กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
วัวเทียมเกวียน เพชรบุรี

วันที่ 27 มิ.ย. 2562
 
เรื่อง : อุดมเดช เกตุแก้ว
ภาพ : อุดมเดช เกตุแก้ว, อภินันท์ บัวหภักดี
 
 
 
วัวเทียมเกวียน เพชรบุรี
    
 
 
     "วัวเทียมเกวียน” เป็นทั้งเครื่องมือการเกษตร เป็นภูมิปัญญาด้านกีฬาพื้นบ้าน และเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมของคนเมืองเพชรบุรี แม้ปัจจุบันชาวเมืองเพชรบุรีจะไม่ได้ใช้วัวเทียมเกวียนในภาคการเกษตร และการบรรทุกขนส่งแล้ว แต่ยังคงมีการอนุรักษ์วัวและเกวียนเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมทางสังคม เช่นการแข่งขันวัวเทียมเกวียน การนำวัวเทียมเกวียน เข้าขบวนแห่แหนทางศาสนาและการท่องเที่ยว อย่างสม่ำเสมอ
 
     ในอดีต "วัว” และ "เกวียน” เป็นสมบัติสำคัญของชาวนาไทย โดยใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงงานด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นฤดูการทำนาไปจนถึงการเก็บเกี่ยว หน้าที่หลักของ "วัว” ได้แก่ การไถนา คราดนา เทียมเกวียนบรรทุกสิ่งของ การเข็นข้าวเข้าลาน การนวดข้าว สุดท้ายวัวยังเป็นอาหารใช้บริโภค อีกทั้ง หนัง กระดูก และเขาวัว ยังสามารถนำไปทำเครื่องประดับต่างๆ ได้
 
     กระทั่งถึงยุคที่มีการใช้เครื่องจักร รถไถนา รวมถึงมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทดแทนแรงงานคนและสัตว์ จึงทำให้วัวและเกวียนต้องลดความสำคัญลง จากที่เคยทำงานกลับถูกทิ้งร้าง เกวียนแปรสภาพไปเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน เป็นเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ขณะที่ วัว ซึ่งเป็นวัวไทยพันธุ์พื้นเมือง ก็ลดหน้าที่ลงเหลือเพียงใช้ในการแข่งขันกีฬาวัวลาน วัวเทียมไถ วัวสวยงาม และเป็นเนื้อวัวเพื่อการบริโภค
 
     แต่สำหรับ "วัวลาน” ถ้าเป็นวัวฝีเท้าดี ก็จะยังคงมีความสำคัญ มีมูลค่าสูง ซื้อขายกันตัวละหลักหมื่น หลักแสน ไปจนถึงหลักล้านไปเลยก็ยังมี
 
     วัวและเกวียน ค่อยๆ ถูกทิ้งร้างจากสังคมชาวเพชรบุรีเรื่อยมา กระทั่งในช่วงระยะเวลา ๓๐ ปีนี้ กลุ่มผู้เลี้ยงวัวในนาม "ชมรมอนุรักษ์วัวเทียมเกวียน–เทียมไถ จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี” ได้รื้อฟื้นการใช้วัวเทียมเกวียนเพื่อการอนุรักษ์ ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เช่น กิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรม งานพิธีต่างๆ ขบวนแห่บวชนาค แห่ขันหมาก แห่เทียนเข้าพรรษา แห่องค์กฐินผ้าป่า และกิจกรรมด้านการกีฬา นำมาสู่การแข่งขัน "วัวเทียมเกวียนชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” อันเป็นสุดยอด ที่ทาง "ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอบ้านลาด” จ.เพชรบุรี ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ในท้องที่ และชาวอำเภอบ้านลาดร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นการสืบสานอนุรักษ์กีฬาวัวเทียมเกวียนของเมืองเพชรบุรีให้ยังดำรงคงอยู่ถึงปัจจุบัน
 
