กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
บรมครูหุ่นกระบอกสยาม ๕ แผ่นดินครูชื้น (ชูศรี) สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอกไทย)

วันที่ 18 พ.ย. 2562
 
เรื่อง/ภาพ : นิเวศ แววสมณะ
 
บรมครู
หุ่นกระบอกสยาม ๕ แผ่นดิน
ครูชื้น (ชูศรี) สกุลแก้ว
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอกไทย)
    
     

 
     "แค่เธอมาฉันก็ดีใจแล้วนี่คือประโยคแรกที่ครูคุยกับผมในวันแรกที่ได้พบกัน และเป็นประโยคที่ยังดังก้องอยู่ในหัวผมมาจนทุกวันนี้ จากชีวิตคนโฆษณาที่สวยหรูมาบรรจบกับคำว่า "หุ่นกระบอกไทยโดยไม่รู้ว่าด้วยการวางแผนการตลาดหรือโชคชะตาได้พาให้ผมมาพบกับครู หุ่นกระบอกคนแรกของผม ครูที่เปลี่ยนชีวิตผมจากผู้ค้าให้กลับเป็นครูผู้ให้

         

     กว่า ๒๐ ปีที่ผมได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับหุ่นกระบอกไทย ก็มักจะพบแต่ชื่อครูชื้น หรือ คุณยายชื้น (ชูศรี สกุลแก้ว) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอกไทย) ปี ๒๕๒๙ ผมเริ่มต้นเดินทางตามหาคุณยายชื้น เพื่อมุ่งหวังที่จะนำความรู้จากท่านมาเสริมทัพทางด้านการค้า มิได้มุ่งหวังที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมแต่อย่างใด ผมตามหาท่านจากบ้านแถวคลองมอญที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในชีวประวัติเล่มต่างๆ แต่ก็ไร้วี่แวว ท่านได้ย้ายหลักแหล่งพำนักตามลูกของท่านไปในหลายๆ ที่ ผ่านไปเกือบปีผมก็สามารถติดต่อกับลูกสาวท่านได้ทางโทรศัพท์และได้นัดหมายเพื่อจะไปขอเรียนการเชิดหุ่นกระบอกไทยตามที่ตั้งใจ
 
     บ้านเล็กๆ ชั้นเดียวท่ามกลางเทือกสวนแถวสวนผัก หน้าบ้านมีป้ายเล็กๆ เขียนว่า "ครูชูศรี (ชื้น) สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติ” เป็นบ้านของลูกสาวที่คุณยายได้ย้ายมาอยู่ด้วย (คุณยายมีลูกถึง ๑๑ คนและได้ย้ายไปอยู่กับลูกคนอื่นๆ สลับกันไป เพื่อให้ลูกๆ ได้มีโอกาสได้ดูแล) จำได้ว่า..วันนั้นผมเตรียมค่าใช้จ่ายในการเรียนเชิดหุ่นและเตรียมตัวหุ่นกระบอกตัวสองตัวไปให้ท่านชม ภาพคุณยายชื้นที่ผมเห็นอยู่ข้างหน้าคือ หญิงชราท่านหนึ่งซึ่งมีสภาพแขนหัก สะโพกแตก เมื่อลูกสาวเดินไปบอกท่านว่าลูกศิษย์จะมาเรียนเชิดหุ่นกระบอก คุณยายชื้นในวัย ๙๐ ปี มีความกระตือรือร้นพยายามถัดตัวขึ้นแล้วให้ลูกสาวและหลานอุ้มมานั่งที่หน้าบ้าน ภาพนั้นทำให้ใจผมฟุ้งซ่านไปไหนต่อไหนก็ไม่รู้ "คุณยาย ผมจะมาเรียนเชิดหุ่นกระบอกไทย ผมทำหุ่นกระบอกไทยขายในอินเตอร์เน็ต” ยายมองแล้วพูดว่า "หุ่นน่ารักดี จมูกโด่งเป็นฝรั่งเลย แต่ตัวมันเล็กไปนิดนะ เชิดลำบาก” คำชมทำให้ใจผมพองฟูภูมิใจ เป็นอย่างมาก "ผมจะขอเรียนเชิดหุ่นกระบอก มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ครับ” นี่คือประโยคเด็ดที่ผมได้ส่งสารไปถึงคุณยาย มือที่เหี่ยวย่น ค่อยๆ ยกมาลูบหัวผมเบาๆ แล้วพูดว่า "แค่เธอมา ฉันก็ดีใจแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมามากมายหรอก เอาเงินแค่ ๑๒ บาท ธูปเทียน ขัน ผ้าขาวบาง มาลัยก็พอ เงิน ๑๒ บาท เป็นค่า "กำนล” ซื้อกับข้าวใส่บาตรอุทิศให้กับครูบาอาจารย์ พ่อแก่ พ่อเปียก หุ่นกระบอก ขันก็ใส่ข้าวไว้ตักบาตรและใส่น้ำไว้กรวด พวกมาลัยธูปเทียนไว้บูชาพระ”
 
