กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
พิพิธภัณฑ์บ้านดง โฮจิมินห์

วันที่ 4 ก.ย. 2562
 
เรื่อง/ภาพ : สมสง่า ยาบ้านแป้ง
 
 
 
พิพิธภัณฑ์บ้านดง โฮจิมินห์
 
    ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับประเทศเวียดนามนั้น ผ่านกาลเวลามาแล้วอย่างยาวนานนับสิบนับร้อยปี กว่าจะผ่านผันมาจนถึงวันนี้ที่เข้ามาร่วมรวมกันเป็น กลุ่มประเทศอาเซียน มีเหตุการณ์สำคัญๆ ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย และในบรรดาเหตุอันน่าสนใจต่างๆ นั้น เหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นผลดีกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ก็คือ เหตุการณ์ที่ท่านรัฐบุรุษ อดีตประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ เวียดนาม
 
     ท่านประธานโฮจิมินห์ ได้เคยมาใช้ชีวิตเคลื่อนไหวสร้างแนวร่วมประชาชาติในหมู่บรรดาผู้อพยพชาวเวียดนามในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและการต่อสู้เพื่อเอกราชอย่างยาวนานถึงเกือบสิบปี ซึ่งทางการไทยในสมัยนั้นก็รับรู้ และยังช่วยปกปิด มิให้ท่านประธานฯ และพลพรรค ต้องตกไปอยู่ในเงื้อมมือ ฝรั่งเศส ประเทศเจ้าอาณานิคมในสมัยนั้น ซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้การสร้างชาติครั้งใหม่ของประเทศเวียดนามประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ท่านประธานโฮจิมินห์ หรือ ลุงโฮ หรือ นาย เหงียน อาย กว๊อก เป็นผู้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างชาติครั้งใหม่ของชาวเวียดนาม ในช่วงการปกครองของรัฐบาลประชาธิปไตยไทย ยุคต้นๆ ท่านได้เดินย้อนรอยบรรพบุรุษ คือ องเชียงสือ หรือ พระเจ้าญาลอง ซึ่งถูกกบฏไตเซินโค่นล้มราชบัลลังก์ เดินทางเข้ามาซ่องสุมกำลังในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างดี และกลับไปรบชนะกองกำลังกบฏสร้างราชอาณาจักรขึ้นใหม่ได้สำเร็จ ท่านโฮจิมินห์ ก็เดินทางตามรอยเข้ามายังประเทศไทย ภายใต้การรับรู้ของรัฐบาลไทยในยุคนั้น ซึ่งช่วยให้ท่านและพลพรรคกู้ชาติเวียดนามสามารถพักพิงอาศัย เดินทางสื่อสารถึงกันได้อย่างปลอดภัยเป็นเวลาหลายปี จนในที่สุดด้วยความช่วยเหลือของชาวเวียดนามในประเทศไทย ท่านโฮจิมินห์ก็สามารถเดินทางกลับไปประเทศ ก่อร่างสร้างพรรคการเมืองและกองทัพใหม่ของประชาชนขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง จนสามารถต่อสู้รบชนะในสงครามยาวนาน และได้จัดตั้งรัฐบาลเวียดนามใหม่ที่ปกครองประเทศเดินหน้ามาตลอดยาวนานจนถึงทุกวันนี้
 
     หลายแห่งหลายที่ในประเทศไทย ที่ท่านโฮจิมินห์ ได้เดินทางไปพบปะกับบรรดาชาวเวียดนามซึ่งอพยพเข้ามาพักอาศัยในประเทศไทยก่อนหน้า เพื่อเผยแพร่แนวคิด และขอรับการสนับสนุนในการร่วมกันสร้างชาติเวียดนามใหม่ครั้งนั้น วันนี้ได้รับการเปิดเผยขึ้น ตั้งแต่ที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม บ้านหนองฮาง จังหวัดอุดรธานี กระทั่งวันนี้ที่ บ้านดง จังหวัดพิจิตร ที่ซึ่งมีโอกาสดีกว่าที่อื่นๆ ด้วยเป็นช่วงแห่งสัมพันธไมตรีอันดีในโอกาสของการรวมเป็นประชาคมอาเซียนหนึ่งเดียว และโอกาสที่รัฐบาลทั้งสองประเทศมีเอกภาพ มีพลังใจและกำลังทรัพย์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากชาวไทย เชื้อสายเวียดนาม เจ้าของที่ดิน จึงสามารถร่วมกันจัดสร้างที่นี่ให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำคัญ เป็น พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ เพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องราวเรื่องเล่าจากเรื่องจริง ครั้งที่ท่านโฮจิมินห์ ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยเป็นเวลายาวนาน ก่อนที่จะกลับไปดำเนินการสร้างชาติในเวียดนาม ซึงเรื่องราวเรื่องเล่า เหล่านั้นล้วนมีเนื้อหาน่าสนใจ ควรค่าแก่การนำมาเล่าสู่กันฟัง
 