 
     เกวียน เป็นพาหนะล้อเลื่อนประจำชาติไทยชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเด่นคือ ทำด้วยไม้ทั้งคัน มีล้อไม้ ๒ ล้อ ใช้ควายหรือวัวเทียม ลักษณะนามว่า เล่ม ส่วนคำว่า "เทียม” เป็นคำกิริยาหมายถึงการนำสัตว์อย่างวัว หรือควายมาเทียมคือการเชื่อมต่อเข้ากับยานพาหนะ ทำหน้าที่ฉุดลากล้อให้หมุนไปทำงานต่างๆ เช่น ไถ คราด และบรรทุก เป็นต้น เกวียนแบ่งเป็น ๒ ประเภท ตามแรงงานสัตว์ที่ใช้เทียม ได้แก่ เกวียนวัว และเกวียนควาย เกวียนวัวมีขนาดเล็กและเตี้ยกว่าเกวียนควาย ภาพจำที่คนกรุงเทพฯ หรือใครๆ นึกถึงเสมอมักเป็นเกวียนควายของชาวนาที่อื่นๆ เล่มสูงใหญ่ แต่เกวียนวัวจะมีขนาดเล็กกว่าให้เหมาะสมกับกำลังวัวที่น้อยกว่าควาย
 
     ไม้ที่นิยมใช้ทำเกวียนเป็นไม้เนื้อแข็งคือ ไม้ประดู่ มีคุณสมบัติทนทาน ไสแต่งเนื้อไม้ได้ง่าย มีลวดลายที่สวยงาม พบตามป่าเขาและหัวไร่ปลายนาทั่วไป รองลงมาคือ ไม้แดง ไม้สักขี ช่างทำเกวียนต้องมีความรู้ในการเลือกไม้ว่า ต้นไหน ท่อนใดเหมาะที่จะใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบเกวียนชิ้นใด เนื่องจากส่วนประกอบของเกวียนแต่ละชิ้นมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป สั้นยาวไม่เท่ากัน คด โค้ง แอ่น งอ ไม่เท่ากัน ดังคำกล่าวที่ว่า "หงิกๆ งอๆ ทำหางยาม กิ่งๆ ง่ามๆ ทำหัวหมู” ปัจจุบันช่างทำเกวียนในจังหวัดเพชรบุรีเหลืออยู่ ประมาณ ๑๐ คน ในจำนวนนี้มีช่างทำล้อเกวียนได้ ๓ คนเท่านั้น เนื่องจากการทำล้อเกวียนนั้นทำยากกว่าชิ้นส่วนอื่นๆ
 
     ลักษณะเด่นของเกวียนเพชรบุรี คือ มีความงดงามในด้านงานช่างฝีมือ "งอนเกวียน” จะเลือกไม้ที่มีความอ่อนโค้งเป็นวงสวยงาม เรียกว่า "งอนยอดผักบุ้ง” หรือ "งอนกะโหลก” อีกชิ้นส่วนหนึ่งที่มีความแตกต่างจากเกวียนที่อื่น ได้แก่ "ไม้เท้าแขน” เกวียนหนึ่งเล่มจะใช้ไม้เท้าแขนจำนวน ๔ ชิ้น ส่วนหัวของไม้เท้าแขนจะแกะสลักเป็นหัวงอน เรียกว่า หัวนกเอี้ยง เป็นเอกลักษณ์ของเกวียนเพชรบุรี
 
     วัวเทียมเกวียนกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์
     การละเล่นวัวเทียมเกวียน เป็นการแข่งขันประลองความเร็ว ว่าวัวคู่ใดจะมีฝีเท้าที่เร็วกว่าคู่อื่นๆ โดยนำวัวงานที่มีขนาดเท่ากันจำนวน ๒ ตัว มาเทียมเกวียนในลักษณะเดียวกันกับการใช้วัวลากเกวียนบรรทุกของ แต่เกวียนเป็นเกวียนเปล่า และมีขนาดเล็กกว่าเกวียนที่ใช้บรรทุกของทั่วไป ในการแข่งขันจะแข่งกันเป็นคู่ โดยเกวียนที่เทียมวัวคู่ทั้งสองเล่ม จะมาอยู่ที่จุดเริ่มวิ่งเรียกว่า "ตั้งผัง” จากนั้นคอยฟังสัญญาณโกรก (เครื่องให้เสียงสัญญาณหรืออาจเรียกว่า เกราะ) แล้วจึงเริ่มวิ่งออกตัว
 