     "ก่อนย้ายมาอยู่ตรงนี้ บ้านฉันไฟไหม้ หุ่นอะไรไหม้หมด เหลือไม่กี่ตัว ตอนนี้ก็หกล้มบ่อย แขนเขินแตกไปหมด...” คุณยายเล่าไปไหนต่อไหน ขณะที่สมองผมยังชาอยู่กับคำว่า "แค่เธอมาฉันก็ดีใจแล้ว” นี่คือประโยคที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปทั้งชีวิต ทุกอย่างเงียบสงบ สมองชา มันพูดไม่ออกว่าทำไมเราถึงเกิดอาการแบบนี้ จากวันแรกที่ได้พบกับคุณยาย ผมก็มีคำถามในสมองผมตลอดการเดินทางกลับบ้าน "เรากำลังทำอะไร” เรามีอาชีพมากมายทำโน่นนี่ เราดิ้นรนถีบตัวเองเพื่ออะไร เรากำลังจะมีความสุขที่แท้จริงหรือเรากำลังจะแสวงหาประโยชน์เพื่อได้มาซึ่งเงินทองเท่านั้น”
 
     วันที่เริ่มเรียนเชิดหุ่นกระบอกไทยวันแรกเป็นวันที่สนุกตื่นเต้น ก่อนจะเรียนก็มักจะเดินเล่นรอบบ้านคุณยาย พูดคุยกับลูกของคุณยายเรื่องพืชพันธ์ต้นไม้รอบละแวกบ้าน พร้อมอร่อยอิ่มท้องกับ เมี่ยงปลาทู ม้าฮ้อ ยำส้มโอ อาหารสารพัดฝีมือพี่ตี่ลูกสาวของคุณยายที่ได้รับการสืบทอดมาจากคุณยาย พี่ตี่เล่าว่า "แม่ทำอาหารเก่งมาก ทำขายทุกอย่าง แม่ได้รับการถ่ายทอดจากยายมิ่ง ซึ่งเคยเป็นต้นเครื่องในวัง สมัยก่อนแม่ลำบาก แม่ต้องทำอาหารขาย ขายตั้งแต่ทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลก แม่ต้องขยัน เพราะมีลูกมาก ฐานะทางบ้านไม่ดี”
 
     จากการเรียนเชิดหุ่นกระบอกที่เราคิดเองว่า ๑-๒ ชั่วโมงเราก็น่าจะเชิดเป็นแล้ว มันไม่ใช่อย่างที่คิด คุณยายบอกว่า ๑๐ นาทีที่ฉันสอนเธอ เธอก็รู้หมดแล้วว่าหุ่นเชิดอย่างไร แต่ถ้าจะให้เชิดเป็น ต้องฝึกนานหนักโข ซึ่งมันเป็นจริง การเชิดหนักในตำราคุณยายชื้นนั้น มันไม่ได้หนักหนาเหมือนกับการฝึกทหาร แต่เป็นความหนักหนาของความพยายาม สมาธิ ความอดทน และการให้หัวใจกับหุ่นกระบอก จากการเริ่มต้นจับไม้กระบอกด้วยมือซ้ายแล้วควงไปมาเพียงอย่างเดียว โดยนั่งตรงข้ามกับหุ่นกระบอกของคุณยายชื้นที่ตั้งอยู่ตรงหน้า ควงแต่ไม้กระบอกทั้งวัน ในใจคิดหงุดหงิดพร้อมกับหมุนไม้กระบอกต่อไปตามจังหวะเสียงฉิ่งฉับที่ยายตีด้วยมือซ้ายข้างเดียวโดยฝาฉิ่งอีกข้างวางไว้กับตัก มือขวาชี้บอก บ้างก็เอื้อมมาจับมือและปลายไม้ให้เราโยกไปตามจังหวะฉิ่ง บางช่วงมีการคั้นจากเสียงฉิ่งบ้าง ก็คือเสียงเพลงช้าเพลงเร็วจากเทปยานๆ ที่เพลงๆ หนึ่งใช้เวลาเป็น ๑๐ นาที การเชิดหุ่นกระบอกนั้น คุณยายชื้นไม่ได้รำให้ดู แล้วเรารำตามเหมือนอย่างที่ครูนาฏศิลป์ทำกัน แต่เป็นการให้เราจับและจำจังหวะเองให้ขึ้นใจ เชิดไปง่วงนอนไป ฟังวนอยู่อย่างนั้น ในใจคิดตลอดว่า จะไหวไหม จะรอดไหม หรือจะเอาแค่นี้พอ แค่ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์ศิลปินแห่งชาติก็เพียงพอแล้ว ขณะที่เราคิด คุณยายก็หยิบหุ่นเจ้าเงาะและรจนามาเชิดให้ดู นี่คือครั้งแรกในชีวิตของการได้เห็นการเชิดหุ่นกระบอกไทยของจริง จากหุ่นกระบอกตัวเล็กๆ เก่าๆ ไม่ได้มีความประณีตของงานศิลป์แบบชาววัง แต่ลีลาท่าทางที่คุณยายขยับมัน ดูเหมือนมีชีวิต เหมือนเราได้ดูคนรำจริงๆ ทำให้ผมหายง่วงแล้วฮึดควงไม้กระบอกต่อไป
 
