search
ข่าวสาร
>>
ข่าวประชาสัมพันธ์
สวธ.จัดอบรมเชิงปฏิบัติการลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่นที่ ๕ แก่ผู้ที่สนใจในการสร้างสรรค์วรรณกรรม วิทยากรโดยศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
วันที่ 13 มิ.ย. 2562
วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มอบหมายให้นายอนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่นที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ แก่บุคลากรด้านการศึกษา นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และผู้ที่สนใจในการใช้ภาษาไทยในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ รวม ๗๐ คน ณ หออัครศิลปิน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายสถาพร ศรีสัจจัง นายเจริญ มาลาโรจน์ นางชมัยภร บางคมบาง นายไพวรินทร์ ขาวงาม นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ และนายพิบูลศักดิ์ ลครพล ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ร่วมงาน
นายอนุกูล ใบไกล
กล่าวว่า โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ลายลักษณ์วรรณศิลป์ ถือว่าเป็นโครงการสำคัญโครงการหนึ่ง ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะในการใช้ภาษาไทยมาสร้างสรรค์เป็นงานวรรณกรรมประเภทต่างๆ ผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ จากศิลปินแห่งชาติ ผู้ที่เป็นปราชญ์ในด้านวรรณศิลป์ และการที่ผู้เข้าอบรมจะได้ลงมือฝึกปฏิบัติสร้างสรรค์ผลงานเขียน ๔ ประเภท ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี และกวีนิพนธ์ โดยมีวิทยากรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ซึ่งทำให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถสะท้อนมุมมองต่างๆ ของชีวิต สังคม วัฒนธรรม ผ่านผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
การจัดอบรมในครั้งนี้ กำหนดให้มีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยในภาคทฤษฎีได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในสาขาวรรณศิลป์ และสาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์เทคนิควิธีการต่างๆ อาทิ ในรูปแบบการบรรยาย เช่น หัวข้อ
"บนเส้นทางกวีนิพนธ์”
รับฟังเรื่องราว ลักษณะ องค์ประกอบ ประเภทของกวีนิพนธ์ ความมีศิลปะ ฉันทลักษณ์ ลักษณะการใช้โวหาร การใช้คำ การเล่นเสียง การสร้างภาพจินตนาการ วิทยากรโดย สถาพร ศรีสัจจัง ไพวรินทร์ ขาวงาม ศักดิ์สิริ มีสมสืบ การบรรยาย
"การเขียนสารคดี”
โดย ธีรภาพ โลหิตกุล มาบอกเล่าเรื่องราวความแตกต่างของสารคดีกับวรรณกรรมอื่น การเริ่มต้นเขียน การเลือกหัวข้อ การหาข้อมูล กลวิธีการเขียนและการนำเสนอ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่บุคคลอื่น ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ในด้านต่างๆอย่างเหมาะสม และเป็นการพัฒนาตนเองให้สามารถเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพในอนาคต ส่วนภาคปฏิบัติผู้เข้ารับการอบรมจะได้สร้างสรรค์ผลงานเขียนตามความถนัดและความชื่นชอบ ทั้งการเขียนกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี โดยมีศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เมื่อจบหลักสูตรการอบรม ศิลปินแห่งชาติจะคัดเลือกผลงานวรรณกรรมที่โดดเด่นในแต่ละประเภท เพื่อนำไปเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์
|
นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
|
นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์
|
การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)