     วัวก็จะวิ่งไปตามลู่วิ่งโดยมีคนแทงปฏักอยู่ด้านบนเป็นคนคอยควบคุมทิศทางการวิ่งและความเร็ว วัว ฝ่ายใดถึงเส้นชัยก่อนเป็น ผู้ชนะ โดยจะต้องชนะกันแบบขาดลำถ้าเกวียนสะกัน เรียกว่า "เฉียบ” คือ เกวียนฝ่ายหนึ่งลากเกวียนอีกฝ่ายหนึ่งเข้าเส้นชัย จะถือว่าผิดกติกาทั้งสองฝ่าย ต้องทำการแข่งรอบใหม่
 
 
     ในอดีตจังหวัดเพชรบุรีมีสนามแข่งวัวเทียมเกวียน กระจายอยู่ทั่วไป เช่น วัดต้นสนาม (วัดร้าง) หัวสนาม ท้ายสนาม เป็นต้น สนามวัวเทียมเกวียน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ สนามที่มีอยู่โดยทั่วไป เช่น สนามบ้านดอนจุฬา, สนามไร่ดอน ตำบลไร่ส้ม สนามบ้านใหม่, สนามโพธิ์เรียง ตำบลโรงเข้ เป็นต้น ประเภทที่ ๒ คือ สนามกลาง สำหรับจัดการแข่งขันเฉพาะกิจ เช่น สนามหน้าเขาวัง สนามในวังบ้านปืน สนามวัดถ้ำแก้ว เพื่อการสมโภชในวาระเฉลิมฉลองต่างๆ นอกจากนี้อาจจะพิจารณาปรับปรุงสนามแต่ละหมู่บ้านขึ้นเป็นสนามแข่งขัน เนื่องในโอกาสงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นกิจกรรมของตำบลนั้นๆ กระทั่งในยุคฟื้นฟูการแข่งขันวัวเทียมเกวียนที่ทางชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอบ้านลาดจัดขึ้น ได้ใช้ทุ่งนาหลังฤดูการเก็บเกี่ยวเป็นสนามการแข่งขันวัวเทียมเกวียนลักษณะชั่วคราว อาทิ สนามแข่งขันตำบลท่าเสน ตำบลถ้ำรงค์ และสนามทุ่งทอง ตำบลท่าช้าง อำเภอบ้านลาด ในปัจจุบัน เป็นต้น
 
     ตามประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ในปีจอ จุลศักราช ๑๒๔๘ (พ.ศ. ๒๔๒๙) พระยาเพชรบุรี ได้จัดแข่งวัวเทียมเกวียนถวายทอดพระเนตร ณ ที่ประทับศาลานักขัตฤกษ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพระนครคีรี (เขาวัง) ด้านทิศตะวันออก ความว่า
 
     "...เวลาบ่าย ๕ โมง เสด็จพระราชดำเนินลงเชิงเขา ทรงม้าพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินประพาสตลาด มีกระบวนรถเหมือนวันก่อน ครั้นเวลาย่ำค่ำเสด็จพระราชดำเนินกลับ ประทับพลับพลาไหล่เขาชั้นล่างด้านตะวันออก พระยาเพชรบุรีกรมการจัดรันแทะโคราษฎรซึ่งจะขับแข่งกันถวายตัวทอดพระเนตร รันแทะนั้นเตรียมไว้มาก เลือกคัดเทียบกันในท้องสนามแล้วปล่อยให้ขับแข่งกันเป็นคู่ๆ ๓ คู่ พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรอยู่จนค่ำ รันแทะหนึ่งล้มทับคนเจ้าของป่วยมากพระราชทานเงิน ๕ ตำลึง รางวัลคนเป็นเจ้าของที่ชนะคนละ ๓ ตำลึง แพ้คนละ ๖ บาท เวลาย่ำค่ำครึ่งเสด็จขึ้น”
 