 
     ผ่านไปหลายครั้งของการเรียนทุกวันอาทิตย์ ผมก็ยังควงไม้กระบอกหรือท่อน้ำต่อไปอย่างไม่ลดละ ตามเสียงฉิ่ง เสียงเพลงจากเทปที่เปิดคลอไปเรื่อยๆ บางครั้งมีครูแอ้ดศิษย์เอกคุณยายชื้นมาช่วยสอนเพิ่ม ทุกครั้งที่ผมนั่งเชิด คุณยายก็มักจะเล่าเรื่องหุ่นกระบอกเสมอ คุณยายเล่าว่า "เมื่อสมัยก่อนฉันเชิดหุ่นกับพ่อ (นายเปียก ประเสริฐกุล) พ่อเคยเชิดหุ่นกับหม่อมราชวงศ์เถาะ พยัคฆเสนา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนแม่เป็นนางละครของพระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนนั้นฉันยังเล็กอยู่เลย ประมาณ ๗-๘ ขวบ พอได้ความ พ่อก็จับมาเชิดหุ่นแล้ว หัดร้องหัดพากย์ จนมาถึงหัดสีซอประกอบการแสดง ฉันทำได้หมด เชิดเป็นตัวเอก ตัวเอกตัวไหนขาดคนเชิด ฉันก็เชิดแทนได้หมดทุกตัว สมัยก่อนพ่อเชิดหุ่นกับป้า การจะไปแสดงหุ่นแต่ละครั้งมันลำบาก พ่อจะเอาหุ่นถอดหัวแยกตัว เอาใส่หีบ แล้วล่องเรือไปยังสถานที่แสดง ตั้งโรงหุ่น แสดงกันทีหลายวันหลายคืน ดูกันตาแฉะ เล่นแสดงดนตรีสด เชิดแสดงไม่กี่คน พ่อเปียกเชิด ตอนเล็กๆ ฉันก็ช่วยพ่อเชิด มันสนุกมาก ไม่เหนื่อยเลย มีงานทุกวัน คณะหุ่นสมัยก่อน บางคณะมีตัวหุ่นเพียงไม่กี่ตัว แต่มีหัวหุ่นเยอะ หัวหุ่นของพ่อก็ไปจ้างช่างปั้นพระแถววัดสุทัศน์ปั้นหรือแกะจากไม้ มีน้ำหนักเบา เราก็แค่มาทำชุดเสื้อผ้าหุ่น หลังจากพ่อเปียกตายมรดกก็ตกมาที่พี่สาว ฉันขอหุ่นพ่อแก่มาเพียงองค์เดียว ไม่มีอะไรติดตัว แต่พอพี่สาวตาย หุ่นก็ตกมาที่ฉันทั้งหมด หุ่นของพ่อมีเยอะอยู่ หน้าตาหุ่นก็จะต่างกันออกไปตามลักษณะตัวละคร และตามฝีมือของช่างคนนั้น มีทั้งหุ่นขนาดใหญ่และขนาดที่เชิดในปัจจุบัน นอกจากหุ่นกระบอกแล้ว พ่อยังมีหุ่นละครเล็ก ใช้แสดงคู่กับหุ่นกระบอกที่ตัวใหญ่เท่ากันมีน้ำหนักเบา แต่หุ่นละครเล็กของครูเปียกจะใช้คนเชิดคนเดียว โดยหุ่นก็จะรำอยู่หน้าฉากเหมือนหุ่นกระบอก ส่วนขาหุ่นก็จะปล่อยห้อยต่องแต่ง ตอนนี้หุ่นละครเล็กกับหุ่นกระบอกตัวใหญ่ที่ว่าได้มอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปหมดแล้ว และหุ่นกระบอกตัวอื่นๆ ก็ไปอยู่กับจักรพันธุ์ (ครูจักรพันธุ์ โปรษยกฤต) เพราะปัจจุบันแทบไม่ได้เชิดแล้ว เหลือเท่าที่เห็น คนเชิดก็ล้มหายตายจากกันไป ลูกหลานก็ทำอาชีพอื่นกันหมด เมื่อก่อนก็เคยไปสอนที่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพาะช่าง จักรพันธุ์ โย กับเต้ย ก็เป็นลูกศิษย์ฉัน” นี่คือส่วนหนึ่งที่คุณยายมักเล่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้เราฟังอยู่เนืองๆ สลับกับเรื่องสะเทือนใจที่บ้านยายไฟไหม้อยู่เป็นประจำ โล่ใบประกาศศิลปินแห่งชาติ ก็ไหม้ไปหมด ไม่เหลืออะไรแล้ว มันเป็นประโยคซ้ำๆ ที่ติดอยู่ในความทรงจำของคุณยายชื้นเสมอ”
 