 
ท่านประธานโฮจิมินห์
     ท่านประธานโฮจิมินห์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ ที่หมู่บ้านฮหว่างจู่ จังหวัดเหงะอาน ตอนบนของเวียดนาม ในชื่อ เหงวียน ซิญ กุง เมื่อโตขึ้น โฮจิมินห์ได้สัมผัสกับการเมืองเป็นครั้งแรกจากการได้เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสให้กับชาวนาที่ถูกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกดขี่
 
     ต่อมาท่านโฮจิมินห์รู้ตัวว่า ตนเองต้องได้รับการศึกษาให้มากขึ้นและออกไปท่องโลกกว้างเพื่อเปิดโลกทัศน์ ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงได้ย้ายจากเวียดนามไปเป็นพ่อครัวในประเทศฝรั่งเศส ด้วยการสมัครเป็นลูกเรือเดินสมุทรที่ฝรั่งเศส และได้ศึกษาเรียนต่อที่นั่น โฮจิมินห์ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า เหงวียน อ๊าย โกว๊ก ซึ่งแปลว่า "เหงวียน ผู้รักชาติ" โฮจิมินห์ได้ติดต่อกับชาวเวียดนามในฝรั่งเศส เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องอิสรภาพจากชาติมหาอำนาจตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ในฐานะโฆษกของกลุ่ม แต่ทว่าก็ได้รับการรังเกียจและถูกกีดกันออกมาโดยตลอด
 
     ต่อมา โฮจิมินห์ได้ย้ายจากฝรั่งเศสไปสหรัฐอเมริกาและอังกฤษตามลำดับ หลังจากนั้นได้เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเมื่อรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คเริ่มการปราบปรามชาวสังคมนิยม โฮจิมินห์จึงหลบหนีจากจีนมายังประเทศไทย โดยขึ้นจากเรือที่ท่าน้ำเอสบี (โรงแรมแม่น้ำ ปัจจุบัน) แล้วเดินทางตรงไปยังจังหวัดพิจิตร เป็นแห่งแรก อยู่ที่นั่นนาน ๑๐ เดือน จากนั้นจึงบวชเป็นพระภิกษุเดินทางต่อไปยังจังหวัดอุดรธานี นครพนม และสึกทำการเคลื่อนไหวกู้ชาติด้วยลัทธิสังคมนิยมในหมู่ชาวเวียตบ้านนาจอก นครพนม โดยใช้ชื่อว่า "ลุงโฮ”
 
ชาวเวียดนามในแผ่นดินสยาม
     ชาวเวียดนามกลุ่มใหญ่ เข้ามาอยู่อาศัยในสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากสาเหตุการกดดันปราบปรามผู้นับถือศาสนาคริสต์ในเวียดนาม โดยอพยพมาอาศัยอยู่ที่ อยุธยา จันทบุรี มะริด ตะนาวศรี และพิษณุโลก จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีชาวเวียดนามกลุ่มใหม่เติมเข้ามาจากการปราบกบฏ เจ้าอนุวงศ์ ที่มีชาวเวียดนามส่วนหนึ่งเข้าร่วม ชาวเวียดนามกลุ่มใหม่นี้ถูกส่งไปไว้ที่เมืองจันทบุรี เพื่อช่วยเสริมความเข้มแข็งของกองเรือรบสยามที่ จันทบุรี เพราะมีความชำนาญในการต่อเรือและเดินเรือทะเล
 
     ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการอพยพของชาวเวียดนามเข้ามาในสยามอีกกลุ่มใหญ่ ด้วยเหตุผลเรื่องศาสนาเช่นเดิม เมื่อ รัชกาลที่ ๔ ทรงทราบความ จึงโปรดให้ชาวเวียดนามกลุ่มนี้ไปตั้งถิ่นฐานกระจายไปทั่วแดนสยาม ทั้งยังมีพระบรมราชโองการให้ผู้ปกครองหัวเมืองลาว จัดลาดตระเวนเกลี้ยกล่อมให้ชาวเวียดนามที่ลี้ภัยติดตามเข้ามาอีกกลุ่มด้วยสาเหตุเพราะความอดอยากเนื่องจากภัยแล้งให้ไปทำมาหากินในเขตเมืองนครพนม และสกลนคร ชาวเวียดนาม บ้านนาจอก เมืองนครพนม เข้ามาในดินแดนสยามในกลุ่มหลังสุดนี้
 