     "วัวเทียมเกวียน” ในกฎหมายตราสามดวง และจดหมายเหตุราชกิจรายวัน รัชกาลที่ ๕ เรียกว่า "วัวรันแทะ”
     นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าวัวเทียมเกวียนของจังหวัดเพชรบุรี ได้เคยเข้าไปจัดแสดงที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ในช่วงปีใหม่ไทยเทศกาลตรุษสงกรานต์ ปี พ.ศ. ๒๔๗๙–๒๔๘๐ ทางกระทรวงมหาดไทยได้ขอร้องมายังจังหวัดเพชรบุรี ให้ส่งการแสดงกีฬาพื้นบ้านของเพชรบุรี ซึ่งไม่มีในที่อื่น ได้แก่ วัวเกวียน และวัวระดอก (วัวลาน) ไปแสดงให้ประชาชนชมที่ท้องสนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) ทางจังหวัดได้มอบหมายให้ นายเทพ โซ๊ะเหม เป็นหัวหน้านำวัวจากตำบลต่างๆ รวมกันประมาณ ๖๕ ตัว ไปแสดงในสนามจังหวัดและจัดสรรค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด โดยเหมาตู้รถไฟบรรทุกวัวไปหลายตู้ พักอยู่ที่ทุ่งพญาไท
 
     ช่างเมืองเพชรบุรีได้ฝากฝีมือไว้บนภาพเขียนสีฝุ่น วัวเทียมเกวียนที่สวยงามไว้หลายแห่ง อาทิ จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง) ภาพคอสอง ศาลาการเปรียญวัดเกาะ ภาพคอสอง ศาลาการเปรียญวัดจันทราวาส อำเภอเมืองเพชรบุรี ภาพคอสอง วัดปากคลอง อำเภอบ้านแหลม เป็นต้น
 
     วัวเทียมเกวียนชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
     และสุดยอดของ วัวเทียมเกวียน ในวันนี้คือ การแข่งขันวัวเทียมเกวียน ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นงานประจำปีของอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี นำโดยนายอำเภอบ้านลาด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล อบต. กำนัน และผู้ใหญ่บ้านในเขตพื้นที่อำเภอบ้านลาด ซึ่งจะจัดให้มีการแข่งขันวัวเทียมเกวียนในช่วงงาน พระนครคีรี–เมืองเพชร ราวเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคมของทุกปี
 
     จุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นการแข่งขันกีฬาวัวเทียมเกวียน เริ่มจาก "ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอบ้านลาด” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนชาวอำเภอบ้านลาดได้ร่วมกันจัดงานวัวเทียมเกวียนเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ณ ทุ่งนาสนามแข่งขันชั่วคราว ริมถนนเพชรเกษม (ฝั่งขาล่องใต้) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๗๓ ต.ท่าเสน อ.บ้านลาด ในช่วง "งานพระนครคีรีเมืองเพชร” ครั้งที่ ๑๗ ได้รับความนิยมจึงมีการจัดต่อเนื่องทุกปี แต่ในครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สมัย น.ส. สุนีย์รัตน์ ภู่ขำ นายอำเภอบ้านลาด คณะกรรมการจัดงานมีความเห็นให้ย้ายสถานที่จัดงานมาจัดเป็นการเฉพาะที่ "ทุ่งทอง” ต.ท่าช้าง ร่วมกับงาน "บ้านลาด ๑๐๑ ปี” เป็นงานประจำปีใหม่ของอำเภอบ้านลาด เป็นการนำภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวอำเภอบ้านลาดมาจัดแสดงร่วมกันเป็นครั้งแรก
 