     ผ่านไปหลายเดือนของการเรียน คุณยายได้ส่งหุ่นรจนาให้ผมได้จับเชิด เป็นวันที่หัวใจมันพองฟูอย่างไรไม่สามารถอธิบายได้ หุ่นแม่รจนาที่ยายชื้นส่งให้ผมเชิดนั้นตัวไม่ใหญ่เท่าหุ่นที่ผมใช้เชิดอย่างในปัจจุบัน น้ำหนักเบา แต่พ่อเชิดไปนานๆ ก็หนักเอาเรื่องเหมือนกัน ผมใช้เวลาฝึกเชิดหุ่นกระบอกเพียง "ท่ากล่อม” คือท่าเดินท่าเดียวอยู่นับแรมปี มันยากมากที่จะเชิดให้สวยนุ่มนวลและดูเหมือนคนรำจริง เพราะการกล่อมหุ่นต้องโยกลำตัวหุ่นไปซ้ายขวา มีการกระทุ้งเป็นจังหวะ โดยให้หัวหุ่นอยู่ตำแหน่งเดิม มีเพียงใบหน้าหุ่นเท่านั้นที่จะเชยหน้าไปทางซ้ายขวาตามจังหวะ อย่าให้หัวหุ่นแกว่งไปมา มันจะเหมือนหุ่นขี้เมา เวลาเชิดหุ่นกระบอก คุณยายชื้นมักจะบอกเสมอว่า "ให้ส่งสมาธิไปที่ตัวหุ่น เชิดให้ได้อารมณ์ของตัวละครนั้นๆ” ซึ่งบางครั้งขณะเชิดหุ่นกระบอก ตัวเราก็ล่องลอยโยกย้ายตามจังหวะเพลงไปมากกว่าหุ่นด้วยซ้ำ นึกแล้วก็ขำตัวเองอยู่บ่อย การฝึกเชิดซ้ำๆ ที่ว่ากินเวลากว่าแรมปีนั้นไม่ใช่ว่าท่านไม่มีอะไรจะสอน แต่ยังไม่ถึงเวลา เพราะคุณยายบอกเสมอว่า เราต้องหัดพื้นฐานให้ได้ให้คล่องให้ดีเสียก่อน หากเชิดเป็นแล้ว ท่าอื่นๆ จะง่ายมาก กระบวนท่ารำหุ่นกระบอกนั้นมีมากมายหลายท่าเหมือนกับท่าภาษาท่าทางของนาฏศิลป์ไทยที่ใช้การเคลื่อนไหวสื่อความหมาย อีกทั้งตัวละครแต่ละตัว เช่น ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวตลกหรือแม้กระทั่งตัวที่เป็นสัตว์ ก็ย่อมมีท่าทางบุคลิกต่างกัน ฉะนั้นการรำหุ่นก็คล้ายกับท่ารำของคน แต่การเชิดหุ่นนั้นจะยากกว่า เพราะหุ่นไม่สามารถพูดหรือแสดงสีหน้าได้เหมือนกับคนจริงๆ เวลาเชิดหุ่นเราเองก็ต้องร้องต้องพากย์ไปตามบทที่ท่องจำในสมอง เล่นเป็นตัวพระก็พากย์เป็นตัวพระ เล่นเป็นตัวนาง ตัวตลกก็ต้องพากย์ไปตามนั้น พากย์ให้ได้อารมณ์ ต้องฝึกบ่อยๆ เชิดให้เป็น เชิดได้กับเชิดเป็นไม่เหมือนกัน เชิดให้เป็นเสียก่อนแล้วค่อยเชิดให้คนอื่นดู ถ้าเราเชิดไม่เป็น หุ่นรำออกมาก็จะไม่งามดูน่าเวทนา แล้วพอคนเห็นคนก็จะด่าว่าหุ่นไม่เห็นจะมีอะไร มีเท่านี้เอง แล้วคนก็จะไม่ดูหุ่นอีก
 