ชาวเวียดนาม แห่งบ้านดง เมืองพิจิตร
     สมัยรัชกาลที่ ๕ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ในเวียดนาม เกิดกลุ่มกู้ชาติต่อต้านเจ้าอาณานิมคมฝรั่งเศสขึ้น แต่ถูกไล่ล่าปราบปรามหัวซุกหัวซุน ฟาน โบ่ย โจว นักสู้คนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มได้หนีภัยเข้ามาอยู่กับชาวเวียดนามกลุ่มต่างๆ ในสยาม ซึ่งในช่วงนั้นเกิดปัญหาระหองระแหงเรื่องดินแดนอินโดจีนกับฝรั่งเศสบ่อยครั้ง มีความเห็นใจชี้ช่องให้ไปอยู่ที่ บ้านถ้ำ เมืองปากน้ำโพ ซึ่งบุคคลสำคัญในกลุ่มนี้ยังมี ดั่ง ทุก เหื่อง และ ดั่ง กวิ่ง แอ็ง หรือ บ่าญอ เพื่อนร่วมกลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสระดับผู้นำอีกด้วย
 
 
     ต่อมา สมัยรัชกาลที่ ๖ สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นฝ่ายสัมพันธมิตร ฝรั่งเศสจึงใช้โอกาสกดดันสยามอย่างหนักให้ปราบปรามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านชาวเวียดนาม ทำให้กลุ่มต่อต้านที่ปากน้ำโพ จำเป็นต้องโยกย้ายหลบหนีภัยไปก่อน และจุดที่กลุ่มผู้นำต่อต้านฝรั่งเศสกลุ่มนี้หลบหนีไปปักหลักอยู่อาศัยครั้งใหม่นี้ จึงเป็นพื้นที่ที่ปิดลับกว่าคือที่ บ้านดง จังหวัดพิจิตร นั้นเอง
 
     จาก พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นต้นมา หลังจากการเล่นซ่อนหากับสายลับฝรั่งเศสหลายครั้งครา จนต้องย้ายออกจากบ้านดงกันกลางคันไปพักหนึ่ง จึงได้มีการฟื้นฟูบ้านดงขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ กลุ่มผู้นำสามารถรวบรวมชาวเวียดนามเข้ามาอยู่อาศัยได้มากขึ้น บ้านดง จึงเขยิบสถานะขึ้นกลายเป็น ศูนย์ประสานงานกลางในการฝึกอบรมด้านอุดมการณ์แก่เยาวชน และคนรุ่นใหม่ในการต่อต้านฝรั่งเศสอย่างเต็มที่
 
     และตรงนี้นี่เอง ที่ท่านโฮจิมินห์ เมื่อเดินทางเข้าสู่สยามในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ แล้ว จึงต้องเดินทางเข้ามาที่นี่ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะท่านโฮจิมินห์ มีเป้าหมายการเดินทางเข้ามาอย่างเด่นชัด และ ชาวเวียดนามที่บ้านดงก็มีผู้นำส่วนหนึ่งที่มีเป้าหมายในการอาศัยอยู่ที่นั่นที่ชัดเจน เป็นเรื่องเดียวกันนั้นเอง
 
     มีเรื่องเล่าของชาวบ้านดง เล่าถึง ครั้งแรกที่ท่านโฮจิมินห์ ปรากฏตัวขึ้นในชุมชนว่า... ท่านประธานโฮจิมินห์ ได้ขอให้ชาวบ้านมาประชุมกันที่ศาลาหมู่บ้าน และแนะนำตัวเองว่าเป็นครูและหมอยาสมุนไพร ชื่อว่า เฒ่าจิ๋น จากนั้นจึงเริ่มต้นด้วยการเล่านิทานที่แฝงไว้ด้วยคติธรรม และโยงเข้าสู่สถานการณ์บ้านเมืองเวียดนามในช่วงนั้น สุดท้ายจึงพูดถึงการเดินทางมาสยามของท่าน เพื่อต้องการกอบกู้ชาติบ้านเมือง ต่อต้านฝรั่งเศส และต้องการให้ชาวเวียดนามทุกคนทางนี้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้... ท่านโฮจิมินห์ ใช้ชีวิตอย่างปิดลับอยู่ที่นี่นานถึง ๑๐ เดือน ปลูกบ้านพักเล็กๆ พักอาศัย ดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังจังหวัดอุดรธานี และต่อไปลงหลักปักฐานยาวนานที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่เปิดกว้างของชาวเวียดนามในประเทศไทย โดยท่านไปอาศัยบ้านของครอบครัว ปลูกบ้านหลังเล็กๆ ประกอบอาชีพกสิกรรมพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามขึ้นในดินแดนสยาม
 
     เมื่อสามารถสร้างพันธมิตรได้รับความสนับสนุนจากชาวเวียดนามในประเทศไทยในระดับหนึ่งเรียบร้อยแล้ว ท่านโฮจิมินห์ จึงเดินทางกลับเข้าไปในเวียดนามอีกครั้งเพื่อดำเนินการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และเดินหน้าการทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมต่อไปจนได้รับชัยชนะ
 