     จึงเป็นอันวางใจได้ระดับหนึ่งว่า วัวเทียมเกวียน ภูมิปัญญาอันว่าด้วยเรื่องการเกษตร กีฬาพื้นบ้าน และช่างฝีมือ ของชาวจังหวัดเพชรบุรี ในวันนี้นั้นน่าจะได้รับการสืบทอดต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่มีวันหยุดยั้ง ตราบเท่าที่ยังเป็นของดีของชาวอำเภอบ้านลาด และจังหวัดเพชรบุรี ต่อไปเช่นดังทุกวันนี้ และพร้อมกันในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ขึ้นบัญชีให้ "วัวเทียมเกวียน” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สนับสนุนให้เป็นเกียรติเป็นศรีต่อไปในอีกด้านหนึ่งด้วย
 
 
     เครื่องประดับวัว
     นอกจากการแข่งขันกีฬา วัวเทียมเกวียนประเภทความเร็ว ที่เรียกกันว่า "วัวเกวียนเร็ว” แล้ว ยังมีการจัดแสดงโชว์และประกวด วัวเทียมเกวียนประเภทสวยงาม หรือที่เรียกว่า "วัวเกวียนงาม” โดยวัวที่นำมาเทียมเกวียนจะมีความนิ่งและการประดับตกแต่งวัวและเกวียนอย่างสวยงาม โดยมีชิ้นส่วนเครื่องประดับที่สำคัญได้แก่
 
     ๑. เขารอง ทำด้วยไหมพรมหลากสีถักเป็นลวดลายต่างๆ ใช้สำหรับสวมเขาวัวทั้ง ๒ ข้าง ทางปลายแหลมนิยมทำเป็นพู่ไหมพรม
 
     ๒. ผ้าสีต่างๆ แล้วแต่จะหามาตกแต่ง ส่วนใหญ่นิยมผูกผ้านั้นเป็นช่อเล็กๆ ใช้ผูกบริเวณโคนเขาบ้าง คล้องคอ และผูกที่ข้อเท้าของวัว เป็นต้น
 
     ๓. อ้อม หรืออ้อมเพชร หรือกะอ้อมเพชร ใช้สำหรับคล้องคอวัว ทำด้วยผ้าตัดให้มีความกว้างประมาณ ๒ นิ้ว มีความยาวรอบคอวัวเย็บซ้อนกันหลายๆ ชั้นจนแข็ง นำเพชรมาประดับตกแต่งลงบนผ้าที่เย็บนั้น ปลายในตำแหน่งที่ผ้ามาบรรจบกันนิยมทำเป็นพู่กลมด้วยด้ายหลากสี ขนาดเท่าๆ กันหลายลูก จัดเป็นช่อห้อย
ให้สวยงาม
 
     ๔. คาดเพชร ใช้สำหรับคาดบริเวณหน้าผากวัว ทำด้วยผ้าตัดเย็บในลักษณะเดียวกับอ้อมเพชร แต่บางกว่า มีลักษณะเรียวตรงกลางเพื่อให้ปิดทับในตำแหน่งของขวัญเดิม
 
     ๕. เชือกตะพาย เชือกตะพายนี้จะถักด้วยไหมพรมหลากสีตลอดเส้นใช้สำหรับร้อยจมูกวัว เพื่อให้จับ หรือจูง ได้สะดวก
 
     ๖. เครื่องประดับอื่นๆ เช่น ลูกกระพวน กระดิ่ง ทำจากทองเหลือง เกราะทำจากไม้ ใช้สำหรับห้อยคอวัวทำให้เกิดเสียงดัง
 
     ปัจจุบันงานเครื่องประดับตกแต่งวัวเป็นงานฝีมือพื้นบ้านโบราณที่หาคนทำได้ยากขึ้น ต้องอาศัยความอุตสาหะ อดทน และทำด้วยใจรัก อีกทั้งเป็นคติความเชื่อของเจ้าของวัวที่แสดงถึงความรัก ความเอาใจใส่ต่อวัวที่ตนเองเลี้ยงดู เปรียบเสมือนเพื่อนคู่ชีวิต รวมถึงการสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของวัวเมืองเพชรบุรีที่มีการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วย
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/2/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)