟ อาข่า อาม่า ขึ้นด้วยเหตุผลที่ต้องการช่วยชุมชนอย่างเห็นภาพเป็นจริง คำว่า อาข่า คือ ชื่อชาติพันธุ์ของเขา และ อาม่า คือ แม่ ผู้ที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับเขา
 
     อันที่จริง หมู่บ้านแม่จันใต้ปลูกกาแฟสิบกว่าปีแล้ว จากการแนะนำของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย แต่เมื่อ ลีได้เข้ามาคลุกคลีอย่างจริงจัง เขาพบปัญหาสำคัญ ๒ ข้อ ๑ ชาวบ้านขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตกาแฟ ตรงกับสำนวน "คนปลูกไม่ได้กินคนกินไม่ได้ปลูก” และ ๒ การถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ราคาอย่างไม่เป็นธรรมจากพ่อค้าคนกลาง ลีนำปัญหา ๒ ข้อนี้มาขบคิด เขาค้นพบวิธีแก้คือ ต้องให้ความรู้การผลิตกาแฟที่มีคุณภาพกับชาวบ้าน และต้องเปิดร้านกาแฟของตัวเองเพื่อตัดพ่อค้าคนกลางออกจากวงจร
 
 
     เมื่อกลับมาวางแผนชีวิตว่าเรามีแผน ๓ ปี ๕ ปี เราจะทำ "อาข่า อาม่า” เราคาดหวังว่าเมื่อไปบอกในชุมชนแล้วเค้าจะเห็นด้วย จะสนับสนุน แต่กลายเป็นว่าทุกคนไม่เข้าใจ เพราะยังติดภาพเดิมๆ ว่าชีวิตเกษตรกรเป็นชีวิตที่เหนื่อยยาก เรียนสูงๆ จบแล้ว ทำไมจะยังมาทำการเกษตร โดนต่อต้านจากชุมชนว่าแนวคิดเราเป็นกบฏไปแล้ว แม้แต่พ่อแม่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องกลับบ้านมาทำกาแฟ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นกาแฟเราก็ปลูกไม่เป็นสักต้น
 
     จริงๆ ผมเห็นชีวิตดีๆ ที่อยู่ใน Comfort Zone เห็นชีวิตที่เหนื่อยยาก ผมเองแต่เดิมเป็นคนที่เกลียดการทำธุรกิจมาก แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเราไม่สามารถปฏิเสธเรื่องของเงินได้ แม่บอกว่าลีจะมีกาแฟสักกี่ตัน แต่ถ้าไม่มีเงินก็ทำอะไรไม่ได้ ผมจึงเข้าใจ และเริ่มเป็นเพื่อนกับธุรกิจ เมื่อรวมกับความฝันเติบโตขึ้นจากสังคมมาบวกกับกิจการ ก็เลยเป็นโมเดลที่เราสร้างขึ้นมาคือ "กิจการเพื่อสังคม” เราจะทำยังไงให้ชาวบ้านเขาภูมิใจในอาชีพเกษตรกร เมื่อมาผนวกกับความต้องการของตลาด มันจึงเกิดเป็นความแปลกใหม่ที่มีมูลค่าขึ้น
 
     ผมเริ่มจากกาแฟ เพราะพื้นที่ชุมชนผมปลูกกาแฟกันอยู่แล้ว และตลาดก็ต้องการ ที่สำคัญคือผมจะได้ทำงานร่วมกับพวกเขาด้วย เราจะได้เรียนรู้ด้วยกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน มองปัญหาเป็นเพื่อน เป็นหนึ่งในวิธีการที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราไม่สามารถมองจุดเริ่มต้น และกระโดดไปประสบความสำเร็จโดยไม่ผ่านอุปสรรคไปได้หรอก เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน จัดการมันอย่างมีสติ
 
     ตอนแรกผมเริ่มเปิดร้านโดยไม่ได้ดูเรื่องทำเลที่ตั้ง เพราะต้องการเป็นเจ้าที่ขายส่งเมล็ดกาแฟ เปิดมาแล้วยอดขายไม่ได้ตามเป้าเลย ห่างไกลไปเยอะมาก เป็นเพราะเราไม่มีให้เค้าชิม ทำไมไม่ทำให้เค้าชิมเองเลย เราก็เลยเริ่มซื้อเครื่องมาทำร้านกาแฟ เป็นรายได้อีกทางหนึ่ง เป็นหนทางที่ทำให้เราได้เจอกับผู้คนมากมาย ได้เรียนรู้ ปรับปรุง จากลูกค้าก็มาเป็นเพื่อนสนิทช่วยเหลือกัน
 
     นับแต่เริ่มก่อตั้ง ธุรกิจกาแฟของลี ไม่ได้ไปได้ดีดังใจนึก ปัญหาด้านเงินทุน เป็นอุปสรรคใหญ่หลวง และปัญหาด้านความอ่อนหัด ปัญหาเรื่องจำนวนร้านกาแฟมีมากไปในเชียงใหม่ ล้วนเป็นปัญหาประเดประดังมาให้กาแฟอาข่า อาม่า รวมทั้งร้านกาแฟ ผู้ผลิตกาแฟอีกมากหลายในเชียงใหม่ต้องขบคิดหาทางเอาชนะ
 