     กว่าขวบปีที่ผมฝึกฝนจนได้เสียงของคุณยายแว่วดังมาว่า "เธอเชิดหุ่นสวยนะ” หนึ่งประโยคที่เป็นเหมือนพรที่คุณยายชื้นมอบให้และยังคงดังก้องอยู่ในหัวผมจนถึงทุกวันนี้ แถมคุณยายยังพูดต่อด้วยว่า "เชิดเป็นนางต่อแหลท่าจะสนุก” ตามด้วยเสียงหัวเราะร่วนของท่านและคนรอบข้าง นี่คือแรงผลักให้ผมมีพลังเชิดหุ่นต่อไปเรื่อยๆ องค์ความรู้ประสบการณ์ พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่คุณยายเล่า นับเป็นคลังความรู้มหาศาลที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน จะเล่าซ้ำกี่ครั้งก็ไม่เปลี่ยนเนื้อความไปจากเดิม เรื่องราวของชีวิตบรมครูหุ่นกระบอกไทยที่เดินทางเผยแพร่งานศิลปะหุ่นกระบอกไทยทั้งในสยามประเทศและในระดับนานาชาติ กับความสุขที่ท่านได้สอนได้ถ่ายทอดผ่านสังขารที่ร่วงโรย ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าท่านเหน็ดเหนื่อย แต่เราได้สัมผัสถึงความสุขจากการเป็นผู้ให้ของท่านได้เสมอ
 

 
     "เชิดเป็นแล้ว ก็สอนต่อๆ ไปนะ อย่าหวง อยากให้มีคนเชิดหุ่นกันเยอะๆ หุ่นจะได้ไม่หาย” นับว่าเป็นความโชคดีของผมที่ได้เจอกับคุณยายชื้น บรมครูหุ่นที่ผมได้ฝากตนเป็นศิษย์คนสุดท้ายของท่าน ที่ท่านยังได้
 
     แม้ว่าคุณยายชื้นจะได้จากโลกนี้ไป แต่ลูกศิษย์ของท่านทุกคน รวมถึงตัวผมที่ได้รับความเมตตาจากท่าน ยังคงสืบสานและทำหน้าที่ถ่ายทอดศิลปะหุ่นกระบอกไทยต่อไป ทุกครั้งก่อนจับหุ่นกระบอกขึ้นมาแสดง สองมือที่พนมไหว้เหนือศีรษะเพื่อลำลึกถึงพ่อแก่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ครูอาจารย์ได้สอนสั่งแล้ว ผมจะระลึกถึงคุณยายชื้น สกุลแก้ว บรมครูผู้ประสิทธิประสาทความรู้และชีวิตหุ่นกระบอกไทยให้กับผม ท่านคือครูที่ผมสัมผัสได้จริงและเป็นครูผู้มีพระคุณที่ผมไม่เคยลืมในทุกลมหายใจ และได้ตั้งจิตอธิษฐานทุกครั้งที่เชิดแสดงว่า ครูช่วยส่งพลังและดูผมแสดงจากบนฟ้าด้วยนะ ผมจะเชิดหุ่นกระบอกไทยไปจนชั่วชีวิตของผม กว่าผมจะหมดแรง และผมภูมิใจที่ผมจะบอกกับทุกคนทั่วโลกว่า ผมคือ "คนเชิดหุ่นกระบอกไทยศิษย์ครูชื้น สกุลแก้ว”
 
นิเวศ แววสมณะ
ครูช่างศิลปหัตถกรรม/ ผู้ก่อตั้งบ้านตุ๊กกะตุ่นหุ่นกระบอกไทย

 

ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/3/index.html

ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)