     ที่พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ ยังมีเอกสารลายมือของท่านประธานโฮจิมินห์ที่เขียนเล่าเรื่องการมาทำงานที่ประเทศสยามไว้ในสารนิพนธ์ของท่านจัดแสดงไว้ ข้อความนั้นเขียนว่า...การจัดตั้งองค์กรในหลายพื้นที่ของสยาม ไม่ว่าจะเป็น พิจิตร อุดรธานี สกลนคร นครพนม เป็นต้น ลุงต่างก็เคยพักอาศัยในสถานที่เหล่านั้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เจ้าหน้าที่ในองค์กรของเรา บ้างทำนา เลื่อยไม้ ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหาปัจจัยมาเลี้ยงดูกันและกัน รวมถึงเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการกู้ชาติด้วย...
 
 
พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์
     พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ ต่างจากอนุสรณ์สถานของท่านโฮจิมินห์ในประเทศไทยแห่งอื่นๆ คือ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง จังหวัดพิจิตร องค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ฮานอย ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยเป็นเงินทุนในการจัดสร้างจากภาครัฐล้วนๆ สร้างขึ้นหลังสุดในบรรดาสถานที่ต่างๆ ที่ท่านประธานโฮจิมินห์ เคยเข้าไปอยู่อาศัย ทั้งนี้เนื่องด้วยเป็นสถานที่ปิดลับ มีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างชาติในยุคใหม่ของเวียดนามมาก แต่คงมีครอบครัวชาวเวียดนามอยู่ไม่มาก เนื่องจากคนเคยอยู่ต่างมีเป้าหมายในชีวิตที่เด่นชัด แต่หากเป็นสถานที่เล็กๆ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างสูง และการจัดสร้างอยู่ในช่วงเวลาในการดำเนินการที่ดี คือ เป็นช่วงที่เกิดการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน มิตรภาพ ไทย–เวียดนาม เป็นไปอย่างราบรื่น และทั้งสองประเทศมีความพร้อมด้านกำลังทรัพย์
 
     พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นอาคาร ๒ ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า ๖,๔๐๐ ตารางเมตร เดิมเป็นสุสานของชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ตั้งอยู่บริเวณใจกลางบ้านดง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญและน้ำใจของประชาชนที่นี่ต่อประธานโฮจิมินห์ ซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยที่บ้านดงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๙ โซน ได้แก่ โซนสายสัมพันธ์ไทย–เวียดนาม โซนบ้านดงในอดีต โซนโฮจิมินห์ ผู้ปลดแอกเวียดนาม โซนภูมิศาสตร์บ้านดง จังหวัดพิจิตร โซนชุมชนบ้านดง โซนภารกิจลับที่บ้านดง โซนการเคลื่อนไหวในสยาม โซนบากบั่นปลดแอก โซนวีรบุรุษ นอกจากนี้ยังมีบ้านจำลองของประธานโฮจิมินห์ ตั้งอยู่ด้านนอกอาคาร จัดแสดงเป็นบ้านยกพื้นสูง ภายในตัวบ้านมีรูปปั้นของประธานโฮจิมินห์ และหิ้งบูชา รวมถึงของใช้ส่วนตัวที่ท่านเคยใช้ เช่น ตู้ไม้ ตะเกียงน้ำมันเก่าๆ เป็นต้น
 
     เพื่อก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ทางการไทยได้สนับสนุนกำลังคนและเงินทุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐ ล้านบาท อีกทั้งยังเอาใจใส่การควบคุมการก่อสร้าง และ การจัดทำข้อมูลเรื่องเล่าสืบทอดต่างๆ ให้ดำเนินไปเป็นอย่างดีที่สุด ภายใต้การควบคุมและความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ ตำบลป่ามะคาบ จังหวัดพิจิตร จึงมีสถานะเป็น สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพไทย–เวียดนาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบชุมชนของตำบลป่ามะคาบ และเป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติของไทย รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมอันแตกต่างร่วมกันของผู้คนในชุมชน และมิตรภาพอันดีของคนไทยที่มีต่อชาวเวียดนามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ผูกพันมายาวนานเกือบร้อยปี
 
พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์
หมู่ ๕ ตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมืองพิจิตร
จังหวัดพิจิตร ๖๖๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๘ ๗๑๙๘ ๘๖๙๙ หรือ ๐ ๕๖๐๓ ๙๘๖๙
เว็บไซต์ : www.bandonghochiminhmuseum.com
วันและเวลาทำการ
วันอังคาร–วันอาทิตย์ เวลา ๐๙:๐๐–๑๗:๐๐
(หยุดวันจันทร์ และวันนักขัตฤกษ์)
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/2/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)