     แต่จุดได้เปรียบของ อาข่า อาม่า คือ เขามีเบื้องหลังเป็นผู้ผลิตเม็ดกาแฟ ไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง เขามีประสบการณ์มากหลายในการทำงานองค์กรพัฒนา กาแฟของเขา เป็นกาแฟที่มีภาพลักษณ์ของชุมชน ถ้าเป็นหนังไทย กาแฟของเขาก็เป็นกาแฟพระเอก ไม่ใช่กาแฟผู้ร้าย นอกจากนั้นเขายังมีภาษาอังกฤษ มีสายสัมพันธ์เดิมๆ กับแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ มีความรู้เรื่องช่องทางระหว่างประเทศอีกหลากหลาย
 
     ลี ส่งกาแฟของเขาเข้าประกวดกับองค์กรระดับโลกที่ชื่อ "องค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป” ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า อาข่า อ่ามา ได้รับเลือกเป็น ๑ ใน ๒๑ แบรนด์จากทั่วโลกเพื่อใช้ในเวทีการชิมกาแฟนานาชาติ ผลของการนี้ดีมาก ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป สื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ต่างก็รับลูกต่อ เข้ามาช่วยเป็นกระบอกเสียง จนทำให้ลูกค้าสนใจเป็นวงกว้าง ผ่านไป ๙ เดือนร้านกลับมาคึกคักอีกครั้ง สร้างเม็ดเงินให้อาข่า อ่ามา มีลมหายใจต่อ
 
    แต่ลีไม่หยุดแค่นั้น เขาติดตามสถานการณ์ต่อไปจนพบความตื่นตัวในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เขาพบกลุ่มสื่อ ที่กระโดดรับลูกของภาครัฐในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เขาจัดทริปชื่อ "Coffee Journey” พานักท่องเที่ยวไปกินกาแฟถึงแหล่งปลูก เยี่ยมชมทุกกระบวนการผลิต และเรียนรู้วิถีชีวิตของชนเผ่า กิจกรรมสุดสร้างสรรค์นี้นอกจากจะทำให้สื่อในประเทศกระจายข่าวไปทั่วแล้ว สื่อต่างประเทศในเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ มีหรือจะละเว้น
 
     และอาข่า อาม่า ก็ก้าวขึ้นทำเนียบมีชื่อเสียงโด่งดัง รายได้ดีกว่าร้านกาแฟอื่นๆ ในย่านเดียวกันในเชียงใหม่ นอกจากนั้น การลุกขึ้นทำงานหลากหลายของ อาข่า อาม่า ยังทำให้ ชาวอาข่า รวมตลอดไปจนถึงชาวไทยภูเขากลุ่มอื่นๆ เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เห็นช่องทางในการดำเนินชีวิตที่แจ่มชัด ในวันนี้ การผลิตกาแฟของ ชาวไทยภูเขา แม้กระทั่งการผลิตใบชา พ่อค้าคนกลางจากต่างถิ่นมีสิทธิ์เข้าไปแทรกแซงน้อยมาก ชาวไทยภูเขา ผลิตเอง ขายเอง ไปจนกระทั่งเปิดร้านชา กาแฟของตนเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ
 
 
     วันนี้ ผมมีโอกาสเริ่มทำตามความฝัน ที่เริ่มจากผมคนเดียว แล้วค่อยๆ ขยายมาเป็นสองคน สามคน สี่คน ขยายสาขาที่สอง ที่สาม ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า "กาแฟเป็นเพียงเครื่องมือที่จะพัฒนาชีวิต พัฒนาอาชีพ และการศึกษา” วันหนึ่งผมต้องการให้บุคลากรของผม รวมทั้งชุมชนของผมยืนได้ด้วยตัวเองอย่างมั่นคง ดูแลตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ เราอาจจะรู้เป้าหมายของความฝันเรา แต่เราไม่รู้หรอกว่าชีวิตเราจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่ถ้าเราสร้างเมล็ดพันธุ์ที่เราคาดหวังไว้กับน้องๆ ของเรา วันหนึ่งเราอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่ความฝันเราจะไม่มีวันตาย
 
     ลี อายุ จือปา กล่าวสรุปตอนท้าย พร้อมกับประโยคประจำตัวของเขา ผมเป็นคนที่โชคดีที่สุด และ "ความสุขส่วนตัวเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีใครอยากรู้ แต่ความสุขส่วนรวม เป็นความสุขที่ใครๆ ก็อยากมีส่วนร่วมรู้เห็น และมีความยั่งยืนจำกันไว้ ครับ..
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๖๒ http://magazine.culture.go.th/2019/1/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)